สติปัฏฐาน ๔ ตอนที่ ๒

สติปัฏฐาน ๔ ตอนที่ ๒

บรรยายวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๔
ขอนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย
สวัสดีครับท่านผู้สนใจในธรรมะทุกท่าน
วันนี้บรรยายหัวข้อชื่อว่า โพธิปักขิยธรรม ตอนที่ ๒ อธิบายต่อจากคราวที่แล้วนะครับ โพธิปักขิยธรรมนี้เป็นธรรมะที่สำคัญมากในทางพระพุทธศาสนา ถ้าถามว่า คำสอนภาคปฎิบัติในพระพุทธศาสนาที่ต่างจากศาสนาอื่นๆ คือเรื่องอะไร ต้องบอกว่า เรื่องโพธิปักขิยธรรม เรื่องธรรมะที่เป็นฝ่ายของการตรัสรู้ เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ สำหรับคำสอนขั้นศีลธรรม จริยธรรม คุณงามความดี การทำจิตให้สงบ ทำจิตให้นิ่ง ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม มีเมตตา กรุณา ช่วยเหลือผู้อื่น อะไรอย่างนี้ มีทุกศาสนานั่นแหละ พระพุทธศาสนาก็มีกับเขาด้วยเหมือนกัน และมีละเอียดลึกซึ้งกว่ามาก
ทีนี้ ถ้าพูดถึงตัวข้อปฏิบัติ หรือการดำเนินชีวิตที่พิเศษ มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น คืออะไร เราเป็นชาวพุทธควรจะรู้ไว้ คือ เรื่องโพธิปักขิยธรรม เรื่องธรรมะที่เป็นฝ่ายของการตรัสรู้ เรื่องของการฝึกปฏิบัติเพื่อให้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้เองเหมือนกัน ในคราวที่จะปรินิพพานนั้น มีปริพาชกผู้หนึ่งชื่อว่าสุภัททะมาถามปัญหา ท่านสุภัททะนี้ชอบศึกษา เป็นนักศึกษา เรียนมาหลายสำนักสำนักของอาจารย์นั้นอาจารย์นี้ อย่างพวกเรานี้ บางคนก็เรียนหลายอาจารย์ เรียนหลายสำนัก เข้าวัดนั้นออกวัดนี้ อาจารย์นั้นอาจารย์นี้ สุภัททะก็เป็นคนเช่นนี้เหมือนกัน คือชอบศึกษาลัทธิความเห็นต่างๆ ไปสำนักนี้เขาก็ว่าเขาบรรลุแล้ว เขารู้ธรรมะแล้ว ไปสำนักนั้นก็ว่าเขาบรรลุแล้ว รู้ธรรมะแล้ว ไปสำนักโน้นก็ว่าอย่างนี้เหมือนกัน ก็งงอยู่ เลยหาโอกาสมาเรียนสำนักพระพุทธเจ้าบ้าง
ตอนที่พระพุทธเจ้าใกล้ปรินิพพาน ขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระอานนท์ก็บอกว่าพระพุทธเจ้านั้นไม่สบาย ประชวรหนักแล้ว อย่าไปรบกวนเลย ขอสามครั้ง พระอานนท์ก็ไม่อนุญาต พระพุทธเจ้าทราบเรื่องก็ทรงอนุญาตให้เข้ามาได้ เขาไม่ได้มากวนหรอก มาถามปัญหา สุภัททะเลยถามพระพุทธเจ้าว่า ทุกศาสดาในโลกนี้ก็บอกว่า เป็นผู้รู้ทั้งนั้นแหละ ทีนี้ ขอถามท่านสมณะโคดมหน่อยว่า คนไหนเป็นผู้รู้จริง คนไหนเป็นผู้รู้ปลอม แล้วจะรู้ได้ยังไง ใครๆ ก็ปฏิญญาณตนว่าเป็นผู้รู้ทั้งนั้น คำสอนของเขาก็ถูกทั้งนั้น ว่าอย่างนี้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า คำสอนของคนอื่นนั้นจงยกไว้ อย่าเพิ่งไปสนใจ จงฟังคำสอนของเรา พระพุทธเจ้าทรงบอกลักษณะที่แตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับข้อปปฎิบัติในลัทธิอื่นๆ ว่า ในธรรมะวินัยใดที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมวินัยนั้นไม่มีพระอริยเจ้า ไม่มีสมณะที่หนึ่งคือพระโสดาบัน ไม่มีสมณะที่สองพระสกทาคามี ไม่มีสมณะที่สามคือพระอนาคามี ไม่มีสมณะที่สี่คือพระอรหันต์ ส่วนธรรมวินัยใดที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมวินัยนั้นจะมีสมณะที่หนึ่งคือพระโสดาบัน สมณะที่สองคือพระสกทาคามี สมณะที่สามคือพระอนาคามี และสมณะที่สี่คือพระอรหันต์ พระองค์ตรัสบอกว่า ตั้งแต่ที่พระองค์ออกบวชและแสวงหามา ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งบัดนี้ ตั้งแต่บวชจนถึงปรินิพพานนี่แหละ พระองค์ก็ไม่เห็นลัทธิคำสอนใดมีเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ เลย มีเฉพาะในธรรมวินัยนี้เท่านั้นที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เรื่องนี้ มีข้อความอยู่ในทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อ ๒๑๔ ว่า
สุภัททะ ในธรรมวินัยที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๑ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๒ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๓ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยที่มี อริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมมีสมณะที่ ๑ ย่อมมีสมณะที่ ๒ ย่อมมีสมณะที่ ๓ ย่อมมี สมณะที่ ๔ สุภัททะ ในธรรมวินัยนี้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย
สุภัททะ เราบวชขณะอายุ ๒๙ ปี
แสวงหาว่าอะไร คือกุศล
เราบวชมาได้ ๕๐ ปีกว่า
ยังไม่มีแม้สมณะที่ ๑ ภายนอกธรรมวินัยนี้
ผู้อาจแสดงธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
ไม่มีสมณะที่ ๒ ไม่มีสมณะที่ ๓ ไม่มีสมณะที่ ๔ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลาย ผู้รู้ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย

เราทั้งหลายก็จะได้ทราบว่า ธรรมะชุดโพธิปักขิยธรรม เป็นธรรมะที่มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เป็นวิธีการดำเนินชีวิตที่มีเฉพาะในศาสนานี้ศาสนาเดียว ต้องรอพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้จึงจะมีขึ้นมาได้ ส่วนเรื่องบุญกุศล เรื่องศีล เรื่องทาน เรื่องการช่วยเหลือคนอื่น การทำจิตให้สงบ ทั่วๆ ไปนั้น ก็มีทุกศาสนานั้นแหละ รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย เราได้ฟังเรื่องนี้แล้ว จะได้รู้ความต่างของศาสนาพุทธกับศาสนาอื่นๆ เพราะบางทีเราก็จะได้ยินคนพูดว่า ศาสนาไหนๆ ก็สอนให้เป็นคนดีทั้งนั้น อย่างนี้แสดงว่าพูดเปรียบเทียบในแง่ศีลธรรม ทำจิตให้สงบ ทำให้เป็นคนดี แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้มีเท่านั้น มีเรื่องที่สำคัญกว่านั้น คือ เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ สอนให้คนเป็นพระอริยเจ้า ไม่ได้สอนให้คนเป็นคนดี สอนให้คนเป็นพระอริยเจ้า
อริยะ แปลว่า ผู้ที่ห่างไกลจะกิเลส คนห่างไกลจากกิเลสกับคนดีนี้ไม่เหมือนกัน คนดีนั้นอาจจะมีกิเลสก็ได้ กิเลสแบบคนดี ต้องทุกข์แบบคนดี อยากช่วยเหลือคนอื่นก็ต้องทุกข์เพราะอยากช่วยเหลือคนอื่น อยากเป็นเทวดาก็ทุกข์แบบเทวดา ต้องไปทำบุญเพื่อให้ได้เป็นเทวดา อยากจิตจะสงบก็เป็นทุกข์เพราะอยากสงบนั่นแหละ ต้องไปหาวิธีฝึกทำให้จิตมันสงบ เป็นเทวดาก็ทุกข์อย่างเทวดา เป็นพระพรหมก็ทุกข์อย่างพระพรหม เป็นคนดีก็ทุกข์อย่างคนดี เป็นคนชั่วก็ทุกข์อย่างคนชั่วนั่นแหละ เป็นไปตามกรรมของตน ทุกข์มากทุกข์น้อยแล้วแต่ ส่วนในทางพระพุทธศาสนาสอนให้เห็นความจริงในสิ่งทั้งปวง แล้วก็เลิกยึดถือมั่นเสียทั้งดีและไม่ดี
ถ้าพูดให้ประหลาดๆ หน่อยก็ว่า โดยทั่วไปเขาสอนให้เป็นคนดี พระพุทธศาสนานี้สอนให้เลิกเป็นคน สัตว์โลกนั้นเป็นไปตามกรรม พระพุทธศาสนานี้สอนให้เลิกเป็นสัตว์โลกเสีย เพราะการเป็นสัตว์โลกมันวนเวียน วุ่นวาย และมีปัญหาเยอะ อันนี้พูดให้มันประหลาดสักหน่อยหนึ่ง แท้ที่จริงก็เป็นอย่างนั้น คนเราทั่วไปเกิดมาแล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ตาย วนๆ เวียนๆ ไปอย่างนั้น พระพุทธศาสนามีคำสอนชนิดที่เปิดประตูอมตะ คือไม่ตาย ไม่ตายคือไม่เกิด ไม่เกิดก็ไม่ตาย อย่างนี้มันคนละชั้นกันอยู่ ตัวคำสอนชนิดที่เป็นประตูพระนิพพาน ประตูสำหรับความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มีแต่ในพระพุทธศาสนา คือเรื่องโพธิปักขิยธรรม ส่วนคำสอนเรื่องอื่นๆ มีทุกศาสนา เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องบุญ เรื่องกุศล เรื่องศีล เรื่องทาน เรื่องสมถะทั่วไปนั้น มีทุกศาสนา
เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็ต้องตั้งใจฟังเรื่องนี้ให้ดีๆ มันจะไม่เหมือนบุญ ไม่เหมือนกุศลทั่วไป ไม่เหมือนคุณงามความดีที่เราเคยรู้มา เป็นคนละเรื่องกัน เป็นการกระทำคนละแบบกัน จะสมมติว่ามันดี สมมติว่ามันถูก หรือยังไงก็ได้ แต่ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ถูก อย่างที่เคยรู้มา เป็นอีกขั้นหนึ่ง เป็นฝ่ายของการตรัสรู้ เป็นฝ่ายของการมีปัญญา เข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็นจริง
ถ้าได้ศึกษาธรรมะหมวดโพธิปักขิยธรรม และได้ดำเนินไปตามทางนี้ ก็จะเป็นข้างพุทธะ ข้างที่จะตรัสรู้ เป็นข้าง เป็นฝ่าย จึงเรียกว่า โพธิปักขิยะ โพธิ แปลว่า การตรัสรู้ การมีปัญญา มีวิชชามองเห็นความจริง เห็นแจ้งอริยสัจ ปักขิยะ แปลว่า ฝ่าย หรือ ข้าง ธรรมะข้างตรัสรู้ ธรรมะฝ่ายตรัสรู้ ถ้าธรรมะฝ่ายนี้เกิดขึ้น ฝึกฝนโดยวิธีที่ถูกต้อง ทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง แล้วมีธรรมะฝ่ายนี้เกิดขึ้น ก็จะต้องตรัสรู้อย่างแน่นอน
ตัวธรรมะชุดนี้ ก็เป็นธรรมะฝ่ายสังขาร เกิดเพราะเหตุปัจจัย เอาเหตุบังคับผลให้เป็นไปตามที่ปรารถนาได้ เราทั้งหลายก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ถ้ารู้วิธีโดยถูกต้อง และขยันฝึกฝน เธรรมะฝ่ายสังขาร หมายความว่า ไม่มีตัวตน ห้ามไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครมีอำนาจสิทธิ์ขาด เกิดเพระเหตุปัจจัย ถ้าทำเหตุปัจจัยถูกต้อง มันก็จะเกิดขึ้น พอเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเป็นไปฝ่ายตรัสรู้ จิตก็จะเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์ จนกระทั่งถึงพระนิพพาน คือความดับสนิทของทุกข์ไปในที่สุด
ในคราวที่แล้ว ผมก็พูดให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นหรือตัวตั้งต้น ก่อนที่จะขึ้นสู่โพธิปักขิยธรรมนั้นก็มีอยู่ คือต้องชำระจิตให้ดีก่อน การชำระจิตให้ดีก็มีธรรมะหลักอยู่ ๒ ประการ คือศีลที่บริสุทธิ์ดี กับ ความเห็นที่ตรง มีพระสูตรจะอ่านให้ฟัง ซึ่งกล่าวถึงธรรมะสองอย่างนี้ เมื่อมีสองอย่างอันนี้แล้ว อาศัยเป็นพื้นฐานก็สามารถทำให้เกิดโพธิปักขิยธรรมต่อไปได้ กุศลธรรมทั้งหลายก็จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
