สติปัฏฐาน ๔ ตอนที่ ๑

สติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน ๔ ตอนที่ ๑

วันนี้ บรรยายในหัวข้อที่ชื่อว่า โพธิปักขิยธรรม ตอนที่ ๑ ซึ่งการบรรยายในชุดโพธิปักขิยธรรมนี้ จะบรรยายหลายครั้ง บรรยายไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะนึกอะไรไม่ออก จึงค่อยหาเรื่องใหม่มาพูด

ในการบรรยายธรรมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ผมได้พูดปูพื้นให้มีความเห็นที่ตรง เพื่อจะได้รู้จักธรรมะกลุ่มโพธิปักขิยธรรมให้ถูกต้อง และทำให้มีขึ้น สิ่งที่เป็นพื้นฐานสำหรับความงอกงามของกุศลธรรมทั้งหลาย พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ ธรรมะที่เป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย มีอยู่ ๒ ประการ

๑. ธรรมพื้นฐาน

อันที่ ๑ คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี อันที่ ๒ คือ ความเห็นที่ตรง ความเห็นที่ถูกต้อง นี้เป็นพื้นฐานเป็นเบื้องต้น หลังจากเรามีพื้นฐานที่ดีแล้ว ลำดับต่อไปเป็นธรรมะชุดโพธิปักขิยธรรม

อันที่ ๑ ศีลที่บริสุทธิ์ดี ก็คือการงดเว้นทุจริตต่างๆ รู้จักว่าอันไหนไม่ดีก็งดเว้น อันไหนเป็นกรรมชั่ว เป็นทุจริต นำมาทุกข์มาให้ก็ให้งดเว้น งดเว้นกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ และมโนทุจริต ๓ นี้เรียกว่าศีลที่บริสุทธิ์ดี เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย ถ้าเราทั้งหลายอยากจะเจริญงอกงามในกุศลธรรม จะต้องงดเว้นจากทุจริต ถ้าไม่งดเว้นจากทุจริต จะทำบุญเท่าไหร่ก็ทำไม่ขึ้น ทำกุศลมากมายก็เป็นกุศลปลอมๆ หรือพูดเอาเองทั้งนั้น เพราะว่ามันไม่อาจจะงอกงามได้ พวกเราโดยทั่วไปเวลาพูดถึงการทำบุญ ก็ไปบริจาคสิ่งนั้นบ้างสิ่งนี้บ้าง ทำบุญวัดนั้นบ้างวัดนี้บ้าง ทอดกฐินบ้าง ทอดผ้าป่าบ้าง อะไรก็ว่าไป ก็ดีเหมือนกัน ดีกว่าไม่ทำ แต่กุศลธรรมทั้งหลายไม่เจริญก้าวหน้า เพราะว่าเบื้องต้นของกุศลธรรมมันไม่มี คือ เราไม่รู้จักงดเว้นทุจริตนั่นเอง

กายทุจริต ๓ การกระทำทางกายที่ไม่ดี ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม วจีทุกจริต ๔ ได้แก่ พูดโกหก พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ มโนทุจริต ๓ ได้แก่ อภิชฌา อยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตน พยาบาท ความคิดมุ่งร้ายผู้อื่น ผูกเวร การคิดทำร้ายคนอื่น แช่งคนอื่น เห็นคนอื่นเป็นศัตรู และมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นที่ผิดไปจากความจริง เจตนาไม่ดีเกิดขึ้นต้องละ ถ้าทำตามอำนาจของกิเลสอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้จิตไม่มีพื้นฐานที่ดี พอไม่มีพื้นฐานที่ดี กุศลธรรมทั้งหลายก็ไม่เจริญไม่ก้าวหน้า ถึงจะทำบุญ บุญก็ไม่เจริญก้าวหน้า ก็ทำแล้วก็แล้วกันไป คือ เจตนาที่เป็นบุญเกิดแล้วมันก็ดับไป เมื่อไม่มีพื้นฐานที่ดี มันดับไปแล้ว มันก็หายไปเลย ไม่ก้าวหน้า

ถ้ามีพื้นฐานที่ดี ทำบุญ บุญเกิดแล้วดับไป มันเกิดใหม่ เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป คำว่า ไม่เที่ยง หมายถึงมันเกิดใหม่ก็ได้ เจริญยิ่งขึ้นกว่าเดิมก็ได้ถ้ามีพื้นฐานที่ดี แต่พวกเรานี้ส่วนใหญ่ไม่เที่ยงก็คือหายไปเลย ทำบุญเสร็จแล้วก็หายไปเลย คือ ถึงช่วงฤดูกาลทำบุญก็ทำบุญ เสร็จแล้วก็หายไปเงียบไปเลย บุญไม่เกิดอีก ที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าไม่ได้ชำระเบื้องต้นให้ดี คือไม่มีศีลนั่นเอง ไม่งดเว้นทุจริตต่างๆ กายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ และมโนทุจริต ๓

อันที่ ๒ คือ ความเห็นที่ตรง ผมได้พูดธรรมะให้ท่านฟังหลายๆ ครั้ง ก็เพื่อให้มีความเห็นที่ตรง ถ้ามีความเห็นที่ตรงแล้ว การที่กุศลธรรมทั้งหลายเจริญก้าวหน้าก็เป็นไปได้ ถ้าความเห็นไม่ตรงแล้ว พื้นฐานไม่ดี ฉะนั้น ต้องมีความเห็นที่ตรง โดยเฉพาะความเห็นในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อมั่นเรื่องกรรมและผลของกรรม หวังผลที่มาจากการกระทำ ไม่หวังผลที่คนนั้นช่วยคนนี้ช่วย หรือไม่หวังผลอะไรลมๆ แล้งๆ ที่ตามองไม่เห็น ทำอะไรก็ทำไปด้วยความรู้ความเข้าใจ ทำกันแบบเห็นๆ ไม่เชื่ออะไรที่ดูลึกลับหรือของผลุบๆ โผล่ๆ และมีความเข้าใจในธรรมะ เป็นสิ่งไม่มีตัวไม่มีตน มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย พอรู้ว่ามันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เราอยากได้อะไร ก็ทำด้วยความพากเพียรขยัน ของเก่าสิ่งไหนไม่ดีเราก็อย่าไปทำ ให้งดเว้น ทำเหตุปัจจัยให้ของใหม่มันเกิดขึ้นในทางที่น่าพอใจหรือในทางที่ดีขึ้น

ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ก็จะเจริญก้าวหน้าในธรรมวินัยได้ ไม่ต้องพยายามไปแก้ของเก่า ให้รู้ว่าของเก่ามันไม่ดี แล้วก็ทำเหตุ ใส่เหตุเข้าไป ให้ของใหม่เกิดขึ้นในสิ่งที่น่าพอใจ ถ้ามีความเห็นผิดมันก็จะวนเวียน สำหรับผู้ที่มีความเห็นถูกต้องแล้ว จะเป็นผู้ที่ไม่รอหวังผล ลมๆ แล้งๆ ไม่รอว่า เอาล่ะ.. มาฟังอาจารย์เดือนละครั้งแล้วจะดีขึ้น อย่างนี้ลมๆ แล้งๆ เกินไป มันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอก ต้องลงมือทำด้วยตัวเอง ต้องหาความรู้ พยายามฝึกฝน ต้องขยัน ทำด้วยตนเอง โดยส่วนใหญ่นั้นพวกเราชอบพึ่งคนอื่น พอพึ่งคนอื่นแล้วก็สบายใจไปเป็นพักๆ ดีเหมือนกัน มันไม่เหนื่อย แต่ก็ไม่ค่อยได้อะไรหรอก การหวังพึ่งคนอื่นทำให้เราโง่ ทำให้เราไม่รู้เรื่อง ฉะนั้น ความเชื่อมั่นเรื่องกรรมและผลของกรรม หวังผลจากการกระทำที่เห็นตรงหน้า เรารู้เท่านี้เราก็ทำเท่านี้ เข้าใจเท่านี้เราก็ทำเท่านี้ ทำไปอย่างเห็นๆ อย่างนี้ อันนี้เป็นเบื้องต้นของกุศลธรรม กุศลธรรมชั้นสูงนี้ก็จะเป็นชุดโพธิปักขิยธรรม ต้องมีพื้นฐานที่ดี ๒ อันนี้ จึงจะทำให้ชุดโพธิปักขิยธรรมนั้นเกิดขึ้นมาได้

ตัวธรรมะขั้นพื้นฐานมี ๒ อัน อันที่ ๑ คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี งดเว้นกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เราทั้งหลายต้องฝึกให้มีความอดทน แล้วก็งดเว้นให้ได้ ถ้างดเว้นได้ก็จะเป็นผู้ที่ชำระจิต ให้เป็นพื้นฐานที่ดี เหมาะสำหรับการเกิดขึ้นของกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นที่รองรับของธรรมะเบื้องสูงขึ้นไปได้ ถ้ายังไม่รู้จักงดเว้น ทำอะไรตามกิเลสอยู่เรื่อย ไม่รู้จักอดทน ไม่รู้จักเข้มแข็ง ไม่ระมัดระวัง มีอะไรก็ยอมแพ้อยู่เรื่อย อย่างนี้ มันก็ไม่ก้าวหน้า อันที่ ๒ ก็คือ ความเห็นที่ตรง ความเห็นที่ตรงนี้ ก็ได้มาจากการได้ฟังธรรม แล้วก็เพียรพยายามฝึกฝนไปด้วยตัวเอง ถ้าฟังธรรมะโดยถูกต้อง เราก็จะเข้าใจหลักการของพระพุทธศาสนา

คำสอนพระพุทธศาสนานี้ต่างจากคำสอนอื่นๆ คือ เรื่องความไม่มีตัวไม่มีตน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปอยู่นี้ เป็นไปอยู่ในรูปของกระแส กระแสของนามรูป กระแสของขันธ์ ๕ เป็นไปอยู่ในรูปกระแส เป็นของไม่มีตัวไม่มีตน เกิดดับเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของมัน ถ้าเรารู้อย่างนี้ ก็จะเป็นผู้ที่ขยันทำเหตุปัจจัย ใส่เหตุปัจจัยเข้าไป สมมติในเมื่อวานนี้เราเคยทำผิดมาแล้ว สิ่งที่เคยทำผิดมันก็ดับไปแล้ว มันไม่ได้กระโดดมาวันนี้ เพียงแต่ปัจจัยมันยังส่งทอดมา ถ้าเราอยากให้สิ่งดีงามเกิดขึ้นแทนที่ของไม่ดีนั้น ก็ใส่เหตุปัจจัยที่จะทำให้สิ่งดีมันเกิดขึ้น มุ่งไปที่การทำเหตุให้สิ่งใหม่เกิดขึ้น สิ่งดี น่าปราถนานั้น เกิดเพราะมีเหตุ ต้องใส่เหตุให้เหมาะสม พอสมควรหรือถึงจุดของมันก็จะได้ผล

เหมือนพวกเราเคยเป็นคนขี้เกียจ ความขี้เกียจเก่านั้นมันดับไปก็จริงอยู่ แต่มันส่งทอดปัจจัยมา ฉะนั้น นิสัยขี้เกียจมันก็ยังครอบงำเราได้อยู่ เพราะมันมาอยู่ในรูปกระแส ถ้าขี้เกียจบ่อยๆ ความขึ้เกียจเมื่อวานดับไปแล้ว ส่งทอดกระแสมา ถ้าเราจะเปลี่ยนนิสัยให้เป็นคนขยัน ก็ต้องอดทน ขยันบ่อยๆ ใส่ความขยันเข้าไป ใส่เหตุปัจจัยที่จะให้ขยันเพิ่มขึ้นๆ พอถึงจุดๆ หนึ่ง นิสัยก็เปลี่ยนได้ วิธีการในทางพระพุทธศาสนานั้นท่านไม่เน้นแก้ของเก่า เพราะว่ามันไม่ใช่ความจริง ของเก่าไม่ได้กระโดดมา มาอยู่ในรูปกระแส มาในรูปของเหตุปัจจัย