ในสังยุตนิกาย มหาวารวรรค พาหิยสูตรข้อ ๓๘๑ มีเนื้อความว่า
เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระพาหิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงหลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่เถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พาหิยะ เพราะเหตุนั้น เธอจงทำเบื้องต้นในกุศลธรรมทั้งหลายให้หมดจดก่อน
อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดีและความเห็นที่ตรง
พาหิยะ เมื่อใด ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็นจักตรง เมื่อนั้น เธออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ ในธรรมวินัยนี้ เธอ
๑. จงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย …
๓. จงพิจารณาเห็นจิตในจิต …
๔. จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
พาหิยะ เมื่อใด เธออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้วจักเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดคืนหรือ วันที่จักมาถึง ไม่มีความเสื่อมเลย
ลำดับนั้น ท่านพระพาหิยะชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้วจากไป ต่อมา ท่านพระพาหิยะก็หลีก ออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
อนึ่ง ท่านพระพาหิยะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
พาหิยสูตรที่ ๕ จบ
พระสูตรนี้พูดถึงตัวพื้นฐานก่อน พื้นฐานคือศีลที่บริสุทธิ์ดี กับ ความเห็นที่ตรง เมื่อใดที่ศีลบริสุทธิ์ดี สามารถงดเว้นทุจริตต่างๆ ได้ เป็นผู้ที่มีความอดทนงดเว้นได้ เจตนาไม่ดี ทางกาย ทางวาจาใจ รู้จักยับยั้ง รู้จักระงับได้ ระงับได้ ถึงแม้จะมีผิดบ้างในบางครั้งที่หลงลืม ประมาทเลินเล่อไป รู้จักละอายและสำรวมต่อไป อันนี้ก็เป็นพื้นฐานข้อที่ ๑
ข้อที่ ๒ คือความเห็นที่ตรง ความเห็นที่ถูกต้อง ความเชื่อมั่นเรื่องกรรมและผลของกรรม ความเห็นในแง่ที่หวังผลจากการกระทำ ไม่อาศัยอำนาจศักดิ์สิทธิ์ หรือไม่คิดว่ามีอะไรที่เป็นของขลัง มีมือที่มองไม่เห็นอยู่เบื้องหลัง ไม่คิดเรื่องพวกนั้น เป็นผู้เชื่อมั่นอย่างนี้ มีความเห็นที่ตรง ก็เป็นจุดตั้งต้นที่ดีแล้ว ให้อาศัยสิ่งเหล่านี้ แล้วก็เจริญสติปัฏฐาน ๔ ถ้าทำอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่า
เมื่อใด เธออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้วจักเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดคืนหรือ วันที่จักมาถึง ไม่มีความเสื่อมเลย
ถ้ามีพื้นฐานที่ดีแล้ว ก็ฝึกให้ยิ่งขึ้น ไปสู่ธรรมะฝ่ายโพธิปักขิยธรรม กุศลธรรมทั้งหลายจะเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ไม่มีเสื่อม เราทั้งหลายคงอยากจะมีกุศลเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แต่เราทำไม่ถูกวิธี ไปทำบุญ หรือทำกุศลอย่างใดอย่างหนึี่ง ทำแล้วก็หยุดอยู่เท่านั้น ไม่ขึ้นสู่ชุดโพธิปักขิยธรรม พอไม่ขึ้นสู่โพธิปักขิยธรรม กุศลทั้งหลายก็เป็นธรรมะผ่ายสังขาร มันก็ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง ไม่คงทน และไม่ใช่ตัวตน ในเมื่อมันไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงนี้เป็นโอกาสให้กุศลเจริญได้ แต่เรานั้นไม่เที่ยงฝ่ายเสื่อม เกิดขึ้นแป๊บเดียวก็เสื่อมตลอด
ถ้ามีธรรมะชุดโพธิปักขิยธรรมมาหนุนเอาไว้ อาศัยศีล อาศัยความเห็นที่ตรงแล้วก็เจริญสติปัฏฐาน ๔ มีสติ รู้อยู่ที่กายและใจของตนเองอยู่เสมอ มีสติคุ้มครองรักษาจิต ระวังตัวเองอยู่เสมอ รู้ตัวเองอยู่เสมอ เห็นว่าคิดอะไร นึกว่าอะไร จะทำอะไร ทำด้วยความรู้สึกอะไร เห็นอย่างนี้อยู่เสมอ ธรรมะนี้ก็จะรักษาจิต กุศลก็เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปไม่มีเสื่อม คำว่า ไม่มีเสื่อม หมายความว่า กุศลที่เกิดขึ้นแล้วมันก็เกิดบ่อยยิ่งขึ้น งอกงามยิ่งขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ เพราะว่ามีพื้นฐานที่ดีแล้ว
เรื่องการละเว้นทุจริตต่างๆ เหล่านี้ จึงสำคัญมากในตอนต้น จะอ่านพระสูตรอีกพระสูตรหนึ่งให้ฟัง
ในสังยุตนิกาย มหาวารวรรค ทุจจริตสูตรข้อ ๔๑๓

ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงหลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่เถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุ เพราะเหตุนั้น เธอจงทำเบื้องต้นในกุศลธรรม ทั้งหลายให้หมดจดก่อน
อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
คือ ในธรรมวินัยนี้ เธอจักละกายทุจริตแล้ว เจริญกายสุจริต จักละวจีทุจริต แล้ว เจริญวจีสุจริต จักละมโนทุจริตแล้ว เจริญมโนสุจริต เมื่อใด เธอจักละกายทุจริตแล้ว เจริญกายสุจริต จักละวจีทุจริตแล้ว เจริญวจีสุจริต จักละมโนทุจริตแล้ว เจริญ มโนสุจริต เมื่อนั้น เธออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้วพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ ในธรรมวินัยนี้ เธอ
๑. จงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย …
๓. จงพิจารณาเห็นจิตในจิต …
๔. จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
เมื่อใด เธออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้วจักเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดคืนและวันที่จักมาถึง ไม่มีความเสื่อมเลย ฯลฯ
อนึ่ง ภิกษุรูปนั้นได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ทุจจริตสูตรที่ ๗ จบ

นี้เป็นพื้นฐาน เป็นตัวมูล ถ้าพูดถึงการปฏิบัติให้เห็นภาพชัดๆ แบบขั้นบันได พูดแบบมีขั้นๆ ก็มีชั้นพื้นฐาน ชั้นพื้นฐานคือศีลที่บริสุทธิ์ดี ละทุจริตได้ ไม่ต้องเป็นคนดีอะไรก็ได้ แค่ไม่ชั่วก็พอแล้ว อาจจะเป็นคนขี้โกรธ ขี้โลภ ขี้อิจฉา หรือขี้อะไรก็ตาม ยังไม่เป็นไร แต่อย่าทำทุจริต ถึงจะมีกิเลสมากมาย อย่าไปทำทุจริต งดเว้นทุจริตให้ได้ แค่นี้ก็พอแล้ว ปฏิบัติธรรมได้ เป็นคนขี้โลภ ชอบนั่น ชอบนี่ รักสวยรักงาม ติดข้องเรื่องนั้นเรื่องนี้เยอะแยะ ก็ไม่เป็นไร ให้งดเว้นทุจริตให้ได้ก่อน เท่านี้ก็พอ ทุจริต มีกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ มโนทุจริต ๓ ให้ละสิ่งที่ชั่วมากๆ ที่แรงๆ เท่านี้ก่อน ส่วนกิเลสอื่นๆ ความโลภ ความโกรธ อิจฉา ความขี้เกียจ ง่วงเหงาหาวนอน อะไรพวกนี้ ยังไม่เป็นไร สามารถที่จะฝึกให้ยิ่งๆ ขึ้นไป มีธรรมะฝ่ายโพธิปักขิยธรรมเพิ่มขึ้น ก็จะละได้ไปตามลำดับ
ในตอนเริ่มต้น เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีนักก็ได้ มีแต่ความขยันหมั่นเพียร มีเมตตากรุณา อะไรต่างๆ ยังไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้ ตอนแรกยังทำไม่ได้ เพียงแต่อย่าไปทำทุจริต เวลามีเจตนาไม่ดีเกิดขึ้น อย่าไปด่าชาวบ้านเขา อาจจะโกรธบ้าง ไม่พอใจบ้างก็ไม่เป็นไร อย่าไปผูกโกรธเขา อย่าไปแช่งเขา แค่นี้ก็พอแล้ว กิเลสอื่นๆ อยากไปกินอาหารอร่อยๆ ท่านมีเงินก็ซื้อกิน อยากมีรถสวยๆ ก็เป็นเรื่องของท่าน ก็เงินของท่าน นี้พูดถึงตัวพื้นฐานที่สุด คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี งดเว้นทุจริต ละเว้นทุจริตได้ เป็นผู้ที่ข่มใจไม่ทำทุจริต และมีความเห็นที่ตรง ความเห็นที่ตรงนี้ก็สำคัญมาก ถ้าความเห็นไม่ตรง ไม่ถูกต้องแล้ว ก็จะหวังผลลมๆ แล้งๆ ป็นพวกขี้เกียจ ไม่ขยันไม่ทำตามเหตุตามปัจจัย คนที่มีความเห็นที่ถูกต้อง หวังผลทุกอย่างมาจากการกระทำ ถึงความขี้เกียจเกิดขึ้น เขาก็จะพยายามทำ เพราะต้องทำเหตุให้สมควรกับผล ผลมันจึงเกิดได้
สังขารทุกอย่างเกิดจากเหตุ เราต้องทำเอา อ้วนอยู่ อยากแข็งแรงต้องออกกำลังกาย ถึงจะไม่ออกอยากออกกำลังกาย ก็จำเป็นต้องออก ต้องทำ เพรารู้เหตุปัจจัย เอาเหตุปัจจัยมาพูด ไม่ใช่อยากผอม แต่นอนเป็นหมู อย่างนี้ก็ไม่ได้เรื่อง ถึงจะไม่อยากออกกำลังกายก็ออกได้ เพราะมีความเห็นตรง ไม่เอาตามความอยาก เอาตามเหตุผล ตามความรู้ ตามสติปัญญา การงานมันต้องลงมือทำ มันจึงจะสำเร็จได้ ถึงขี้เกียจก็ต้องทำ ทำได้ เพราะขี้เกียจงานไม่สำเร็จ เอาความขี้เกียจมาเป็นใหญ่ เป็นเจ้านายของชีวิตก็ไร้สาระไป ต้องลงมือทำ ถึงไม่อยากทำแต่จำเป็นต้องทำ เป็นหน้าที่เรา ก็ต้องทำเอาเอง จะไปโยนให้คนอื่นทำมันก็ไม่ได้ เป็นหน้าที่เราอย่างนี้ ถึงไม่อยากทำ แต่ก็ต้องทำ เพราะรู้เหตุปัจจัย ไม่ทำมันไม่เสร็จ ไม่อ่านหนังสือมันไม่รู้เรื่อง ก็โง่อยู่อย่างเดิม ก็จำเป็นต้องเรียนหนังสือ จำเป็นต้องสอบให้ได้ จำเป็นต้องทำนั่นทำนี่
อย่างท่านทั้งหลาย มาฟังธรรม ท่านอาจจะไม่อยากมาฟังก็ได้ แต่รู้ว่า การที่จะเข้าใจธรรมะได้ ก็ต้องฟังก่อน ไม่ใช่ว่า ยังไม่อยากมาฟังก็ยังไม่ฟัง รอความอยากก่อน อย่างนี้ก็รอจนแก่ พอแก่หูก็ตึง จำก็ไม่ค่อยได้ สมองก็บวม จะทำอะไรได้ ตอนนี้ยังหนุ่มสาว ไม่อยากฟังธรรม ถ้าไม่ฟังธรรม ก็ไม่มีความรู้ เราก็ไง่อยู่อย่างนี้ ถึงแม้ไม่อยากฟังก็ฟังได้ เพราะเรารู้เหตุปัจจัย เอาความอยาก หรือความไม่อยาก มาเป็นเครื่องตัดสินไม่ได้ อยากจึงทำ ไม่อยากไม่ทำ อย่างนี้ไม่ได้ ต้องเอาสติปัญญา เอาเรื่องกรรมและผลของกรรมมาเป็นตัวตัดสิน เราไม่เรียนหนังสือ เราก็โง่ เราไม่ฟัง ก็ไม่รู้เรื่อง เป็นเหตุปัจจัยกันอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ว่ารอขยันก่อน ขยันค่อยทำ ขี้เกียจไม่ทำ อย่างนี้ไม่ได้
ตัวความเห็นที่ตรง จึงเป็นพื้นฐานอีกอันหนึ่งสำหรับการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ต่อไปเราจะไม่ทำตามกิเลส ไม่ทำตามความอยาก บางเรื่องทำแล้ว มีโทษเยอะ อยากทำเราไม่ทำ บางเรื่องไม่อยากทำ แต่เป็นเรื่องดีเรื่อง เช่น ตอนเช้าๆ เราไม่ค่อยอยากตื่น แต่ตื่นเช้ามันดี เราก็ตื่นได้ ไม่อยากตื่นก็ตื่นได้