ถ้าเราใส่เหตุปัจจัยเข้าไปใหม่ ให้ถึงจุด ก็จะได้ของใหม่ที่น่าพอใจ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอยู่ในรูปกระแสอย่างนี้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเป็นผู้เชื่อมั่นในเรื่องกรรมและผลของกรรม อยากได้อะไรก็ใส่เหตุปัจจัยให้ถึงจุด ทำให้เต็มที่ จะเปลี่ยนนิสัยอะไรก็ทำเอาเอง ฝึกเอาเอง ไม่ใช่หวังผลลมๆ แล้งๆ ถ้าขยัน อดทนทำให้ถึงจุด ทำให้เต็มที่ สิ่งใหม่ก็เกิดขึ้น เพราะมันเกิดตามเหตุอยู่แล้ว เราก็ทำเหตุเอา อันนี้เรียกว่าความเห็นที่ถูก ความเห็นที่ตรง

ส่วนความเห็นที่ไม่ถูก ก็เป็นความเห็นที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง มีของขลัง มีของศักดิ์สิทธิ์ มีคนนั้นจะช่วยมี คนนี้จะช่วย มีตัวมีตน แก้ของเก่าอะไรก็ว่าไป ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องมาปรับ ๒ อันนี้ให้ดีๆ ที่ผมได้บรรยายมาหลายครั้งแล้ว ไม่รู้ท่านจำได้บ้างหรือเปล่า บรรยายปรับพื้นฐานให้ดีซะก่อน เพื่อว่ากุศลธรรมทั้งหลายจะได้งอกงาม และเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะฟังธรรมะชั้นสูงมาก แต่พื้นฐานไม่ดี มันก็งอกงามไม่ได้ มันเป็นกฏเกณฑ์ของมัน เมื่อมีพื้นฐานอย่างนี้แล้ว จะได้พากเพียรทำให้มีธรรมะอีกชุดหนึ่งขึ้น ธรรมะที่ควรทำให้มีขึ้น ควรทำให้เกิดขึ้นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้ คือ ชุดโพธิปักขิยธรรม ท่านเรียกว่าภาเวตัพพธรรม ธรรมะทึ่ควรทำให้มีขึ้น

๒. โพธิปักขิยธรรม

การที่เราทั้งหลายวนเวียนไปอยู่ในโลกนี้ เกิดขึ้น ตายไป นี้เป็นเรื่องของสังขาร เป็นเรื่องของสิ่งปรุงแต่ง สังขารเกิด สังขารตาย ในบรรดาสิ่งที่เป็นสังขาร ถ้าถามว่า ในโลกนี้ บรรดาธรรมะฝ่ายสังขารด้วยกันนี้ สิ่งไหนเลิศที่สุด ก็ตอบว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ นี้เลิศที่สุด ในบรรดาธรรมะฝ่ายสังขารด้วยกัน สิ่งไหนที่เกิดขึ้นแล้วมีคุณค่ามากที่สุด พูดได้ว่า อริยมรรคมีองค์ ๘

สิ่งที่เลิศมีหลายอย่าง ถ้าพูดถึงเรื่องสัตว์ บุคคล ผู้หญิง ผู้ชาย สัตว์ภพภูมิต่างๆ ในบรรดาสัตว์เหล่านั้น บุคคลเลิศที่สุดคือพระพุทธเจ้า นี้พูดแบบสัตว์บุคคล ถ้าถามว่า ใครเลิศที่สุด ต้องบอกว่าพระพุทธเจ้า นี้อย่างที่หนึ่ง ในบรรดาธรรมะฝ่ายสังขาร พูดถึงธรรมะฝ่ายสังขาร ธรรมะฝ่ายสังขาร คือ นามรูปที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย เกิดแล้ว ดับไป อยู่ในรูปกระแส เลิศที่สุดต้องบอกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมะชุดสุดท้ายในโพธิปักขิยธรรม ว่าไปแล้วโพธิปักขิยธรรม เป็นชุดธรรมะฝ่ายสังขารที่ควรทำให้มีขึ้น ควรทำให้เกิดขึ้น เพราะธรรมะชุดนี้เป็นชุดที่เลิศที่สุด

ในบรรดาสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้ เราทำเหตุปัจจัยให้เกิดนั่นเกิดนี่ สร้างนั่นสร้างนี่ ทำบุญอะไรต่างๆ ก็เป็นการทำเหตุปัจจัยให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ให้นามรูปไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ไปเกิดเป็นเทวดา พยายามทำความดี พยายามฝึกสมาธิเพื่อให้ความสงบเกิดขึ้น สิ่งที่เราพยายามทำให้เกิดขึ้น มันไม่ได้เลิศที่สุด เราทั้งหลายควรจะรู้จักเอาไว้ ในบรรดาธรรมะฝ่ายสังขาร เลิศที่สุด คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อันนี้อย่างที่สอง

ถ้าพูดถึงทั้งฝ่ายสังขารและไม่ใช่สังขาร เอาธรรมะมารวมกันหมด ทั้งธรรมะทั้งฝ่ายสังขารและไม่ใช่สังขารนั้น อะไรเลิศที่สุด ในบรรดาธรรมะทั้งหลาย พระนิพพาน คือ ธรรมะที่ดับนามรูป เป็นวิราคธรรม ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ ธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสทั้งปวง นั้นเลิสที่สุด นี้อย่างที่สาม บรรดากลุ่ม คณะต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก กลุ่มที่เลิศที่สุด คือพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า นี้กลุ่มที่สี่

หัวข้อที่จะพูดต่อไปนี้ จะพูดเรื่อง ธรรมะฝ่ายสังขารที่เลิศที่สุด ดีที่สุด เป็นสิ่งที่ควรทำให้มีขึ้นมากที่สุด ถ้ามีขึ้นแล้วก็จะทำให้ถึงความสิ้นทุกข์ ความทุกข์ต่างๆ หมดไป ทำให้ถึงความสุข ผ่อนคลาย เบาสบาย จนกระทั่งถึงพระนิพพาน ธรรมะชุดนี้เรียกว่าโพธิปักขิยธรรม หมวดสุดท้ายของชุดนี้ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นสังขารที่ดีที่สุด เลิศที่สุดในบรรดาสังขารด้วยกัน คำว่า สังขาร แปลว่า สิ่งปรุงแต่ง เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย อย่างพวกเรานี้ เป็นสังขาร นามรูป ความคิด ความนึก ความรู้สึก บุญ บาป อะไรต่างๆ พวกนี้เป็นสังขารเกิดตามเหตุปัจจัย

ในโลกนี้ มีสิ่งที่เกิดไปตามเหตุปัจจัยเยอะแยะ บางคนทำเหตุปัจจัยให้ได้เงิน ทำเหตุทำปัจจัยให้ได้รถยนต์ ให้ได้ชื่อเสียง ให้ได้การยอมรับ นี้ก็เป็นวัตถุภายนอกหยาบๆ ทั่วไป ต้องสร้างเหตุให้เกิดทั้งนั้น บางคนดีขึ้นหน่อย ทำเหตุปัจจัยให้เกิดความสุข ทำให้เกิดความสงบ ทำให้เกิดความนิ่ง ทำให้เกิดความสบายผ่อนคลาย อะไรก็ว่าไป นี้ก็เป็นชุดฝ่ายสังขาร ทำเหตุ ผลก็เกิดขึ้น ทำเหตุเอา พอมีเหตุ ก็บังคับผลให้เกิดขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่ เราไม่ได้ทำสิ่งที่เลิศ ไม่ได้ทำโพธิปักขิยธรรม

คำว่า โพธิปักขิยธรรม แปลว่า ธรรมะที่เป็นฝ่ายตรัสรู้ ธรรมะที่เป็นข้างโพธิ ข้างที่จะทำให้เป็นผู้รู้ผู้เห็นความจริง หมายความว่า ถ้าทำเหตุปัจจัยจนธรรมะฝ่ายนี้เกิดขึ้น เขาจะกลับไปโง่อีกไม่ได้ เพราะว่าเป็นธรรมะฝ่ายโพธิ โพธิ คือ ปัญญา การตรัสรู้ การเห็นความจริง มองทะลุความจริง วันนี้มีความรู้แล้ว วันต่อมาโง่ได้อีก อย่างนี้สำหรับธรรมะหมวดทั่วไป สังขารทั่วๆ ไป วันนี้ฉลาด วันต่อมาก็งงและสงสัยได้อีก วันนี้ดี วันต่อมาก็เหลวไหลอีก ทำให้ไปเกิดเป็นเทวดา ตายไปก็ยังตกอบายได้อีก บางคนทำจิตให้สงบ ไปเกิดเป็นพระพรหม ตกลงมาเป็นมนุษย์ สักหน่อยก็ไปอบายได้อีก ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวโง่เดี๋ยวฉลาด เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดี คุ้มดี คุ้มร้าย เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ นี้คือธรรมะสังขารแบบทั่วไป

ถ้าเป็นชุดโพธิปักขิยธรรม ธรรมะชุดนี้เกิดขึ้นในจิตแล้ว คนนั้นจะโง่ไม่ได้อีกต่อไป จะต้องฉลาดขึ้นไปเรื่อยๆ เก่งขึ้นไปเรื่อยๆ ดีขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงความพ้นทุกข์ไปในที่สุด ทำให้มีขึ้นแล้ว เขาจะกลับเป็นอย่างเดิมไม่ได้อีก ก็น่าเสียดายเหมือนกัน สำหรับคนที่ติดข้องอยู่กับโลก เพราะว่าเขาชอบกลับไปกลับมา ไปๆ กลับๆ เข้าๆ ออกๆ ยึกๆ ยักๆ คุ้มดี คุ้มร้าย คุ้มดีก็ทำบุญ เข้าวัด ฟังธรรม พอออกจากวัด ก็คุ้มร้าย บ่นลูก บ่นสามี ด่าชาวบ้านเขา เข้าปฏิบัติสำนักโน้นสำนักนี้ก็เงียบสนิททีเดียว ทำเป็นคุ้มดี พอออกมา ก็บ่นหมา บ่นแมวไปเรื่อย อย่างนี้มันคุ้มดี คุ้มร้าย เพราะไม่มีธรรมะชุดโพธิปักขิยธรรมเกิดขึ้น

ถ้ามีธรรมะชุดโพธิปักขิยธรรม จะละชั่วได้ เพราะมีปัญญามองเห็นโทษของความชั่ว และดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะมีปัญญามองเห็นคุณค่าของความดี ไม่มีทางกลับมาชั่วอีก จนกระทั่งมีปัญญาพ้นจากทุกข์ไปในที่สุด จึงเป็นทางเดียว และไปสุดจุดหมายปลายทางอันเดียวเท่านั้น เป็นทางทำให้เกิดปัญญาตรัสรู้ เห็นความจริง ถึงพระนิพพาน ไม่มีการกลับมาอีก

ที่เราทั้งหลายพากันวนเวียนกลับไปกลับมา สุขข้าง ทุกข์บ้าง เดี๋ยวฉลาด เดี๋ยวโง่ เดี๋ยวรู้เรื่อง เดี๋ยวไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวไปเป็นเทวดา เดี๋ยวหล่นลงมา เดี๋ยวไปเป็นพระพรหม เดี๋ยวหล่นลงมา ก็เพราะว่าเราไม่มีธรรมะชุดนี้เกิดขึ้นในจิตตนเอง เมื่อใดมีธรรมะชุดนี้เกิดขึ้นในจิตตนเองแล้ว จะไม่มีทางเป็นอย่างนั้นอีกต่อไป ต้องรู้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ วันนี้มีน้อยวันต่อมาก็เพิ่มขึ้นๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งแจ่มแจ้งแทงทะลุในที่สุด หันหลังกลับไม่ได้ ต้องเดินหน้าไปเรื่อยๆ