ความเห็นที่ตรงที่ถูกต้อง เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม รู้เรื่องเหตุปัจจัย ทำไปตามเหตุปัจจัย หวังผลมาจากกระทำ สิ่งต่างๆ เกิดเพราะเหตุ ทำไปสติปัญญา ต้องฟังธรรมจึงจะมีความรู้ ไม่อยากฟังก็ต้องฟัง มานั่งฟังธรรม หลับบ้าง เบื่อบ้าง ก็ต้องอดทนไว้ ไม่ใช่บอกว่า นั่งฟังธรรมแล้วหลับทุกที ไม่ฟังดีกว่า ไม่ฟังก็หลับเหมือนเดิมแหละ มันก็หลับ วนเวียนอยู่อย่างนั้น อย่างนี้ก็โง่ตลอดปีตลอดชาตินั่นแหละ
ถ้ารู้เหตุปัจจัยอย่างนี้แล้ว ก็เป็นพื้นฐานที่ดี ต่อไปเรามาทำกรรมฐาน ฝึกสติสัมปชัญญะ บางวันเราขี้เกียจ ไม่อยากฝึก ไม่อยากฝึกเราก็ฝึกได้ จะเอาตามความอยากไม่ได้ ไม่อยากฝึกแล้วไม่ฝึก อยากเดินจงกรมก็ค่อยเดิน ไม่อยากเดินก็ไม่เดิน อย่างนี้จะได้อะไร ไม่อยากเดินเราก็เดินได้ มันไม่ตายหรอด ขามี ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ ไม่อยากเดินก็เดินได้ ไม่ตายหรอก สอนตัวเองได้ทำนองนี้ ถ้าความเห็นไม่ถูกต้อง มันก็จะพาคิดไปทางตรงข้าม คิดแต่ว่า เราจะตายแล้ว ไม่อยากเดิน เบื่อจะตายแล้ว เลิกๆ ว่าอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตายอะไร
ในการปฏิบัติไปตามลำดับนี้ เราจะไม่ทำตามกิเลส เอาสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาเป็นเครื่องฝึกตนเองได้ สังขารทั้งหลายมีเหตุปัจจัยพร้อมจึงเกิดขึ้น มันเป็นอย่างนั้นเพราะเหตุปัจจัยบีบบังคับให้เป็นอย่างนั้น เราเป็นไปตามกรรม คนอื่นก็เป็นไปตามกรรม เป็นไปตามเหตุปัจจัย เกิดอย่างนี้ๆ ขึ้น ก็เพราะมีเหตุ สมมติเราทำงานนานแล้ว สมควรไป ได้เวลาไปแล้ว ไม่อยากไปก็ไปได้ เพราะเราฝึกมา ถึงเวลาออกก็ออก ไม่อยากออก ก็ออกได้ หรือในทางตรงกันข้าม ไม่อยากมาทำงานเราก็มาได้ เห็นหน้าเจ้านายคนนี้ เห็นแล้วเครียดทุกทีเลย ไม่อยากเจอเขา ไม่อยากเจอก็เจอได้ สบายมาก ทำงานกับเพื่อนบางคน เราไม่ชอบขี้หน้า แต่ต้องร่วมงานกัน เราไม่ชอบขี้หน้าเขา เราก็ทำงานด้วยได้ เอาเป็นเครื่องฝึกตนเอง เราไม่ได้ทำเพื่อให้ใครได้ดี ทำเพื่อคนอื่น ทำเพื่อคนโน้นคนนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น ทำเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อฝึกให้มีสติสัมปชัญญะ เราก็ส่วนเรา เขาก็ส่วนเขา กรรมใคร กรรมมัน ในโลกนี้ จะมีอะไรหนักหนา สิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ มาแล้วก็ไป เป็นเหตุการณ์หนึ่งเท่านั้นเอง มาตามเหตุ ถ้าจะให้ได้รับประโยชน์ เราก็เอามาฝึก ฝึกอดทน มองดูให้เห็นความจริงว่า โลกมันก็เป็นอย่างนี้แหละ
ในคราวที่แล้ว ผมได้พูดถึงธรรมะชุดโพธิปักขิยธรรม คือ สติปัฏฐาน ๔ ถ้าพูดแบบบันได ๓ ขั้น สติปัฏฐาน ๔ จัดเป็นขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๑ คือ ขั้นพื้นฐาน ศีลที่บริสุทธิ์ดีกับความเห็นที่ตรง งดเว้นทุจริตต่างๆ และมีความเห็นถูกต้อง เป็นผู้พร้อมสำหรับการฝึก ทำไปตามเหตุ ทำไปด้วยความรู้ ไม่ใช่ทำงมงาย ทำแบบโง่ๆ ทำแบบไม่รู้เรื่อง รอถามชาวบ้านก่อน แหงนหน้ามองแต่คนอื่น อย่างนั้นเราไม่เอา เราจะทำกันแบบเห็นๆ ทำกันแบบรู้เรื่อง
ลำดับต่อมา ก็มาฝึกให้มีสติสัมปชัญญะอยู่กับตัวเองให้ได้ตลอด เป็นคนที่รู้จักตัวเอง ไม่ไปเที่ยวรู้จักชาวบ้านเขา รู้จักกายของตนเองอย่างดี เข้าใจมันอย่างดี รู้จักจิตใจของตนเองอย่างดี เข้าใจมันอย่างดี มีสติคอยคุ้มครองรักษาจิตของตนเองอยู่ตลอด รู้จักตนเอง ทำอะไร เพื่ออะไร คิดอะไรจึงทำอย่างนี้ รู้สึกอะไรจึงมาทำอย่างนี้ มีความรู้อยู่ที่ตัวเองตลอด มีความรู้ตัวเสมอ นี้เป็นขั้นที่ ๒ บันไดขั้นที่ ๒ คือ เริ่มต้นเดินทาง
การเริ่มต้นเดินทาง เพื่อให้ถึงความพ้นทุกข์ เป็นฝ่ายเพื่อการตรัสรู้จริงๆ คือ การย้อนกลับมามีสติอยู่ที่ตนเอง มีความรู้อยู่ที่ตนเอง รู้จักตนเอง นี้คือต้นทาง ถ้าท่านไหนที่ทำอะไรแล้ว ก็เพื่อรู้จักตนเองเท่านั้น ไม่มีอะไรจะทำนอกไปจากนี้แล้ว ไม่มีอื่นแล้ว นี้ก็เรียกได้ว่าได้ต้นทางแล้ว ถ้ายังต้องทำ เพื่อพิสูจน์ตนเอง ทำเพื่อให้คนอื่นยอมรับ ทำเพื่อให้ลูกดีใจ ทำเพื่อให้สามีได้หน้า ทำเพื่อบริษัท ทำเพื่อโน่นเพื่อนี่ เพื่อให้เจ้านายยกย่องต่างๆ อย่างนี้คงจะตายเปล่า
ถ้าได้ต้นทาง ก็คือ การใช้ชีวิตทั้งหมดของเรานี้ ก็เพื่อที่จะได้รู้จักตนเองดี เพื่อฝึกตนเองเท่านั้น เมื่อใดเป็นอย่างนี้ก็เรียกว่าได้ต้นทางแล้ว ถ้ายังไม่ได้ความรู้สึกอย่างนี้ เรียกว่ายังไม่ได้ต้นทาง เราต้องไปพิสูจน์ตนเองเพื่อคนโน้น สังคมเขามองว่าอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรต่างๆ วุ่นวาย วนเวียน ต้องพิสูจน์ตนเองไปอีกนานแสนนาน แท้ที่จริง ไม่มีตัวเองอย่างนั้นหรอก การที่จะเห็นว่า ไม่มีตัวเองอย่างนั้น ต้องกลับมาดูที่ตัวเอง ตัวเราที่ยึดถืออยู่นี่ มาดูให้เห็นว่าเป็นอะไรกันแน่ แท้ที่จริง มันเป็นกระแสขันธ์ ๕ กระแสรูป กระแสนาม ความรู้จักตัวเองว่าไม่มีตัวเอง เป็นเพียงส่วนประกอบของรูปนามนั่นแหละ เป็นจุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นจริงๆ คือ การกลับมาดูที่ตัวเองไว้เสมอ ให้เข้าใจตัวเอง ให้รู้จักตัวเอง
ถ้าท่านทั้งหลายอยากจะรู้ว่า เออ.. เรานี่ได้ต้นทางเพื่อที่จะถึงความพ้นทุกข์ หรือได้ต้นทางเพื่อให้มีปัญญาตรัสรู้หรือยัง ได้รู้หรือยังว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ทำอย่างอื่นมาเยอะแล้ว ไม่มีทางอื่นแล้ว มีแต่ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น กลับมาดูตนเองไว้ ฝึกตัวเองเป็นหลัก ไปคาดหวังคนอื่นว่า เขาจะว่าอย่างโน้นอย่างนี้ คาดหวังอย่างโน้นอย่างนี้ มันไม่ได้ ต้องกลับมาดูตนเองเสมอ ดี ไม่ดี ถูกหรือผิด ต้องดูที่ตนเองไว้เสมอ ถูกก็ถูกที่ตัวเอง ผิดก็ผิดที่ตัวเองนี่แหละ มันผิด มันไม่ดี ก็งดเว้นที่ตัวเองนี่แหละ ส่วนคนอื่นจะว่ายังไง มันเรื่องของเขา คนอื่นนั้นเขาชอบเรา เขาก็ชม เขาไม่ชอบเรา เขาก็ด่า ไม่ว่าเราจะดีหรือชั่ว ก็จะมีสองอย่างนี้ คู่กันอยู่เสมอ เราเป็นคนดีก็มีทั้งคนชมและมีคนด่า เราเป็นคนไม่ดี พวกคนไม่ดีก็ชมเราเหมือนกัน
สายตาคนอื่นภายนอกนี้ เอาเป็นประมาณไม่ได้ ชาวโลก สังคม เขาเป็นพวกหลงๆ นับถือเงินทองกัน นับถือหน้าตากัน เรามีหน้ามีตาเขาก็ชมเรา อันนี้พวกโง่ๆ ชมกัน ถ้าเราอยากโง่อย่างนั้น ก็วนเวียนไปเรื่อยๆ วิธีนี้จึงเป็นวิธีการกลับข้าง เราไม่มองไปที่คนอื่น เรามองกลับมาที่ตนเอง มองให้เห็นว่า อะไรเป็นกุศลจริงๆ อะไรเป็นอกุศลจริงๆ อะไรทำให้ใจวนเวียน วุ่นวาย เป็นทุกข์ ทุกข์เกิดมาได้อย่างไร ความอยาก ความต้องการ รักษาหน้าตนเอง พวกนี้ทำให้เกิดเป็นทุกข์ เป็นอกุศล อยากให้คนอื่นเขามองเราอย่างโน้นอย่างนี้ นี้เป็นอกุศล ทำให้จิตไม่มีความสุข เราต้องรู้เองเห็นเอง ต้องมามองมัน
ถ้าปล่อยวาง รู้จักอะไรเป็นอะไร ไม่คาดหวังอะไรกับใคร นี้เป็นกุศล เป็นฝ่ายดี ทำให้ไม่เกิดทุกข์ เรารู้ด้วยตนเอง เจ้านี่เป็นอกุศล มีผลทำให้ใจเป็นทุกข์ เจ้านี้เป็นกุศล มีผลทำให้ใจสบาย เป็นสุข ก็รู้ด้วยตนเอง อกุศลก็ละด้วยตนเอง กุศลก็เจริญด้วยตนเอง ไม่ต้องรอคนอื่นว่าคุณดีเหลือเกินนะ แต่เราทุกข์จะตายอยู่แล้ว เขาว่าเราดี เราดีตามเขาไหม คุณนี่เงินทองเยอะแยะ ตำแหน่งสูงอย่างโน้นอย่างนี้ เขาชมใหญ่ เราอาจจะดีใจ แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์อะไร ไม่ได้ช่วยให้เลิกเห็นผิด ไม่ได้ช่วยให้เลิกยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้ช่วยให้หมดกิเลส ทำให้เรายึดถือหนักขึ้นไปกว่าเดิม
ตัวความรู้ที่ถูกต้องที่เป็นฝ่ายของการตรัสรู้นี้ ต้องย้อนกลับมาที่ตัวเอง การใช้ชีวิตให้สะอาดปลอดโปร่ง เบาสบาย ไม่ต้องเป็นทุกข์วนเวียนอีก มันมีหนทางเดียว คือต้องกลับมาดูตนเองเท่านั้น ทำอะไร ดูตัวเองไว้ ทำเพื่อผู้อื่น อยู่กับคนอื่น อะไรก็ตาม กลับมาดูตนเอง รับผิดชอบตนเอง จะพูดกับคนอื่นก็ดูตัวเองไว้ เออ.. นี่เราจะพูดเพราะอยากได้หน้า เราจะโกหกเขา พูดเพราะอยากครอบงำเขา อยากมีอำนาจเหนือเขา ต้องดูอย่างนี้ อย่าไปสนใจคนอื่นนัก พวกเราชอบสนใจคนอื่น พูดกับเจ้านายต้องพูดอย่างนี้ๆ เจ้านายจึงจะพอใจ พูดกับลูกน้องต้องพูดอย่างนี้ๆ ลูกน้องจึงจะเชื่อฟัง ไปเรียนกันมา ก็ดีเหมือนกันในแง่ที่หลอกๆ ต่างคนต่างถูกหลอก มันก็ไม่ได้อะไร
ถ้าจะเอาธรรมะ เอาความจริงกัน ก็ต้องย้อนกลับมาดูตนเอง ถ้าคิดไม่ดี เจตนาไม่ดี จะโกหก เราดูตัวเอง ให้มีความละอายชั่วกลัวบาป รู้จักงดเว้นไป พูดเพราะอยากได้หน้า งดเว้นไป พูดเพราะอยากให้เขายอมรับเรานี่ อยากครอบงำเขานี่ อยากมีอำนาจเหนือเขานี่ พูดเพราะอคติ รู้เห็นมันแล้วก็ละไป คนอื่นจะรู้หรือไม่รู้ก็ไม่เกี่ยวหรอก ปกติคนอื่นเขาไม่รู้กับเราหรอก มีเรารู้อยู่คนเดียวนี่แหละ และเราก็เป็นทายาทของการกระทำนี่แหละ
เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบแบบเต็มที่ ในเรื่องของการฝึกตนเองนี้ ไม่มีใครมารับผิดชอบแทนเรา คนอื่นจะว่าเราดี เราเลิศ เราประเสริฐ แต่หากเราไม่ดีก็ไม่ดีเหมือนเดิม คนอื่นเขาจะว่าเราไม่ได้เรื่อง แต่เราเป็นคนได้เรื่องมันก็ได้เรื่องอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ ไม่เกี่ยวกับข้างนอกนั้น ถ้าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ดูตนเองไว้เสมอ อันนี้เรียกได้ว่าได้ต้นทาง ต้นทางคือสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง การมาตามดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม ดูอยู่ในกายและใจของตนเองอยู่เสมอ พิจารณาอยู่เสมอ เพื่อให้ละในความยินดียินร้ายในโลกได้ ละอคติต่างๆ ได้ นี้เป็นต้นทาง เป็นจุดเร่ิมต้นของการเดินทางเพื่อพ้นทุกข์ เป็นทางอันเดียวทางอันนี้แหละ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงตัวสติปัฏฐาน ซึ่งมีคุณประโยชน์หลายๆ อย่าง บอกว่า
ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้ เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ มีอะไรบ้าง ตามดูกายในกาย ตามดูเวทนาในเวทนา ตามดูจิตในจิต ตามดูธรรมในธรรม ทางอันนี้เป็นเอก เป็นทางอันเดียว ท่านทั้งหลายได้รู้หรือยังว่ามีทางเดียว ไม่มีทางอื่น ทางคือต้องรู้ตัวเองไว้ กินข้าวก็รู้สึกตัวเองไว้ คุยกับคนนั้นคนนี้อยู่ก็รู้จักตนเองไว้ คุยกับที่เราไม่ชอบก็เพื่อรู้จักตนเอง รู้ว่ายังมีกิเลสอยู่ ยังมีอคติกับคนนี้อยู่ คุยกับคนที่เราชอบก็เพื่อรู้จักตนเองว่า เออ..เรายังเป็นพวกที่ยึดถืออยู่นะ ยังมีอคติชอบคนนี้ อยากเห็นหน้าคนนี้ อยู่คนเดียวเพื่อรู้จักตนเอง อยู่หลายคนก็เพื่อรู้จักตนเอง อยู่มืดๆ ก็เพื่อรู้จักตนเอง อยู่สว่างๆ ก็เพื่อรู้จักตนเอง ถ้ามีทางเดียวอย่างนี้มันจบได้ มีทางจบ ถ้ายังมีหลายทางอยู่ คงจะหัวหมุนวนเวียนไปเรื่อย เดี๋ยวไปโน่น เดี๋ยวไปนี่ เดี๋ยวไปทำนั่น เดี๋ยวทำนี่ เรื่องมันก็กระจายหลากหลาย ไปสนใจแต่รายละเอียด สนใจแต่เรื่องราว สนใจแต่ปรากฎการณ์ที่เกิดเป็นครั้งๆ แท้จริงแล้ว ปรากฎการณ์ทั้งหมดที่เกิดล้วนไร้แก่นสาร ขนาดตัวเราเอง ผู้ที่สร้างประสบการณ์ และผู้รับประสบการณ์ ก็ยังเป็นกองทุกข์ เป็นของไร้แก่นสาร ฉะนั้น สังขารอื่นๆ มันก็ไร้แก่นสารหมดนั่นแหละ
พุทธเจ้าสรุปบอกว่า อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ กายกับใจ ที่เรายึดว่าเป็นเรา ยึดว่าเป็นของเรานี้ มันเป็นทุกข์ เป็นของไร้แก่สาร เป็นของไร้ตัวตน เป็นปรากฏการณ์ที่มาจากความเปลี่ยนแปลงและก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เกิดจากความเปลี่ยนแปลงและหายไปเพราะความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน มันวนเวียนอยู่อย่างนี้
ธรรมะชุดโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวด มีทั้งหมด ๓๗ ประการ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ถ้าท่านทั้งหลายได้ขึ้นสู่หนทางนี้แล้ว ได้ขึ้นต้นทาง ก็จะไม่มีทางจะกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป ถ้ายังไม่ขึ้นก็จะกลับไปกลับมาอยู่เรื่อย ถ้าเป็นผู้มีพื้นฐานที่ดี ละเว้นทุจริต มีความเห็นตรง แล้วก็ขึ้นสู่ทางสติปัฏฐาน ท่านจะไม่มีทางกลับมาอีก ไม่มีทางเป็นคนชั่วได้อีก เพราะสามารถรู้เท่าทันจิตใจของตนเอง แล้วรู้ว่า ถ้าเราชั่วเองเราก็รับผลเอง แล้วก็เห็นๆ อยู่ว่า ชั่ว ทุจริตอยู่นี้ ไม่มีใครรับผลแทนเรา เราเป็นคนรับเต็มๆ นี่แหละ เป็นทายาทของกรรมเต็มๆ ทำดีหรือชั่วเราก็เป็นคนรับ คำว่า เรา พูดถึงกระแสขันธ์ ขันธ์ ๕ เป็นคนทำ ขันธ์ ๕ เป็นคนรับผล เป็นคนรับผิดชอบผลกระแสของตนเอง คนอื่นมาร่วมด้วยไม่ได้ คนอื่นก็เป็นกระแสของคนอื่น วัฏฏะของคนอื่น เราก็เป็นกระแสของเรา วัฏฏะของเรา ต้องรับผิดชอบตนเอง
ทุกคนจึงมีหน้าที่รับผิดชอบตนเอง ไม่มีหน้าที่ไปรับผิดชอบคนอื่น ถ้าจะบอกกันได้แนะนำกันได้ ก็บอกเขาให้ไปรับผิดชอบชีวิตของเขา แนะนำกันให้มีสติสัมปชัญญะ อันนี้คือเพื่อนกันหรือคนที่หวังดีต่อกัน เป็นเพื่อนกันมาก รักกันมาก ต้องการช่วยเขา ก็ช่วยให้เขากลับไปช่วยตนเอง รับผิดชอบตนเอง มีสติปัญญาเป็นของตนเอง ส่วนพวกที่ชอบช่วยคนอื่นอย่างโน้นอย่างนี้ ทำสังคมสังเคราะห์อะไรต่างๆ ทำให้คนอื่นเป็นง่อยอยู่ อันนี้ก็ไม่ได้เรื่อง มีแต่ทำร้ายกันและกัน วนเวียนไปมากมายจนทุกวันนี้ คนก็เป็นอย่างนี้หมด ก็โง่อยู่เหมือนเดิมอย่างนั้น
ในทางพระพุทธศาสนาไม่มีเรื่องอย่างนั้น มีแต่เรื่องบอกกันไว้ ให้เขาช่วยตนเอง ให้ช่วยตนเองให้ได้ ให้มีความรู้ด้วยตนเอง จะมัวไปถามคนอื่นว่าเกิดเหตุการณ์นี้แล้วจะทำยังไง เกิดเหตุการณ์โน้นจะทำยังไง อันไหนเป็นอกุศล อันไหนเป็นกุศลช่วยบอกหน่อย ทอดผ้าป่าเป็นบุญหรือเปล่า ทอดกฐินเป็นบุญหรือเปล่า จุดธูปบอกพ่อที่ตายไป แล้วพ่อจะรู้หรือเปล่า มัวแต่ถามคนอื่น หัวหมุนวนเวียนกันไป
ถ้าจะเป็นหนทางโดยถูกต้อง คือเป็นหนทางที่ให้กลับมาที่ตนเอง เราจะแนะนำใครก็ให้แนะนำแบบนี้ ให้เขาช่วยตนเอง แนะนำให้ไปฝึกเพื่อรู้ด้วยตนเอง มีเหตุปัจจัยยังไง มีความรู้ก็บอกเขาไป ทำอย่างนี้ๆ ไปหัดเอาเองอย่างนี้ นี้คือเพื่อนกันหรือเป็นกัลยาณมิตรกัน บอกได้เท่านี้ ทำให้เขาต้องมาพึ่งเรา ให้เรามีอำนาจเหนือเขา เขาตกเป็นทาสเราตลอดชาติ อย่างนี้ไม่ได้ พวกเราส่วนใหญ่ชอบอย่างนั้นกัน ชอบมีอำนาจเหนือคนอื่น บางพวกก็โง่ ไม่ชอบคิดอะไร ชอบตามชาวบ้านเขาไปเรื่อย เออๆ ออๆ ตามเขาไปตลอด
ทางนี้ เป็นทางอันเอก เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย ทำให้จิตใจนั้นมีความสะอาดหมดจด เป็นไปเพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไรต่างๆ ความเศร้าโศกที่เคยมีก็จะหลุดหายไป ความทุกข์โทมมนัสก็จะหมดไป ทำให้อริยมรรคเกิด จนกระทั่งทำให้แจ้งพระนิพพาน
ตัวสติปัฏฐาน กล่าวถึงตัวหลักการแท้ๆ ก็ไม่มีอะไรมาก ตัวหลักแท้ๆ คือให้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ มีความรู้เนื้อรู้ตัว มีความระลึกได้มาอยู่ที่ตัวเอง มีความรู้สึกตัว แล้วดูตัวอยู่เสมอ นี้คือหลักของสติปัฏฐาน ๔ แต่อารมณ์ หรือ ที่ตั้งที่ทำให้เกิดสติมีเยอะ มีหลากหลาย มีหลายอารมณ์ แยกเป็น ๔ กลุ่ม กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม รู้กายว่าเป็นกาย เป็นสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใคร เป็นกายเท่านั้น เป็นตามที่มันเป็นนั่นเอง ไม่เลยกว่านั้น รู้อย่างนี้ได้สติ ได้ปัญญา ถ้าเลยไปกว่านั้น จะไม่ได้สติ ได้แต่ความหลงไป รู้กายว่าเป็นกาย กายทำนั่นทำนี่ แขนเป็นส่วนหนึ่งของกาย เคลื่อนไหวไปมา อย่าให้เลยไปว่าแขนเรา แขนสวย เล็บเรา สีนี้มันไม่ค่อยสวย เอาแดงมาทา เอาสีโน้นสีนี้มาใส่ เล็บเราสวยเหลือเกิน อย่างนี้ไม่ได้เรื่อง มีแต่ความหลง รู้แค่ว่าเป็นกายก็พอ เป็นส่วนประกอบของรูปหลายรูปมาประชุมกัน กายไปทำโน่นทำนี่ เคลื่อนไหวไปมา รู้อย่างนี้ได้สติปัญญา
ขาเคลื่อนไปมา ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา รู้ว่ากายมันเคลื่อนไป ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมหายใจมันเข้า ลมหายใจมันออก เป็นลมมันหายใจ ไม่ใช่เราหายใจ ไม่ใช่ลมหายใจของเรา กำมือเข้าแบมือออก ให้รู้สึกตัว กายมันเป็นอย่างนี้ รู้กายว่าเป็นกาย ได้สติ ได้สัมปะชัญญะ หรือมองให้ทะลุว่า ร่างกายนี้ เป็นส่วนประกอบจากส่วนต่างๆ ที่ไม่สวยไม่งาม มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ใส้ใหญ่ ใส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน นำ้ลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร รวมกันขึ้น เป็นส่วนประกอบต่างๆ หัว คอ แขน ขา มารวมประกอบกันขึ้น ตั้งรวมกันขึ้น ก็สมมติเรียกว่าคน ว่าหญิง ว่าชาย ว่าหมา ว่าแมว ว่าวัว ว่าควาย เส้นผมก็ไม่ได้รู้จักตัวเองว่ามันเป็นเส้นผม เส้นขนมันก็ไม่ได้รู้จักว่ามันเป็นอะไร ตับ ไต ไส้พุง มันก็ไม่ได้รู้จักตัวมันเอง ไม่ได้บอกว่ามันเป็นอะไร หลายๆ ส่วนรวมกันขึ้น ก็สมมติเรียกว่าเป็นสัตว์ บุคคล อย่างนี้
พอมีความรู้สึกตัว มีสติ นึกได้ ระลึกได้ ก็มองดู กายเป็นส่วนประกอบของหลายๆ ส่วน นี้เรียกว่ารู้กายในกาย รู้กายย่อยในกายใหญ่นี้ อย่าให้มันเกินออกไป อย่าให้สวย เป็นงาม เป็นไม่สวย เป็นน่าพอใจ ไม่น่าพอใจ เป็นเรา เป็นคนอื่น ถ้าเห็นแบบนั้น แสดงว่ามันเลยไป เป็นการขาดสติ เป็นความหลงเกิดขึ้นแทน หลงไปแล้วก็ไม่เป็นไร ถ้านึกได้ก็ให้รู้ว่า คิดอย่างนั้นมันหลงไป แล้วก็กลับมา ตั้งใจ มีความรู้สึกตัว มีสติ แล้วมองเหมือนเดิม หลงไปแล้วก็กลับมา ทำซ้ำอย่างนี้บ่อยๆ จะมีสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น นี้เรียกว่ารู้กายในกาย รู้กายว่ามันเป็นกาย ส่วนประกอบในร่างกายนี้ มีอะไรบ้างก็รู้ไป
ต่อมา รู้เวทนาว่าเป็นเวทนา รู้ความรู้สึกต่างๆ สุขนี่ก็เป็นเวทนาที่เป็นสุข ไม่ใช่เราสุข ไม่ใช่จิตสุข เป็นเวทนาที่สุข ปวดหลังขึ้นมา ก็ให้รู้ว่าเป็นเวทนาที่มันปวด ไม่ใช่หลังปวด ไม่ใช่เราปวด ไม่ใช่จิตปวด เป็นเวทนาปวด ความเฉยๆ ก็เป็นเวทนามันเฉยๆ ไม่ใช่เราเฉยๆ ไม่ใช่จิตเฉยๆ เป็นเพียงแต่เวทนา อย่าให้เลยไป ถ้าเลยไป แหม..ชอบ นั่งท่านี้มันสบายเหลือเกิน นั่งแล้วสบายมาก ถ้านั่งสบายอย่างนั้น ก็นั่งตลอดชาติไปเลย เดี๋ยวก็จะรู้เรื่องเองว่า มันสบายจริงหรือเปล่า อย่าเลยไป สบายก็เป็นเวทนามันสบาย อย่าไปว่าเราสบาย เพราะถ้าเป็นเราสบาย มันจะหลง เดี๋ยวเวทนาเปลี่ยนเป็นไม่สบาย ก็จะมีปัญหาเพราะมันอีกแล้ว ก็แค่เวทนามันสบายนะ ให้เห็นอย่างนี้ ความเจ็บปวดเกิดขึ้นที่หลัง ก็ให้รับรู้ แค่เวทนามันปวด ไม่อย่างนั้นแล้ว เราจะเกลียดมัน หนีไปรักความสุขอีกแล้ว ปวดหลังไม่ชอบ หาหมอนวดดีกว่า นวดๆๆ เจ็บหนักกว่าเดิมอีกก็มี อย่างนี้ก็ว่าไป จะนวดไม่นวดก็ไม่เกี่ยวหรอก ให้รู้ว่ามันเป็นสักแต่ว่าเวทนา เฉยๆ ก็เหมือนกัน เป็นเวทนา ไม่ใช่เราเฉยๆ ไม่ใช่จิตเฉยๆ นี้คือตามรู้เวทนาในเวทนา ในคราวที่แล้ว บรรยายอธิบายคร่าวๆ ให้ท่านฟังไปจนถึงเรื่องเวทนา

๓.๓ จิตตานุปัสสนา
วันนี้จะพูดต่อในเรื่องจิต การรู้จิตในจิต พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ บ่อยๆ ทำอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า “จิตมีราคะ”
จิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า “จิตปราศจากราคะ”
จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า “จิตมีโทสะ”
จิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า “จิตปราศจากโทสะ”
จิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า “จิตมีโมหะ”
จิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า “จิตปราศจากโมหะ”
จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า “จิตหดหู่”
จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า “จิตฟุ้งซ่าน”
จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า “จิตเป็นมหัคคตะ”
จิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า “จิตไม่เป็นมหัคคตะ”
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า “จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า”
จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า “จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า”
จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า “จิตเป็นสมาธิ”
จิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า “จิตไม่เป็นสมาธิ”
จิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ชัดว่า “จิตหลุดพ้นแล้ว”
จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า “จิตไม่หลุดพ้น”
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิต ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า “จิตมีอยู่” ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิอยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างนี้แล
นี้คือการตามรู้จิตในจิต พิจารณาเห็นจิตว่าเป็นจิต จิตที่มันมีอาการอย่างนั้นๆ ตัวจิตนี้เป็นตัวประธาน เป็นความรู้พื้นฐาน เกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อย เห็นความแตกต่างได้ยาก จะรู้จักมันได้ ต้องรู้จักโดยผ่านสิ่งที่ประกอบกับมัน อาศัยคุณสมบัติที่เกิดขึ้น มีขึ้นในจิตนั่นแหละ เป็นตัวกำหนดความแตกต่างของจิต ให้เห็นได้ว่าเป็นจิตต่างชนิดกัน ไม่ใช่จิตเดียวกัน เช่น ต้องการรู้จักคนๆ หนึ่ง ก็อาศัยคุณสมบัติหลายๆ อย่าง เป็นตัวกำหนดความต่างคนนั้นกับคนอื่น เช่น สูงเท่าโน้น น้ำหนักเท่านี้ มีความรู้ด้านนั้นด้านนี้ มีนิสัยอย่างนี้ๆ จิตก็เหมือนกัน จะรู้จักจิต เข้าใจโดยแจ่มแจ้ง จะรู้จักตรงๆ ไม่ได้ เพราะจิตไม่มีตัวตน เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์เหมือนกันทุกจิต ไม่มีสภาพชัดๆ ให้มองเห็นความแตกต่าง ผู้มีปัญญาน้อย ปฏิบัติใหม่ดูไม่ออก ต้องรู้ว่ามีอะไรประกอบ หรือมีคุณสมบัติยังไง พอรู้บ่อยๆ หลายๆ อย่าง ประมวลกันเข้า ก็ทำให้เข้าใจชัดว่า จิตเป็นอย่างนี้ เป็นสิ่งไม่เที่ยง เกิดตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน เกิดแล้วดับ มาแล้วก็ไป
ในเรื่องการเห็นจิตในจิต ตามดูจิตในจิต พระพุทธองค์ตรัสบอกถึงวิธีการมองดู สังเกตดู เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายและชัด ที่พระองค์ทรงแสดงเอาไว้ ก็แสดงไว้ครบถ้วนสมบูรณ์สำหรับทุกๆ คน และก็ทุกอัธยาศัย ฟังแล้ว ดูอันไหนเหมาะกับเรา หรือเกิดบ่อยกับเรา ดูแล้วเห็นชัดเจน ก็ใช้อันนั้น ไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด หรือไม่จำเป็นต้องทำให้ได้ทุกอัน เพราะพระองค์แสดงเอาไว้แบบกว้างๆ ครบถ้วนสมบูรณ์ ครอบคลุม
พระพุทธองค์ตรัสว่า จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ จิตกับราคะนี่เป็นคนละอย่างกัน จิตเป็นอย่างหนึ่ง ราคะก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่จะรู้จักจิต ต้องอาศัยราคะในการพิจารณา จิตมีราคะมีลักษณะเช่นนี้ อยากได้ ต้องการ ติดข้อง ดึงดูด จิตไม่มีราคะ มันปล่อยวาง ไม่อยากได้ ก็เป็นอีกแบบหน่ึง เป็นจิตเหมือนกันนี่แหละ รู้จักจิตผ่านคุณสมบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิต พอรู้จักหลายๆ อย่าง ก็จะรู้จักว่า อ๋อ.. นี่แหละเรียกว่าจิต เป็นสิ่งไม่เที่ยงอย่างนี้เอง เมื่อกี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ต่อมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง มันเป็นทุกข์ เป็นของบีบคั้นอย่างนี้เอง และมันไม่ใช่ตัวตนเพราะอย่างนี้เอง อาศัยคุณสมบัติหลายๆ อย่างมาประกอบรวมกัน จิตจึงเกิดขึ้นได้ จิตเป็นประธานเพราะเกิดกับทุกอัน ส่วนอันอื่นๆ ไม่ได้เป็นประธาน จิตมีราคะ ราคะเกิดจิตก็เกิดด้วย จิตเป็นประธาน จิตไม่มีราคะ ราคะไม่มี แต่จิตก็เกิดด้วย จิตเป็นประธาน ราคะไม่ได้เป็นประธาน โทสะก็ไม่ได้เป็น ตอนมีราคะ โทสะมันไม่ได้มี แต่จิตมี ตอนมีโทสะ ราคะก็ไม่มี แต่จิตก็มีเหมือนกัน จึงเรียกว่าจิตเป็นประธาน ส่วนสภาวะอื่นไม่เป็นประธาน แต่ก็อิงอาศัยกัน ดูอย่างนี้ เพื่อให้สามารถฝึกฝนสติปัญญา ทำให้รู้จักจิตได้ รู้จักตัวประธาน
คำว่า ประธาน ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า มันเป็นสิ่งใหญ่โต มีอำนาจ สามารถครอบงำผู้อื่นได้ ไม่ใช่อะไรอย่างนั้นหรอก มันก็เป็นสิ่งธรรมดาๆ เป็นธรรมะ เป็นสังขารอย่างหนึ่งนี่แหละ เพียงแต่ว่า เกิดกับเขาทุกครั้ง ส่วนสิ่งอื่นเกิดบ้างไม่เกิดบ้าง ราคะเกิด จิตก็เกิด โทสะเกิด จิตก็เกิด บางทีราคะเกิด บางทีราคะไม่เกิด จิตเกิดทุกคราวไป จิตเลยเป็นประธานกว่าเขาในแง่นี้ ไม่ใช่มันมีอำนาจ จิตเป็นสิ่งหนึ่งที่ไร้ตัวตนเหมือนกัน
จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตไม่มีราคะ ก็รู้ว่าจิตไม่มีราคะ เป็นจิต ไม่มีราคะ ไม่ใช่เรา เป็นเรื่องของจิตที่มีอาการ มีคุณสมบัติอย่างนั้นๆ หรือว่ามันไม่มี เป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ เวลาที่จิตมีโทสะ มีความโกรธ มีความไม่พอใจเกิดขึ้น เราก็มองรวมๆ ว่า จิตมีโทสะ จิตเป็นอย่างนี้ เร่าร้อนอย่างนี้ๆ มันกระวนกระวายอย่างนี้ๆ ไม่ใช่เรามีโทสะ เป็นจิตมันมีโทสะ จิตก็เป็นอันหนึ่ง โทสะก็เป็นอันหนึ่ง แต่จิตตอนนี้จิตมีโทสะ มีโทสะเกิดประกอบกับจิต จิตไม่มีโทสะก็คล้ายๆ กัน ตอนนั้นอาจจะมีสภาวะอื่นเกิดขึ้นมา เช่น ความเห็นใจ มีเมตตาเป็นต้น ไม่มีโทสะ
จิตมีโมหะ มีความหลง มีความคิดนั่นคิดนี่ เราเป็นนั่นเป็นนี่ มีโน่นมีนี่ มีความหลงเกิดขึ้น ก็เป็นจิตมันหลง ไม่หลงก็เป็นจิตนั่นแหละ จิตหดหู่ก็เป็นจิต ความหดหู่ก็เป็นอันหนึ่ง จิตก็เป็นอันหน่ึง จิตมีความหดหู่เกิดประกอบ จิตมีความฟุ้งซ่าน ก็เป็นจิตมันเป็นเช่นนั้น เหมือนท่านทั้งหลาย ท่านก็เป็นอันหน่ึง เงินก็เป็นอันหน่ึง ถือเงินมาก็เป็นคนมีเงิน เราก็พูดรวมๆ พูดถึงสิ่งหนึ่งแหละ แต่พูดแบบเหมาๆ ไป เพื่อจะรู้จักคนนี้ให้ชัดๆ พูดถึงจิตนั่นแหละ แต่พูดแบบเหมาๆ ไป เพื่อจะรู้จักจิตให้ชัดๆ เพราะเรายังโง่อยู่ ยังไม่ค่อยรู้เรื่องของจิต ก็อาศัยสภาวะเหล่านี้ฝึกให้มีสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น เมื่อมีสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น ก็สามารถมองทะลุได้ อ๋อ..จิตเป็นอันหนึ่ง สภาวะต่างๆ ที่เกิดประกอบกับจิตในขณะนั้นเป็นอย่างหนึ่ง
ตอนนี้กำลังพูดแบบรวมๆ ไม่ต้องเก่งอะไรนัก ก็สามารถดูได้ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมันมีราคะ อย่าไปบอกว่า เรามีราคะ มันไม่ดี เลวเหลือเกินเรานี่ ไม่ใช่อย่างนั้น จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ อย่าให้เลยไป อย่าเลยไปว่า เราโกรธ เรามีโทสะ แหม.. ชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดี ถูก ผิด อย่าไปว่ามันอย่างนั้น บางคน พอโกรธขึ้นมา ก็คิดว่าทำไมเราเลวอย่างนี้ อย่างนี้ก็เลวตลอดชาติ ความโกรธเกิดขึ้นก็ให้รู้แค่ว่า จิตมันมีโทสะ มีความโกรธเกิดขึ้นมาประกอบ แค่นี้ก็พอ อย่าให้มันเลยว่า เรามีความโกรธ หรือคนอื่นมีความโกรธ ถ้าคนอื่นโกรธ เราก็มองแค่จิตโกรธ แค่นั้นพอ เดี๋ยวอีกสักหน่อยจิตมันก็จะเป็นอย่างอื่น มองอย่างนี้ ไม่เลยไป อย่างนี้เรียกว่ารู้จิตในจิต รู้จิตว่ามันเป็นเพียงสักแต่ว่าจิต ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ของเที่ยง ไม่ใช่ของถาวรยั่งยืน ไม่ใช่ของบังคับควบคุมอะไรได้ เป็นแค่จิต หดหู่ ฟุ้งซ่าน ก็จิตมันมี ไม่ใช่เรามี
จิตเป็นมหัคคตะ คือ จิตถึงความเป็นใหญ่ แนบแน่น มีกำลังมาก มีผลมาก เป็นเหตุทำให้เกิดความสุขมาก ก็เป็นจิต ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา บางคนทำสมาธิจนแนบแน่นและเข้าฌานได้ ที่เข้าฌานได้ นิ่งๆ อยู่ก็เป็นจิต ไม่ใช่เรานิ่งๆ หรือเราได้ของดีของวิเศษ ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเพียงสักแต่ว่าจิตเป็นอย่างนั้น มีองค์ฌานเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นองค์ประกอบของฌาน ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา หรือฌานขั้นสูงขึ้นไป องค์ฌานน้อยลง ก็เป็นสักแต่ว่าจิตมีองค์ฌานประกอบ ก็เป็นจิตที่เป็นมหัคคตะ ไม่ใช่เราถึงความแนบแน่น หรือ จิตไม่ได้แนบแน่น ไม่ได้เข้าฌาน ก็เป็นจิตเหมือนกัน เป็นสักแต่ว่าจิตที่เป็นอย่างนั้น
การตามดูจิตก็ดูกันอย่างนี้ ไม่ใช่ดูว่าได้นั่นได้นี่ มีนั่นมีนี่ แล้วจะเก่ง หรือจะดีอะไร ไม่ใช่ว่าจิตเข้าฌาน ดีกว่าจิตไม่เข้าฌาน ไม่ได้ดูอย่างนั้น ดูให้เห็นว่า มันเป็นจิตเท่านั้น ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่เกี่ยวกับดีหรือไม่ดี ไม่ใช่ว่าจิตโกรธหรือจิตไม่โกรธ อันไหนดีกว่านะ ไม่โกรธน่าจะดีกว่า อย่างนี้ยังดูไม่ถูกตัว ยังไม่ใช่ต้นทาง ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า ในเมื่อการฝึกตามหลักของโพธิปักขิยธรรม หมวดสติปัฏฐาน เป็นหมวดแรก ฝึกให้มีความรู้ตัว รู้จักตัวธรรมะก่อน ไม่ได้เอาเรื่องดีและไม่ดี ไม่เอาเรื่องถูกและผิด ให้รู้ว่าเป็นเพียงรูป เพียงนาม ส่วนที่เป็นทุจริต ต้องละก่อน เรารู้มาตั้งแต่พื้นฐาน ชั้นต้นนี้คือรู้ว่าอันไหนไม่ดีและก็งดเว้นไป เป็นผู้ที่งดเว้นทุจริตเป็นพื้นฐานข้อที่หนึ่ง และมีความเห็นที่ตรงเป็นพื้นฐานข้อที่สอง พอเลยจากพื้นฐานมาแล้ว เป็นสติปัฏฐาน เราต้องการฝึกให้มีความรู้ตัว รู้กายและรู้จิต ตามที่มันเป็นจริง ต้องเข้าใจอย่างนี้