โพธิ แปลว่า ปัญญาตรัสรู้ รู้ความจริง รู้อริยสัจ ทำให้เป็นพุทธะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นผู้ที่ได้รู้สิ่งที่ควรรู้ ละสิ่งที่ควรละ กระทำให้แจ้งสิ่งที่ควรกระทำให้แจ้ง ทำให้มีสิ่งที่ควรทำให้มี ตัวปัญญาที่ทำให้เป็นพุทธะ เรียกว่าโพธิ โพธิ คือ ตัวปัญญา ตัวความรู้ ปักขิยะ แปลว่า ฝ่าย ข้าง ชุดที่เป็นฝ่ายนี้ ธรรมะ คือ สภาวะที่ไม่มีตัวไม่มีตน ธรรมะมีเยอะ ทั้งฝ่ายสังขารและไม่ใช่สังขาร ในบรรดาธรรมะด้วยกัน อะไรเลิศที่สุด ก็พระนิพพาน ถ้าในบรรดาสังขารด้วยกัน อะไรเลิศที่สุด อริยมรรคมีองค์ ๘ โพธิปักขิยธรรมจึงควรจะทำให้มีขึ้น ควรทำให้เกิดขึ้นมากที่สุด เป็นสิ่งที่เกิดตามเหตุปัจจัย ดังนั้น เราทั้งหลายจึงทำเหตุปัจจัยให้มันเกิดขึ้นได้ อริยมรรคสร้างได้

ถ้ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ตรงมาตั้งแต่ต้น เชื่อมั่นเรื่องกรรมและผลของกรรม ผลมาจากเหตุ มีเหตุก็มีผล พอมาฟังเรื่องโพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นสังขาร ก็ปลอดโปร่ง มองเห็นทางแล้ว หน้าที่ของเราก็เพียงแต่ทำเหตุปัจจัยให้เต็มที่ ทำให้สมบูรณ์ ทำให้เกิดขึ้น ทำเหตุอย่างเต็มที่ ถ้าพวกที่ไม่เชื่อมั่นเรื่องกรรมและผลของกรรม เขาก็จะขี้เกียจ ไม่ยอมลงมือทำ คอยหวังผลลมๆ แล้งๆ คอยพึ่งคนโน้นคนนี้ วนเวียนไปเรื่อยๆ แล้วก็โง่ไปเรื่อยๆ เหมือนเดิม เราทั้งหลายนี้ ถ้ายังเป็นคนไม่ฉลาด ยังสงสัยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่แทงทะลุ ไม่แทงตลอด ยังวุ่นวายกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็อย่าไปโทษคนอื่น ควรจะโทษที่ตัวเองนั้นหวังพึ่งคนอื่น หวังพึ่งสิ่งนั้นสิ่งนี้มันจึงโง่

การฝึกโพธิปักขิยธรรมนี้ อาศัยพื้นฐานความมั่นใจในเหตุผล คือหวังผลจากการกระทำของตนเองเท่านั้น ทำแบบเห็นๆ ไม่มีแบบหวังผลลมๆ แล้งๆ หรือหวังว่าคนนั้นจะช่วย คนนี้จะช่วย ทำมั่วๆ ไป แล้วคงได้ดีสักวัน ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องทำด้วยความรู้ ทำกันแบบเห็นๆ ทำกันแบบมีความรู้ เริ่มตั้งแต่รู้น้อยๆ จนกระทั่งรู้มากขึ้นๆ ชัดเจน ตรงไปตรงมา อย่างนี้ก็จะเป็นคนฉลาดขึ้นไปเรื่อย ละสิ่งที่ผิดพลาด และถูกต้องเพิ่มขึ้น

ถ้าท่านทั้งหลายฟังธรรมะชุดโพธิปักขิยธรรมแล้ว ได้เริ่มทำให้มีขึ้น ก็ขอแสดงความยินดีด้วย ท่านไม่มีทางกลับแล้ว ท่านต้องไปอย่างเดียว ส่วนจะไปเร็วไปช้า อันนี้อยู่ที่ความเพียร บางคนปราถนาไปช้า แต่ยังไงก็ต้องไป ไม่มีทางกลับ ถ้าไม่รู้จักธรรมะชุดนี้ ก็จะกลับไปกลับมา วนๆ เวียนๆ อยู่ มีเรื่องตัวตน มีเรา มีของเรา ยึดถืออย่างโน้นอย่างนี้ เหมือนพวกเราวนเวียนกันมานานแล้ว เพราะไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีความเห็นที่ตรงนำหน้า ไม่ได้ฝึกให้มีโพธิปักขิยธรรมเกิดขึ้น

ผู้ที่มีความเห็นผิด มีตัว มีตน รักตน ยึดมั่นถือมั่น ทำเพื่อตัวตน สนองตัวตน จะวนๆ เวียนๆ กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น ส่วนผู้มีความเห็นถูก เห็นว่า การเวียนว่ายตายเกิดเป็นทุกข์ ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้ยังไม่เห็นด้วยปัญญาของตัวเอง แต่เชื่อมั่นในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่มีตัวไม่มีตนจริงๆ มีแต่กองทุกข์ รูปนาม ขันธ์ ๕ ที่เป็นไปตามกระแสของเหตุปัจจัย เกิดดับเปลี่ยนแปลง สืบต่อไปเรื่อยๆ นี้มีพื้นฐานแล้ว จะได้มาฝึกเพื่อให้เกิดโพธิปักขิยธรรมต่อไป

ธรรมะที่เป็นฝ่ายของการตรัสรู้ เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ มี ๗ หมวด ๓๗ ประการ ได้แก่

  • หมวดที่ ๑ สติปัฎฐาน ๔
  • หมวดที่ ๒ สัมมัปปธาน ๔
  • หมวดที่ ๓ อิทธิบาท ๔
  • หมวดที่ ๔ อินทรีย์ ๕
  • หมวดที่ ๕ พละ ๕
  • หมวดที่ ๖ โพชฌงค์ ๗
  • หมวดที่ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘

โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้ ถ้าพูดย่อๆ ให้พอเข้าใจได้ง่ายๆ แบบรวดเดียวจบ เมื่อมีพื้นฐาน คือศีลที่ดีและความเห็นที่ตรงแล้ว ต้องฝึกฝนเพียรพยายาม ขัดเกลากิเลสด้วยตัวของตัวเอง โดยการย้อนกลับมาดูตัวเอง มาอยู่กับตนเอง ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความรู้อยู่ที่ตัวเองเสมอ ทำอะไรก็รู้อยู่ที่ตัวเองไว้ ตามหลักสติปัฎฐาน ๔ ให้มีความเพียร มีความรู้ตัว มีสติ ตามดู สังเกต รู้ตัวเองอยู่เสมอ รู้กาย เวทนา จิต ธรรม ทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ตามดู สังเกตดูบ่อยๆ จะเกิดความเข้าใจ ทำให้ละอคติออกได้ ละความยินดียินร้ายในโลกได้ เมื่อละความยินดียินร้ายในโลก จะเกิดการศึกษาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้ แม้ละความยินดียินร้ายได้บ้าง เป็นบางขณะ บางช่วงเวลา ก็ยังปล่อยวางไม่ได้ เพราะมีความยึดถืออยู่มาก ก็ต้องมีความเพียรต่อไป

ความเพียรที่เป็นไปเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นความจริง เรียกว่าสัมมัปปธาน ๔ มีความเพียรป้องกันอกุศล เพียรละอกุศล เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว และทำให้เต็มบริบูรณ์ จะได้จิตที่มีคุณภาพ เป็นพื้นฐานของการประสบความสำเร็จด้านต่างๆ เรียกว่าอิทธิบาท ๔ คือจิตที่มีความตั้งมั่น เป็นสมาธิขึ้นมา เมื่อจิตตั้งมั่นดี สะอาด หมดจดจากนิวรณ์ คุณธรรมฝ่ายดีต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น มาเป็นใหญ่ในจิต สามารถครอบงำบาปอกุศลทั้งหลายได้ แต่เดิมอกุศลเคยเป็นใหญ่ในจิต ต่อมาธรรมะฝ่ายดีฝ่ายที่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ มาเป็นใหญ่แทน ทำหน้าที่ในเรื่องต่างๆ แทน เรียกว่า อินทรีย์ ๕ กิเลสต่างๆ จะมีกำลังน้อยลง ครอบงำจิตไม่ได้ เพราะจิตมีผู้เป็นใหญ่แทน เมื่อมั่นคงขึ้น ก็ทำให้จิตไม่หวั่นไหวไปเมื่อมีสิ่งตรงข้ามเกิดขึ้น เรียกว่าพละ ๕

เมื่อมีคุณสมบัติที่พร้อม ฝึกจิตและปัญญา เพื่อให้มีคุณสมบัติของผู้ที่จะได้ตรัสรู้ตามหลักโพชฌงค์ ๗ สมบูรณ์พร้อมก็จะเกิดอริยมรรคมีองค์ ๘ ขึ้นในที่สุด อย่างนี้เป็นธรรมะชุดโพธิปักขิยธรรม พูดแบบย่อๆ จะได้มองเห็นภาพคร่าวๆ ของธรรมะชุดนี้ เรียงไปตามลำดับอย่างนี้ อุปมาเหมือนว่า จิตนี้เป็นองค์กรหนึ่ง ในองค์กรนั้น มีทั้งคนนิสัยไม่ดีและนิสัยดี คนนิสัยดีทำให้องค์กรก้าวหน้า ถ้าให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจ มีกำลัง ก็จะทำให้องค์กรนั้นก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ โพธิปักขิยธรรมเป็นเหมือนคนทำงานที่อยู่ในองค์กรนั้น เป็นกลุ่มที่ทำให้ความก้าวหน้า ถ้าสร้างธรรมะเหล่านี้ให้มีกำลัง มีมากๆ จะทำให้จิตเจริญก้าวหน้าไปในกุศล เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่มีการเสื่อม จนมีปัญญา ถึงความพ้นทุกข์ได้ ถ้าปล่อยแบบไปเรื่อยๆ ไม่ดูแล ไม่รักษา ฝ่ายไม่ดีจะมีอำนาจ ก็จะล่มจม เสื่อมอยู่เรื่อย พาไปตกทุกข์ได้ยาก

โดยส่วนใหญ่พวกเรานี้ ฝ่ายไม่ดีมีอำนาจอยู่มาก เพราะไม่มีโพธิปักขิยธรรมเกิดขึ้น ถึงมีดีขึ้นมาบ้าง ชั่วมันก็ยังอยู่ เลยวนเวียนกลับไปกลับมา ถ้ามีธรรมะชุดนี้เกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งไม่ดีจะถูกละไป โดยทั่วไป มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นมาก็จริงอยู่ มีบุญเกิดขึ้น แต่สิ่งไม่ดีไม่ได้ถูกละไป วันดีคืนดี มีเหตุปัจจัยพร้อมก็เกิดขึ้นอีก เหมือนกับในองค์กร ถ้ามีคณะทำงานชุดนี้แล้ว จะทำให้คนไม่ดีนั้นหมดอำนาจ ไล่พวกไม่ดีออกไปด้วย ไม่เหมือนกับแบบเดิม แบบเดิม คือ มีฝ่ายดี กับ ฝ่ายไม่ดี ผลัดกันมีอำนาจ วันไหนฝ่ายดีมีอำนาจมากกว่า ก็ดูดีหน่อย วันไหนฝ่ายไม่ดีมีกำลังกว่า ก็เละเลย อะไรอย่างนี้

๓. สติปัฏฐาน ๔

โพธิปักขิยธรรม หมวดที่ ๑ คือ สติปัฏฐาน ๔ เป็นตัวต้นทางของชุดโพธิปักขิยธรรม ถ้าอยากจะรู้ว่า ได้ต้นทางหรือยัง ก็ให้ดูว่าได้มีสติปัฏฐานหรือยัง การมีสติ ดูตัวเองอยู่เสมอ เฝ้าดูกายและจิตนี้เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ไม่มีอันอื่นที่ต้องทำนอกจากอันนี้แล้ว สิ่งอื่นก็เป็นการบริหารกองทุกข์ ให้มันพอเป็นไปได้ ส่วนในด้านจิตแล้ว มีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ไม่มีหนทางอื่นแล้ว ต้องทำอันนี้อันเดียว อย่างนี้เรียกว่าได้ต้นทาง ได้สติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง พวกเราโดยทั่วไป มีหลายอย่างต้องทำในชีวิต เดี๋ยวทำนั้น เดี๋ยวทำนี่ อะไรมากมาย ส่วนคนได้ต้นทางแล้ว เขาก็ต้องทำนั่นทำนี่เหมือนคนอื่น เพราะอยู่ในโลก ก็ต้องดูแล จัดการ บริหาร สิ่งต่างๆ ไปตามสมควร แต่ในใจของเขานี้ จะไม่รู้สึกว่าทำหลายอย่าง จะรู้สึกว่าทำอย่างเดียว คือ มีสติ มีความรู้เนื้อรู้ตัว ฝึกขัดเกลากิเลสของตนเอง ใช้ชีวิตให้ถูกต้อง งดเว้นทุจริตละความยินดียินร้ายในสิ่งต่างๆ ให้ได้ แล้วฝึกให้มีปัญญาเห็นความจริง ยอมรับความเป็นจริงได้