บางคนเลยเถิด คือว่า พื้นฐานไม่ดี พอมาฟังเรื่องสติปัฏฐาน เขาก็บอก แหม..ฉันนี่ไม่เอาทั้งดีทั้งเลว เอาเฉยๆ อย่างนี้เลวมาก มันไม่รู้เรื่อง แท้ที่จริง เราไม่เอาเลวมาตั้งแต่พื้นฐาน ทุจริตนี่เราไม่เอา งดเว้นไป ถ้างดเว้นยังไม่ได้ หรือมีโอกาสผิด ต้องระมัดระวัง สำรวมเอาไว้ให้มาก พองดเว้น สำรวมระวัง และมีความเห็นที่ตรงที่ถูกต้อง ต่อมา จึงมาฝึกลำดับสูงขึ้นไป ไม่มีเรื่องดีเรื่องชั่ว ไม่มีเรื่องผิดเรื่องถูกมาเกี่ยวข้อง พยายามเพื่อให้จิตเป็นกลาง ตั้งมั่น เพื่อนำไปใช้ด้านปัญญาต่อไป ทำนองนี้ มันคนละชั้นกัน ฉะนั้น ท่านทั้งหลาย เวลาพูดถึงเรื่องไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่ถูก ไม่ผิด ต้องรู้ว่าพูดอยู่ระดับไหน ถ้าพูดอยู่ระดับพื้นฐานต้องมีดีมีชั่ว มีถูกมีผิด งดเว้นชั่วให้ได้ อันนี้พื้นฐาน พื้นฐานนี้ต้องเลือก ชั่วไม่เอา งดเว้นชั่ว มาทำดี
ดังนั้น ผู้ที่ไม่เอาดีไม่เอาชั่ว เขาจะไม่มีทางชั่วอีกต่อไป ไม่ใช่หมายความว่า ฉันไม่เอาดีไม่เอาชั่ว แต่ชั่วอยู่นั่นแหละ อย่างนี้มันไม่ได้เรื่อง ท่านทั้งหลายก็ต้องรู้จักดีๆ นะ การปล่อยวางอะไรต่างๆ เป็นธรรมะขั้นสูง ขั้นต้นๆ นี้จะต้องไม่ปล่อย ของไม่ดี ไม่ใช่ว่าปล่อยเอาไว้อย่างนั้น ของไม่ดีจะต้องไม่ทำ ต้องงดเว้นไป ของดีงามถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยไว้อย่างนั้น ให้ทำเหตุปัจจัย จะต้องทำ ต้องฝึกหัด ทำการงานต้องรับผิดชอบให้ดี เพราะเรามีพื้นฐานที่ดี มีความเห็นที่ตรงแล้ว หวังผลมาจากการกระทำแล้ว ทำด้วยความปล่อยวางเป็นแล้ว ไม่ใช่บอกว่า แหม..อาจารย์สอนให้ปล่อยวาง ไปเจองานอยู่บนโต๊ะ เจ้านายบอก เธอ..รีบทำสิ ผมปล่อยวางแล้วครับ วางไว้อย่างนั้น อย่างนี้มันวางแบบควายแล้ว ไม่ได้เรื่องแล้ว ตื่นเช้าขึ้นมา โอ้.. วันนี้วันอาทิตย์ งานเต็มโต๊ะอยู่ แทนที่จะสะสางออกไปบ้าง ปล่อยวางไว้ก่อน ก็นอน วันนี้เป็นวันพักผ่อน รอให้มันสุมหัววันจันทร์ก็แล้วกัน อย่างนี้ไม่รู้เรื่องแล้ว ถ้างานมันเหลืออยู่มาก มีเวลาว่างวันเสาร์วันอาทิตย์ก็รีบทำไว้ เพราะมันไม่เที่ยง ตอนนี้มีงานสองงาน มันไม่เที่ยง อาจจะเพิ่มเป็นสามงาน เป็นสิบงานก็ได้ ต้องไม่ประมาท มีความเพียร มีความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยวางจนไม่รู้เรื่องไม่รู้ราวอะไร
ความปล่อยวางนี้เป็นขั้นสูง ความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ตามหน้าที่ของตน อันนี้ต้องทำอย่างเต็มที่ ละชั่ว มาทำดี เชื่อมั่นกรรมและผลของกรรม ทำอย่างนี้ บางเรื่องไม่ชอบก็ต้องทำ เพราะมันจำเป็น นี้ความเห็นที่ตรง บางคนพื้นฐานไม่ได้เรื่องเลย ไม่รู้เรื่องไม่รู้ราว พอพูดถึงธรรมะขั้นสูงก็เอามาเป็นข้อแก้ตัวให้กิเลส วนๆ เวียนๆ อยู่อย่างนั้น มันก็ไม่ได้เรื่อง ในหัวสมองมีแต่เรื่องปล่อยวาง มีแต่เรื่องปลง แต่โง่อยู่นั่นแหละ บางทีก็เฉยๆ ไป โง่ๆ ไปอย่างนั้น เฉยตลอด เฉยเมย ทำทีเป็นไม่สนใจมันก็เลยเฉย ขยันก็ไม่เอา ขี้เกียจก็ไม่เอา ขออยู่กลางๆ ก็แล้วกัน อย่างนี้ก็โง่ไป ไม่รู้เรื่อง
แท้ที่จริง เราต้องขยันมาตั้งแต่พื้นฐาน คือ มีความเห็นที่ตรง นี่ต้องเป็นคนขยันมาก อยากได้อะไรก็ทำเอา ขี้เกียจก็ทำได้ ไม่อยากทำก็ทำได้ ถ้ามันมีประโยชน์ คนอย่างนี้จะเป็นผู้มีจิตสำนึกในการกระทำ มีความรับผิดชอบอยู่เสมอ รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง เว้นในสิ่งที่ต้องเว้น ทำในสิ่งที่ต้องทำ มีความรับผิดชอบอยู่ในใจเสมอ ท่านเหล่านี้จึงจะเป็นผู้ที่ปล่อยวางได้อย่างแท้จริง คนที่ปล่อยวางได้อย่างแท้จริง คือ คนที่รับผิดชอบได้ทุกเรื่อง ทุกอย่างที่เกิด มันย่อมเกิดมาจากเหตุ ก็พร้อมจะยอมรับ ผลทั้งดีและไม่ดีที่ตนได้ทำไว้ อย่างนี้จึงจะเป็นผู้ที่ปล่อยวางได้ ส่วนพวกไม่ยอมรับผิดชอบอะไร ทำอะไรทิ้งๆ ขว้างๆ อย่างนี้ไม่อาจจะปล่อยวางอะไรได้ เพราะพื้นฐานไม่ถูกต้อง จึงต้องเข้าใจความปล่อยวางให้ดีๆ
มาพูดถึงเรื่องดูจิตต่อไป จิตจะได้ฌานแนบแน่น ก็เป็นเรื่องของจิต จิตจะไม่ได้ฌาน ก็เป็นเรื่องของจิตมัน เป็นอาการหนึ่งของจิต เป็นสักแต่ว่าจิต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า นี้พูดแบบเปรียบเทียบ จิตที่เป็นกุศลก็ยิ่งกว่าอกุศล จิตที่เป็นกุศลขั้นสมาธิ ก็ยิ่งกว่าจิตที่เป็นกุศลขั้นทานศีล จิตที่เป็นสมาธิขั้นอรูปสมาบัติ ก็ยิ่งกว่าที่เป็นสมาธิขั้นรูปสมาบัติ
จิตตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น ก็ให้รู้ชัดตามความเป็นจิตว่าจิตเป็นอย่างนั้น คำว่า รู้ชัด คือรู้ว่า จิตเป็นอย่างนั้น จิตที่ตั้งมั่นก็ไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี เราอย่าไปบอกว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้รู้ตามที่มันเป็น จิตตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตมันตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่น ตัวจิตเองก็ไม่ได้บอกว่ามันเลวอะไร จิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ตรงๆ ว่า จิตไม่ตั้งมั่น อย่างนี้เรียกว่ารู้ชัด รู้จักตัวมัน ให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง เข้าใจชัดๆ ตามที่มันเป็น ไม่ต้องไปตัดสิน ทำนองนี้
เหมือนกับเราดูให้เห็นเป็นพยาน ก็จะรู้จักตัวสิ่งเหล่านั้นอย่างแท้จริง โดยเอา ข้อมูลจริงมาตัดสินความรู้ในภายหลัง อย่าไปตัดสินก่อน เหมือนกับท่านมาเห็นผมอย่างนี้ อาจารย์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านก็ดูรายละเอียด ผมเป็นคนยังไง มีรายละเอียดอะไรบ้างที่พอดูได้ เก็บข้อมูลรายละเอียด พอได้ข้อมูลระดับหนึ่ง ท่านก็ตัดสินได้ว่า คนอย่างนี้ควรคบหรือไม่ควรคบ ควรฟังหรือไม่ควรฟัง อาศัยข้อมูลหลายๆ อย่างมารวมกัน ท่านจะเอาอะไรเล็กๆ น้อยๆ แล้วเอาความคิดตัวเองมาตัดสิน มันไม่ได้ อาจจะไม่ถูกต้อง ต้องเอาภาพรวม เก็บข้อมูลมา แต่ละคนมีทั้งดีและไม่ดีปนกัน
เราจะเอาแค่ความไม่ดีครั้งหนึ่งมาตัดสินว่า ไอ้หมอนี่มันเลว อย่างนี้ก็ยังไม่ได้ จะเอาแค่เขาทำงานพลาดทีหนึ่ง มาบอกว่า เธอไม่มีทางเจริญไปตลอดชาติ อย่างนี้ก็ไม่ได้ ต้องดูเป็นภาพรวม เช่น เขาทำงาน ๑๐๐ อย่าง พลาดไป ๘๐ อันนี้ควรไล่ออก แต่ถ้าทำงาน ๑๐๐ อย่าง พลาดไป ๔-๕ อย่าง อันนี้ก็มันไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมชาติ ก็ต้องดูเป็นภาพรวม ไม่ใช่ว่า แหม.. ทำงานมา ๑๐๐ อย่าง ผิดไปอย่างเดียวเท่านั้น โดนด่าซะเละ อย่างนี้ คนด่าก็โง่เกินไป เราผู้ถูกด่าก็อย่าไปโง่ตามคนด่าก็แล้วกัน เราก็ต้องดูเป็นภาพรวมเอา คนจะดีหรือไม่ดีเราก็ดูเป็นภาพรวม
การดูจิตก็เพื่อให้เข้าใจชัดว่า จิตชนิดนี้มันเกิดบ่อย จะได้ทราบอุปนิสัยของตัวเองเป็นอย่างไร ดูบ่อยๆ ก็เข้าใจ บางคนดูแล้วเห็นว่า จิตมีโทสะบ่อยๆ ก็เข้าใจตนเองว่า เรานี่.. คงสะสมพวกนี้มาเยอะ ต้องระมัดระวัง หากต้องการแก้ปัญหานี้ ก็ต้องใส่เหตุปัจจัย ทำกรรมฐานให้เหมาะสมก็จะกันได้บ้าง ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้ถึงจุดที่เพียงพอ มันก็จะหายได้ ถ้าเหตุปัจจัยไม่ถึงจุด ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เราก็จะรู้จักอุปนิสัยตัวเอง ที่รู้จักนี่ เพราะเราดู สังเกตการณ์ไป พอสังเกตการณ์บ่อยๆ ก็ได้ Fact ได้ Data มากลุ่มหนึ่ง พอได้ข้อเท็จจริงมา เราก็สามารถมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่เรียกว่าตัวเราได้ชัดขึ้น เห็นความไม่มีตัวตนอันแท้จริง เห็นความไม่แน่ไม่นอน เห็นความบังคับควบคุมไม่ได้ สะสมอะไรมา ก็ดูจากสิ่งที่เกิดบ่อยๆ
จิตนี้เกิดดับเปลี่ยนแปลงสืบเนื่องมาเรื่อยๆ สะสมสันดานชนิดไหนมา สันดานขี้เกียจหรือสันดานขยัน สันดานดีหรือสันดานเลว เราก็จะได้รู้ ไม่มีใครรู้ดีกว่าเราแล้วเรื่องนี้ เราต้องรู้เอง โดยการอาศัยการมีสติสัมปชัญญะ คอยเฝ้าดู สังเกตุ ได้ข้อมูลมา เราจะปรับปรุงแก้ไขอะไรต่างๆ ทำความรู้ให้มีขึ้นมากขึ้น อย่างนี้ก็ฝึกกันต่อไป พอมีความรู้ จะปรับนั่นปรับนี่ ระวังตัวเองอย่างนั้นอย่างนี้ จุดนั้นจุดนี้ ก็เพียรทำเอา เราเป็นคนขี้โกรธ ถ้าไปเจอกับคนที่เราไม่ชอบ ความโกรธขึ้นมาอยู่เรื่อย บางครั้งเอาไม่อยู่ ฉะนั้น ต้องระวังไว้ เวลาที่ไปเจอใคร แผ่เมตตา พิจารณาโดยความเป็นธาตุไว้ก่อน ดักหน้าไว้ ก่อนเปิดประตูหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ให้ใจเย็นๆ ไว้ จะได้รู้จักตนเอง และหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป
จิตหลุดพ้นแล้ว ปล่อยวางได้ ก็ให้รู้จิตมันปล่อยวาง ไม่ใช่เราปล่อยวาง จิตมันไม่หลุดพ้น มันติดข้อง ก็เป็นจิตติดข้อง ไม่หลุดไม่พ้น ก็เป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเรา ในการดูจิต เราไม่ได้ดูให้มันวางหรือไม่วาง ดูให้มันเห็นว่าจิตมันเป็นอย่างนั้น ปล่อยวางก็เป็นเรื่องของจิต ไม่วางก็เป็นเรื่องของจิตมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา
จิตมันไม่ปล่อย คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ยึดถืออยู่จนนอนไม่หลับ ก็เป็นเรื่องของจิตไม่ใช่เรื่องของเรา ก็จะเข้าใจจิตโดยผ่านสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ประกอบขึ้นในจิตนั้นแหละ เฝ้ามองดู สังเกตดูบ่อยๆ จนกระทั่งเห็นชัด ได้ความรู้สรุปลงไปว่า จิตเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นแค่จิตเท่านั้นเอง ไม่ว่าจิตชนิดไหนๆ ก็เป็นสักแต่ว่าจิต ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่จิตของเรา นี้เรียกว่าตามรู้จิตในจิต หรือพิจารณาเห็นจิตในจิต จิตในภายใน จิตในภายนอก จิตตัวเอง จิตคนอื่น ก็พิจารณาเหมือนกัน
พระพุทธเจ้าทรงสรุปตอนท้าย
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิต ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า “จิตมีอยู่” ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิอยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างนี้แล