ผู้ที่เข้าใจทาง ได้ทางแล้ว จะรู้สึกว่า ไม่มีหลายอย่าง ที่ดูเหมือนหลายๆ อย่างนี้ เป็นแค่ปรากฎการณ์ เป็นแค่เหตุการณ์ เป็นแค่หน้าที่ บทบาท ที่เราจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ทุกคนเกิดมาในโลกก็ต้องเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ต้องมีบทบาท มีหน้าที่ ก็ต้องสวมบทบาทไป ตามสมควร แต่สิ่งที่สำคัญ จำเป็นต้องทำ มีอันเดียว คือ มีความรู้เนื้อรู้ตัว ฝึกฝนเพื่อที่จะละความยินดียินร้ายในโลกให้ได้ นี้เรียกว่าต้นทาง ภาษาธรรมะ ท่านเรียกว่าบุพพภาคมรรค

บุพพภาค คือ ส่วนเบื้องต้น ตอนต้น ตัวชุดเบื้องต้น บุพพภาคมรรค เป็นมรรคเบื้องต้น เป็นต้นทาง เป็นจุดเริ่มต้นของการออกเดินทาง ถ้าออกเดินแล้วก็จะไปตามทางไปเรื่อยๆ จนถึงทางที่แท้จริง จนเป็นทาง เป็นประตูที่ทำให้ถึงพระนิพพาน คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่าเป็นประตูพระนิพพาน หรือเป็นข้อปฎิบัติที่ทำให้ถึงความดับสนิทของทุกข์ เป็นทางทำให้ถึงพระนิพพาน นั้นเป็นปลายทาง ส่วนต้นทาง คือ สติปัฏฐาน ๔

ธรรมะตั้งแต่พื้นฐานจนถึงที่สุด ถ้ากล่าวอย่างย่อๆ พอให้เข้าใจง่าย แบ่งเป็น ๓ ชุดด้วยกัน

ชุดที่ ๑ พื้นฐาน คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี กับ ความเห็นที่ตรง นี้ได้พูดไปแล้ว
ชุดที่ ๒ ต้นทาง เบื้องต้นของหนทาง จุดเริ่มต้น จุดออกเดินทาง คือ สติปัฐาน ๔ และออกเดินตามทางไปเรื่อยๆ เป็นหมวดอื่นๆ จนถึง โพชฌงค์ ๗
ชุดที่ ๓ ปลายทาง ตัวทางอันแท้จริง เป็นประตู จุดที่ทำให้ถึงนิพพาน คือ อริยมรรค มีองค์ ๘

นี่พูดแบบคร่าวๆ ให้เห็นภาพชัดๆ เหมือนกับว่า เป็นบันได ๓ ขั้น อะไรอย่างนี้ ความจริง ไม่มีบันไดอย่างนั้น เป็นสภาวะนามธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิต มีพื้นฐาน ขึ้นต้นทาง แล้วก็เดินทางไปเรื่อยๆ ถึงทางอันแท้จริง คืออริยมรรค สติปัฏฐาน ๔ นี้เป็นบุพพภาคมรรค เป็นต้นทาง ที่จะทำให้การเดินไปตามธรรมะชุดโพธิปักขิยธรรมนี้เป็นไปได้ จนกระทั่งถึงมีอริยมรรคเกิดขึ้น

คำว่า สติปัฏฐาน นี้ มีลักษณะอย่างเดียว คือ การมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ มีความรู้เนื้อรู้ตัวในการใช้ชีวิต เฝ้าดูกายและจิตอยู่เสมอ มีความไม่ประมาท เพื่อที่จะทำให้ละความยินดียินร้ายในสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องได้ ละความรัก ละความชังในสิ่งต่างๆ ได้ นี้เป็นหลักการ ตัวสภาวะของสติปัฏฐาน เน้นไปที่ตัวสติเป็นประธาน มีลักษณะอย่างเดียวนี้ แต่แยกออกเป็น ๔ ตามอารมณ์ที่ทำให้เกิดสติขึ้น เอาสิ่งเหล่านั้นเป็นที่อยู่ของจิต ให้จิตรับรู้บ่อยๆ เนืองๆ ทำให้มีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้น ที่เรียกสติปัฏฐาน ๔ นี้พูดตามอารมณ์ของสติ เอากายเป็นที่ตั้งให้เกิดสติก็ได้ เอาเวทนาแล้วทำให้เกิดสติก็ได้ เอาจิตเป็นที่ตั้งให้เกิดสติได้ เอาธรรมะเป็นที่ตั้งให้เกิดสติก็ได้

สติปัฏฐานมีลักษณะเดียว คือ มีความตั้งใจ มีความรู้ตัว มีสติ ตามดูอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม เพื่อที่จะได้ไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้าย ไม่เที่ยวตระครุบ ไม่เที่ยวผลักไสสิ่งต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เป็นต้นทาง ว่าไปแล้ว ต้นทางของการศึกษาอย่างแท้จริง คือ ต้องเอาความยินดียินร้ายออกไปให้ได้ก่อน ถ้ายังมีความยินดียินร้ายต่อสิ่งต่างๆ อยู่ การศึกษาก็ยังไม่เกิด ยังไม่เกิดการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้แบบนี้ เป็นไปเพื่ออยู่เหนือทั้งดีและไม่ดี ต้องเห็นความจริงด้วยใจที่เป็นกลาง เห็นชัดทั้งดีทั้งไม่ดี ทั้งน่าพอใจทั้งไม่น่าพอใจ ต้องเอาอคติในใจออกไปก่อน ถ้ายังมีความยินดียินร้ายอยู่ ก็ยังไม่ต้องพูดถึงการเรียนรู้ในขั้นต่อไป เพราะข้อมูลเบื้องต้น ถูกบิดเบือนไปตามความชอบ ความไม่ชอบ