นี้เป็นการตามรู้จิตในจิต เห็นจิตว่าเป็นจิต ภายในคือตนเอง เป็นสักแต่ว่าจิตที่เป็นอย่างนั้น มีอาการอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวเรา เป็นจิตที่มีราคะ เป็นจิตที่มีความโกรธ เป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นครั้งๆ อยู่ไม่นาน ภายนอกคือคนอื่น ก็เป็นสักแต่ว่าจิต ไม่ใช่คนอื่นโกรธ เป็นจิตที่มีความโกรธเกิดประกอบ ทำให้เกิดกิริยาอาการอย่างนั้นติดตามมา เป็นสักแต่ว่าจิตที่เกิดเป็นครั้งๆ ดูบ่อยๆ ก็จะเข้าใจภาพรวมได้ จะได้ไม่ยึดอันไหนอันหนึ่ง เรานี่หลงเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา เช่น คนอื่นคิดไม่ดีก็ว่าเขาเป็นคนเลว ทั้งๆ ที่ความคิดดีก็มีอยู่ เวลาเขาแสดงความเห็นที่โง่ๆ ไม่ได้เรื่อง ก็บอกว่าเขาโง่ ทั้งๆ ที่บางเรื่องเขาก็ฉลาดเหมือนกัน โง่บางเรื่อง ฉลาดบางเรื่อง เราต้องดูเป็นภาพรวม
พอดูบ่อยๆ เข้าใจภาพรวมแล้ว ความยึดถือตัวตนก็ลดลง ยึดถือเขายึดถือเราก็ลดลง เพราะเข้าใจว่า เออ.. นี้เป็นกระแสของเหตุปัจจัย กระแสของเรา กับ กระแสของคนอื่น ก็เป็นเพียงกระแสรูปนามเหมือนกันนั่นแหละ เป็นเพียงสันดานของแต่ละคน คนไหนมีกิเลสอะไรมากกว่าหรือน้อยกว่า ก็บริหารกันไปตามสมควร แก้ไขกันไป
นี้เป็นการดูจิตในจิต พิจารณาเห็นจิตในจิต เป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๓ ถ้าค่อยๆ ฝึกหัด สังเกต ดูจิตดูใจตนเองเสมอๆ ต่อไปสติสัมปชัญญะก็จะมากขึ้น เมื่อมีมากขึ้น ก็มีสติคุ้มครองรักษาจิต มีอะไรเกิดขึ้นก็ดูจิตดูใจตนเองไว้ คุยกับคนอื่นก็ดูใจตัวเองไว้ อยู่คนเดียวก็ดูตัวเองไว้ กลัวผีก็ดูตัวเองไว้ ดูจิตว่ามันกลัวผี ไม่ใช่ไปดูผี พวกเรานี่ พอมืดปั๊บ ไปดูว่ามีผีหรือเปล่า พอนั่งหลับตา โอย.. ผีมาข้างหลังแล้ว ต้องลืมตาดูว่า ผีมันมาจริงหรือเปล่า อย่างนี้ไปดูผี ให้ดูจิตตนเองไว้ จิตมีความกลัว มีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หลับตาอยู่ กลัวผี ก็รู้ว่าจิตมันกลัว มีความกลัวเกิดขึ้นในจิต ไม่ต้องไปดูผีหรือดูอะไรอย่างอื่น
หากเข้าใจวิธีปฏิบัติ ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ทุกที่ทุกเวลา และทุกสถานการณ์ กายและจิตก็ไปกับเราตลอดเวลาอยู่แล้ว ปฏิบัติโดยการรู้กายในกาย รู้เวทนาในเวทนา รู้จิตในจิต รู้อันไหนก็ได้ เพื่อให้มีสติปัญญาเพิ่มขึ้น

๓.๔ ธัมมานุปัสสนา
ต่อไปอีกหมวดหนึ่ง ธัมมานุปัสนา การตามดูธรรมในธรรม คำว่า ธรรม คือสิ่งที่ไม่มีตัวตน เป็นสภาวะ ธรรมะฝ่ายสังขาร คือ สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย มีเมื่อเกิดขึ้น เมื่อหมดเหตุก็ดับไป ไม่ได้พูดว่ามันมีอยู่จริงๆ จังๆ เวลาพูดถึงเวทนา ก็ไม่ได้พูดถึงว่าเวทนามีจริงๆ มั่นคงถาวร พูดถึงเวทนานั้น เกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง พูดถึงสุขเวทนา ก็ไม่ได้พูดว่าสุขเวทนามันเที่ยงแท้หรือมีตัวตน มันเป็นธรรมะ เกิดจากผัสสะเป็นครั้งๆ เท่านั้น กระทบผัสสะชนิดที่จะทำให้เกิดสุข ความสุขก็เกิดขึ้น กระทบผัสสะชนิดที่จะทำให้เกิดทุกข์ ความทุกข์ก็เกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่าพูดในแบบธรรมะ ผู้ที่จะมองดูธรรมในธรรมได้ ต้องเป็นผู้ที่มีสติปัญญาพอสมควร ถ้ายังมีปัญญาน้อยอยู่ ก็ไม่เป็นไร ยังมองไม่เห็น พิจารณาไม่ออก ก็ฝึกชั้นต้นๆ มาก่อน มีสติสัมปชัญญะดีแล้ว จิตมีความตั้งมั่นดี มองดู ก็จะเห็นความจริงได้
ผู้ที่จะได้ตรัสรู้ธรรม ต้องเห็นธรรมในธรรมทั้งนั้น ตอนต้นจะฝึกหมวดไหนมาก็ตาม ท้ายที่สุดก็จะเห็นธรรมในธรรมได้เหมือนกัน ตอนแรกอาจจะเห็นกายในกาย ท้ายที่สุดก็จะเห็นธรรมเหมือนกัน ตอนแรกเห็นกายว่าเป็นเพียงสักแต่ว่ากาย ต่อมา ปัญญามากขึ้น เห็นว่ากายนั้นเป็นรูปที่ประชุมรวมกัน เกิดเพราะเหตุปัจจัยอย่างนี้ๆ เป็นการเห็นธรรมในธรรม ตอนแรกเห็นเวทนาว่าเป็นสักแต่เวทนา ต่อมาก็เห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เวทนาเกิด เห็นว่าเวทนาก็เป็นธรรมะชนิดหนึ่ง เป็นสังขารที่ไม่ได้มีอยู่ก่อน เกิดเพราะมีเหตุ มันจะดับไปก็ต่อเมื่อเหตุมันดับ เป็นเห็นธรรมในธรรม จิตก็ทำนองเดียวกัน แต่เดิมดูจิตว่าเป็นจิตว่าจิตมีอาการอย่างโน้นอย่างนี้ ต่อมา ก็เห็นแยกแยะจิตเป็นอย่างหนึ่ง ราคะก็เป็นอย่างหนึ่ง เป็นคนละอย่างกัน ล้วนเป็นธรรมะที่ไม่เที่ยงเหมือนกัน มีเหตุปัจจัยอย่างนี้ๆ ราคะจึงเกิดขึ้น เพราะไปมองว่าสวยงาม น่าครอบครองเป็นเจ้าของ ราคะจึงเกิดขึ้น ความรู้ทำนองนี้เรียกว่ารู้จักธรรมในธรรม
ในสมัยพุทธกาล มีผู้บรรลุโดยการเจริญหมวดนี้กันมากมาย มีปรากฏในพระสูตรต่างๆ เช่น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรม ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้แสดงเรื่องอริยสัจ อยู่หมวดธัมมานุปัสสนา ถ้ามีสติปัญญาดีได้ฝึกสติสัมปชัญญะมาพอควรแล้ว มีจิตที่พร้อม พระพุทธเจ้าทรงแสดงหมวดนี้ พิจารณาดูตามเทศนา เข้าใจแทงทะลุก็บรรลุธรรมได้
ต่อมา หลังจากพระปัญจวัคคีย์บรรลุโสดาบันแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร พระสูตรนี้ทรงแสดงเกี่ยวกับขันธ์ ขันธ์ก็เป็นหมวดหนึ่งในธัมมานุปัสสนานั่นเอง ผู้เคยปฏิบัติมา มีปัญญา ฟังแล้ว พิจารณาตาม ก็บรรลุธรรม
ต่อจากนั้นมาอีก พระพุทธองค์ทรงธรรมโปรดชฎิล ชฎิล ๓ พี่น้อง ผู้พี่มีบริวาร ๕๐๐ น้องชายคนที่ ๒ มีบริวาร ๓๐๐ น้องชายคนที่ ๓ มีบริวาร ๒๐๐ ชฏิลทั้งหลายเหล่านี้ ก็ปฏิบัติธรรมตามวิธีของท่าน โดยการบูชาไฟ ทำสมาธิตามแนวของตนเอง พระพุทธเจ้าเสด็จมา ตอนแรกไม่เลื่อมใส ก็ทรมานด้วยวิธีต่างๆ จนเลื่อมใส ขอบวช พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นของร้อน ร้อนด้วยไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ถูกกิเลสเผาแล้ว กิเลสก็พาไปทำกรรม ทำให้เกิดอีก ถูกเผาด้วยไฟ คือ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสะ เป็นไฟเผาตนเพิ่มมาอีกชั้นหนึ่ง อย่างนี้นะ พอแสดงเรื่องจบ ท่านเหล่านั้นบรรลุอรหันต์กัน ๑,๐๐๓ รูป หมวดนี้ก็อยู่ในธัมมานุปัสสนาเหมือนกัน
ต่อไป จะพูดถึงหมวดธัมมานุปัสนา ถ้าท่านได้ฝึกจิตพร้อมก็บรรลุได้เหมือนกัน อันนี้พูดให้ความหวังเอาไว้บ้าง บางคนพื้นฐานยังไม่ได้เรื่องเลย เราพูดแบบเรียนปริยัติ พูดแบบคนมีอาจารย์ดี คือพระพุทธเจ้าสอนอะไรมา เราไปเรียนรู้ แล้วก็จำมาพูด พูดได้หมด พูดถึงเป็นอรหันต์เลย แต่ตัวเองไม่ได้เป็น อาจารย์ดี เราก็พูดได้ จำคำอาจารย์มา ทำนองนี้
ถ้ามีปัญญาแล้วก็มองทะลุว่าเป็นธรรมะ เห็นธรรมะเป็นธรรมะ ก็บรรลุธรรมได้ อาจบรรลุถึงความหลุดพ้นได้ในขณะที่ฟังนั้นเอง หรือในขณะที่เอาไปพิจารณา เอาไปสวดไปท่อง หรือเอาไปปฏิบัติในแง่ใดแง่หนึ่ง ถ้ามองแล้วก็ทะลุได้เห็นว่ามันเป็นธรรมะ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นของที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี้ก็บรรลุธรรมได้
ในหมวดธัมมานุปัสนานั้น แยกวิธีปฏิบัติย่อยๆ เป็น ๕ หมวด คือ
หมวดที่ ๑ หมวดนิวรณ์
หมวดที่ ๒ หมวดขันธ์
หมวดที่ ๓ หมวดอายตนะ
หมวดที่ ๔ หมวดโพชฌงค์
หมวดที่ ๕ หมวดอริยสัจ
หมวดนิวรณ์แสดงถึงฝ่ายกิเลส กิเลสก็ให้เห็นว่าเป็นธรรมะอย่างหน่ึง ไม่ใช่ให้ไปรังเกียจกิเลส ให้เห็นว่าเป็นธรรมะ เห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้มันเกิด และรู้จักรายละเอียดต่างๆ ของมัน ไม่เหมือนกับตอนดูจิต ดูจิตนั้น ดูรวมๆ ไป จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ ดูรวมๆ แบบคนมีปัญญาน้อย ส่วนดูธรรมะ มองทะลุ เห็นธรรมะแต่ละอย่าง จิตเป็นอย่าง หนึ่ง ราคะเป็นอย่างหนึ่ง คนละอย่างกัน อันหนึ่งเป็นนิวรณ์ ทำหน้าที่ปิดกั้น ขวางไม่ให้ก้าวหน้าในกุศล บังปัญญา อีกอันหนึ่งเป็นจิต จิตกับกิเลสนั้นคนละอย่างกัน จิตเป็นจิต กิเลสเป็นกิเลส กิเลสอันนี้ก็เป็นธรรมะด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นกิเลส แล้วให้เราไปรังเกียจมัน ไม่ใช่อย่างนั้น ให้เห็นว่ามันเป็นธรรมะ เกิดจากเหตุอย่างนี้ๆ หมดไปเพราะหมดเหตุอย่างนี้ๆ
ธรรมะฝ่ายตรัสรู้ โพชฌงค์ก็เหมือนกัน สติ ธัมมวิจย ที่เกิดขึ้น ก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จิต สมาธิที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่จิต ถ้าตามดูจิต ก็ดูว่าจิตมีสมาธิ จิตมีสมาธิเกิดประกอบเป็นอย่างนี้ ดูรวมๆ ไป พอถึงธัมมานุปัสสนา ดูแบบแยกแยะส่วนประกอบ เพื่อเข้าใจภาพรวมของสิ่งที่เรียกว่าตัวตนชัดขึ้น เห็นเป็นส่วนประกอบของธรรมะหลายๆ อย่าง ที่ล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย ที่ว่าจิตมีสมาธิ แท้ที่จริง จิตก็เป็นอันหนึ่ง สมาธิก็เป็นอันหนึ่ง และสมาธินั่นเองก็เกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง อันนี้เรียกว่าตามดูธรรมะ

๓.๔.๑ หมวดนิวรณ์
ในหมวดนิวรณ์ ข้อ ๓๘๒ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อกามฉันทะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “กามฉันทะภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่อกามฉันทะภายใน ไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “กามฉันทะภายในของเราไม่มีอยู่” การเกิดขึ้น แห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และกามฉันทะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด เหตุนั้น
๒. เมื่อพยาบาทภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “พยาบาทภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่อพยาบาทภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “พยาบาทภายในของเราไม่มีอยู่” การเกิดขึ้นแห่งพยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละพยาบาทที่ เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และพยาบาทที่ละ ได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๓. เมื่อถีนมิทธะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “ถีนมิทธะภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่อถีนมิทธะภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “ถีนมิทธะภายในของเราไม่มีอยู่” การเกิดขึ้นแห่ง ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละ ถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และ ถีนมิทธะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด เหตุนั้น
๔. เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “อุทธัจจกุกกุจจะภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “อุทธัจจกุกกุจจะภายในของเราไม่มีอยู่” การเกิดขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และอุทธัจจกุกกุจจะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. เมื่อวิจิกิจฉาภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “วิจิกิจฉา ภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่อวิจิกิจฉาภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “วิจิกิจฉาภายในของเราไม่มีอยู่” การเกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้น แล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และวิจิกิจฉาที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า “ธรรมมีอยู่” ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิอยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ อยู่ อย่างนี้แล
หมวดนิวรณ์ จบ
กามฉันทะเป็นธรรมะอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในจิต เหมือนแขกเข้ามาในบ้าน ส่วนจิตนั้นเป็นเจ้าบ้าน มีแขกมาเยี่ยม แต่แขกตัวนี้ตัวดำสักหน่อย บางคนนึกว่ามันเป็นตัวขาวซะอีก เพราะทำให้มีความเพลิดเพลิน อยากได้ ติดข้อง ต้องการ ในการปฏิบัตินี้ ท่านก็ให้เห็นว่าเป็นธรรมะ โดยแยกออกเป็น ๕ ประเด็น ได้แก่
(๑) เมื่อกามฉันทะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “กามฉันทะภายในของเรามีอยู่”
(๒) เมื่อกามฉันทะภายใน ไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “กามฉันทะภายในของเราไม่มีอยู่”
(๓) การเกิดขึ้น แห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
(๔) การละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
(๕) กามฉันทะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด เหตุนั้น
ลองดูว่าลึกซึ้งขนาดไหน ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะมากพอสมควร จึงจะแยกแยะได้ กามฉันทะ เป็นอย่างหนึ่ง จิตเป็นอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เราพอใจ ไม่ใช่ความพอใจของเรา ความพอใจเกิดขึ้นเกิดขึ้นในจิต กามฉันทะเกิดขึ้นเพราะความคิดที่ไม่แยบคาย ปล่อยจิตล่องลอยไป คิดถึงสิ่งที่น่าพอใจ คิดในแง่สวยงาม ให้ประโยชน์ ทำให้เราเพลิดเพลิน ทำให้เราเป็นสุข ก็ให้เห็นเหตุเหล่านั้นตามความเป็นจริง เหตุมันก็ไม่เที่ยง สิ่งที่เกิดจากเหตุที่ไม่เที่ยง ก็ไม่อาจจะคงทนอยู่ได้ เมื่อเหตุหมด มันก็หมดไป หรือเราทำกรรมฐาน พิจารณาความไม่สวยไม่งาม พิจารณาเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ อยู่ กามฉันทะก็ไม่เกิดขึ้น ละได้เป็นครั้งๆ ไป ส่วนจะละได้เด็ดขาด ก็ต้องอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มองเห็นอย่างนี้ตามที่เป็นจริง
การเห็นธรรมะ มองเห็นสภาวะหลายอย่างแยกกัน ความพอใจเป็นสภาวะหนึ่ง จิตเป็นสภาวะหนึ่ง สติที่ระลึกได้เป็นสภาวะหนึ่ง ปัญญาที่ตามดูก็เป็นอีกสภาวะหนึ่ง กามฉันทะเกิดขึ้นในจิต ก็รู้ว่ากำลังเกิดขึ้น ไม่เกิด ก็รู้ว่าไม่เกิด รู้ชัดขึ้นไปอีกว่า กามฉันทะไม่มีตัวตน เป็นสังขาร ไม่ได้มีอยู่ก่อน มีเมื่อเกิดขึ้น กามฉันทะนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร ก็รู้จักเหตุปัจจัยของมันด้วย ความพอใจเกิดเพราะอะไร เกิดเพราะปล่อยจิตคิดถึงสิ่งที่น่ารัก คิดว่าสวยงาม เกิดเพราะความหลง หลงคิดว่าน่ารักน่าพอใจ ไม่ได้มาลอยๆ ไม่ใช่ว่า ฉันนี่เลวเหลือเกิน เห็นอะไรนิดอะไรหน่อยก็พอใจ อยากได้อยู่เรื่อย ความพอใจไม่ได้มาลอยๆ มีเหตุมีปัจจัย เป็นเพราะไปคิดในแง่มุมที่มันสวยงาม มันจะให้ความสุขแก่เราได้ คิดในแง่มุมที่น่าพอใจ ช่วยทำให้เราดูดี คิดไม่ถูกอย่างนี้ ความพอใจจึงเกิดขึ้น
เรารู้ไม่ทันความคิด รู้ไม่ทันจิตตัวเอง สติปัญญาไม่พอ บางทีรู้สึกว่ามันมาลอยๆ เห็นปั๊บ รักเลย เห็นแล้วก็โกรธเลย เห็นเจ้านายเดินมา เขาด่าเราเมื่อวานนี้ เห็นปั๊บก็เครียดเลย ความเครียดไม่ได้เกิดลอยๆ นะ มันมีเหตุหลายอย่าง จึงเกิดขึ้น ถ้าพูดแบบช้าๆ แยกแยะให้เห็นชัด ตายังดีอยู่ มีหน้าเจ้านายมากระทบตา สองอย่างกระทบกันก็เกิดการรับรู้ขึ้น เรียกว่าจักขุวิญญาณ ตา บวก รูปหน้าเจ้านาย บวก จักขุวิญญาณ อย่างนี้เรียกว่าผัสสะ พอรับรู้อย่างนี้แล้ว ขาดสติ ไม่ตามดู ไม่ได้สังเกต ก็คิดย้อนอดีตว่า เขาเคยด่าเราอย่างนี้ๆ สัญญาอดีต ความจำหมายของเก่า ขุดข้อมูลอดีตมา สัญญาปรุงจิต แล้วก็คิดสลับซับซ้อนต่อไป ใส่ใจไม่ถูก ไปมองในแง่กระทบกระทั่ง ไม่น่าพอใจ ไม่ถูกใจ ความโกรธก็เกิดขึ้น อันนี้ปรุงขึ้นมา
การที่จะเห็นชัด เข้าใจชัดถึงเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะที่รวดเร็วและว่องไว รักษาจิตอยู่เสมอ จะได้รู้ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในจิตบ้าง อะไรที่เคยมีแล้วหายไป เกิดเพราะเหตุปัจจัยอะไร ไม่เกิดเพราะอะไร จะสามารถตามดูได้
ความชอบอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นมานี้ ไม่ได้มาลอยๆ อาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ไปเห็นเสื้อสวยๆ เราก็ชอบ ไม่ใช่เพราะเสื้อสวยนะ บางคนเห็นเสื้อสวย เขาก็ไม่ได้ชอบ แต่เราชอบ การมองเห็นเหตุปัจจัย คิดแบบนี้ มองแง่นี้ ใส่ใจไปอย่างนี้ ทำให้กิเลสเกิดขึ้น มองมุมนี้ พิจารณาอย่างนี้ ทำกรรมฐานนี้ กิเลสหายไป กิเลสไม่เกิด นี้เรียกว่าตามดูธรรมะ เห็นความไม่มีตัวไม่มีตน ทุกสิ่งเกิดเมื่อมีเหตุ ดับไปเมื่อหมดเหตุ
พยาบาทซึ่งเป็นนิวรณ์ข้อที่ ๒ ก็เหมือนกัน ความหงุดหงิด รำคาญ ความโกรธ ขัดเคือง ไม่พอใจ เจ็บปวดในใจ เกิดขึ้นมาภายในใจ มีขึ้นมาภายในจิต ก็ให้รู้ว่าพยาบาทมีอยู่ในจิต ไม่มีก็รู้ว่าไม่มีอยู่ ไม่เกิดขึ้นภายในจิต พยาบาทนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร ก็รู้เหตุอันนั้น หมดไปเพราะเหตุอะไรก็รู้ มันจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะอริยมรรคระดับไหน ก็รู้ตามที่เป็นจริง
ความหงุดหงิด รำคาญ ขัดเคืองใจ ไม่ได้มาลอยๆ นะ เกิดเพราะว่ามีเหตุปัจจัย ท่านเห็นคนอื่นเดินไม่สวย ท่านก็ขัดเคืองใจ หมอนี่.. เดินไม่สวยเลย ตูดโด่ง ไม่ใช่เขาเดินไม่สวย เป็นเพราะท่านไปสนใจตูดของเขานั่นแหละ ใส่ใจในแง่อโยนิโสมนสิการ สนใจในแง่ที่มันขัดเคือง ไม่ถูกชะตา ไม่ถูกใจ ไม่เหมือนที่อยาก ไม่เหมือนที่ต้องการ ไม่เหมือนที่คิดไว้ สนใจในแง่สวยงาม กามฉันทะก็เกิด ตอนนี้สนใจในแง่ที่ไม่ถูกใจ ทำให้เกิดพยาบาท ขัดเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ได้มาลอยๆ นะ ไม่ใช่คนเดินไม่สวย ไม่ใช่เพราะรถติด ไม่ใช่เพราะฝนตกแดดออกอะไร ถ้าท่านชอบฝนตก ฝนตกขึ้นมา ท่านก็ไม่ขัดเคืองใจ เพราะคิดไปในแง่มุมหนึ่ง ถ้าขับรถไปกับแฟน จีบกันใหม่ๆ อยากให้รถติด รถมันติดก็สบายใจ เกิดเป็นกิเลสคือกามฉันทะ ถ้าแต่งงานกันแล้ว อยากให้ตายไวๆ รถติดอยู่ ไปไหนไม่รอด ไม่อยากเห็นหน้า แต่ต้องมาทนเห็น อย่างนี้เกิดพยาบาทขึ้นมา มีเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังมากมายอย่างนี้
เห็นอย่างนี้ ก็จะเข้าใจชัดถึงความเป็นธรรมะ เห็นความเป็นสังขารของนิวรณ์ต่างๆ เราไม่ได้โทษว่ากามฉันทะมันเลว ให้เห็นว่าไม่มีตัวตน เกิดเพราะเหตุอย่างนี้ๆ มีเหตุอย่างนี้ ผลอย่างนี้จึงเกิดขึ้น เปลี่ยนเหตุไป ผลก็เปลี่ยนไป สภาวะอื่นๆ ในหมวดนิวรณ์ก็พิจารณาในทำนองเดียวกัน นิวรณ์มีอยู่ ๕ อย่าง คือ
กามฉันทะ ความพอใจ ชอบใจ
พยาปาทะ ความขัดเคืองใจ หงุดหงิด รำคาญ ไม่ชอบใจ
ถีนมิทธะ ความท้อถอย ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน
อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลง ความลังเลสงสัย ไม่ลงใจ เหมือนทางสองแพร่ง
สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นในจิต ความสงสัยเกิดขึ้นในจิต ก็รู้ว่าความสงสัยมีอยู่ภายในจิต ความสงสัยไม่มี ไม่เกิดขึ้น ก็รู้ว่าความสงสัยไม่มีอยู่ภายในจิต ความสงสัยเกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร ก็รู้เหตุปัจจัย มีเหตุอย่างนี้ๆ ความสงสัยแง่นี้จึงเกิดขึ้น ความสงสัยมันหายไปเพราะเหตุอะไร ก็รู้จักว่าเพราะอย่างนี้ๆ ความสงสัยจึงหายไป ความสงสัยไม่เกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร ก็รู้ให้รู้ นี้เรียกว่าได้รู้จักนิวรณ์ทั้ง ๕ ในแบบธัมมานุปัสสนา
ธัมมานุปัสสนาจึงเป็นการเห็นธรรมะ ดูให้เห็นว่าเป็นสักแต่ว่าธรรมะ อะไรๆ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ก็เป็นธรรมะ สังขารเกิดเพราะมีเหตุ ก็เห็นเหตุให้ชัดเจน เหตุต่างกัน ผลก็ต่างกัน ไม่มีใครมีอำนาจ เห็นสิ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตน ล้วนเกิดไปตามเหตุปัจจัย เห็นเหตุเห็นปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิด ตัวเหตุก็ไม่มีตัวตน เป็นของเกิดดับ ตัวมันที่เกิดจากปัจจัยที่ไม่เที่ยง ก็ไม่อาจจะทนอยู่ได้นาน
วันนี้บรรยายมา ก็สมควรแก่เวลาเท่านี้นะครับ อนุโมทนาทุกท่าน
______________________