ขั้นต้น หรือ ต้นทางของการศึกษา ต้องเอาความยินดีและความยินร้ายออกไปก่อน เอาความชอบใจไม่ชอบใจ เอาอคติในใจออกไปก่อน เราอาจจะชอบสิ่งนี้ก็ได้ แต่ต้องไม่อคติ ไม่ทำไปตามความชอบนั้น เราอาจจะไม่ชอบสิ่งนั้นก็ได้ แต่ต้องไม่อคติ ไม่ทำไปตามความไม่ชอบนั้น ต้องทำอย่างนี้เป็นซะก่อน คือ ทำในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ หรือ ไม่ทำในสิ่งที่ชอบเป็นซะก่อน ไม่เอาความชอบหรือความไม่ชอบส่วนตัวมาเป็นหลัก ไม่ทำตามความอยากและความคิดของตนเอง เอาข้อเท็จจริงมาเป็นหลัก พวกเราโดยทั่วไป สิ่งไหนที่ตนเองชอบก็จะไปทำ สิ่งไหนไม่ชอบก็จะไม่ทำ แบบนี้ไม่มีการพัฒนา

บางสิ่งที่ชอบนั้น เราไม่ทำก็ได้ มันไม่เป็นประโยชน์และอาจมีโทษ เราก็ไม่ทำ ถึงจะพอใจ อยากได้ ไม่เอาก็ได้ อย่างนี้ แต่ว่าพวกกิเลสเยอะ พวกชั่วๆ บอกว่า แหม.. ฝืนใจตนเอง มันยากมาก แท้ที่จริง การฝืนใจตนเองเป็นเรื่องปกติมากสำหรับผู้ฝึกจิต กิเลสนั้นมันไม่รู้เรื่อง ฝืนความไม่รู้เรื่องก็เรื่องปกติ เช่น ขี้เกียจตื่นเช้า ก็ตื่นเช้าก็ได้ ไม่เป็นไร ไม่อยากตื่นก็ตื่นได้ อยากนอนต่อก็ยังตื่นได้ ไม่ต้องรออะไรบีบบังคับตนเองก็ได้ ใช้ปัญญาเข้าไปบอก ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันก็บีบเราอยู่ตลอดเวลา ต้องรีบมาฝึกให้รู้ความจริง จะเอาแต่นอนไม่ได้ นี้เป็นเรื่องของการฝึกจิต ให้มีความรู้ ให้เป็นคนไม่ประมาท รีบทำในสิ่งที่ควรทำ ไม่ต้องรองานบีบ ไม่ต้องรอคนนั้นบีบ ไม่ต้องรอคนนี้บีบ ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นความจริง แล้วฝึกด้วยตนเอง ทำนองนี้

๔. ความหมายของสติปัฏฐาน

ตัวหนทางนี้ มีลักษณะพิเศษและอานิสงส์หลายอย่าง ดังที่พระพุทองค์ตรัสไว้ ในทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร ข้อ ๓๗๓ ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้ เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ

ทางนี้ เป็นทางเดียว เป็นหนทางอันเอก มีชื่อว่าเอกานยมรรค แปลว่า ทางอันเอก, ทางอันเป็นทางสายเอก, ทางสายเดียว คำว่า เอก นี้ มีความหมายหลายอย่าง เช่น

(๑) เป็นทางของผู้ไปคนเดียว ผู้ปฏิบัติต้องละความเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ ความเกี่ยวข้องกับญาติพี่น้อง ความห่วงใยกังวลกับคนโน้นคนนี้ เห็นโทษภัยของการวนเวียนเป็นนั่นเป็นนี่ แล้วมุ่งมั่นเดินทางแต่ผู้เดียว ขัดเกลาตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น ในการเดินตามทางนี้ ใช้วิธีต่างคนต่างเดิน แบบเดินคนเดียว ในระหว่างทางจะช่วยคนอื่นบ้าง ก็ไม่ได้มุ่งจะไปติดข้อง มุ่งเพื่อไปคนเดียว แนะนำคนอื่น ก็ให้สนใจฝึกตนเองเป็นหลัก ต้องอาศัยใจเด็ดเดี่ยว ปล่อยคนอื่นๆ ไปตามกรรม ทุกคนนั้นก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย บอกให้เขาทำเหตุให้ถูกต้องเหมาะสม แล้วไปด้วยตนเอง ไม่เป็นห่วงกัน เดินไปแบบเดี่ยวๆ อาจจะรู้สึกว่าหวาดเสียว เปล่าเปลี่ยว ดูเหมือนจะเหงาหงอย แท้ที่จริงไม่เป็นเช่นนั้น มีความอบอุ่น เพราะอยู่ใกล้ธรรมะ ยิ่งใกล้ธรรมะไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งมีที่พึ่งเพิ่มขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่ง คือ ให้มีธรรมะเป็นเกาะ มีธรรมะเป็นที่พึ่ง อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งซึ่ง

(๒) ทางของผู้เป็นเอก คือ เป็นทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเอกของโลก ทรงค้นพบและทรงประกาศไว้ เหมือนกับเป็นทางที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมา ให้ผู้มีศรัทธาได้เดินไปตามทางที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ทรงชี้ไว้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตก็ทรงใช้ทางนี้ ในอนาคตก็ทรงใช้ทางนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายในปัจจุบัน ก็ทรงใช้ทางนี้ พระอรหันต์และเหล่าพระอริยเจ้าทั้งหลายก็ใช้ทางนี้ ทางอื่นไม่มี ท่านจึงกล่าวเอาไว้ว่า กายและใจนี้ กาย เวทนา จิต และธรรมนี้ เป็นโคจรหรือเป็นที่เที่ยวไปของอริยเจ้า เรียกว่าอริยโคจร เป็นโคจรของพระอริยเจ้า เป็นอารมณ์ของพระอริยเจ้า ถ้าเราจะเที่ยวรู้นั่นรู้นี่ ก็ให้เที่ยวรู้อยู่ในนี้ เที่ยวอยู่ในกาย เวทนา จิต และธรรม อย่าส่งจิตไปเที่ยวที่อื่น อย่าให้มันไปเที่ยวที่อื่น ทุกวันนี้จิตใจของเรามีที่เที่ยวเยอะ ไปสนใจเรื่องนั้น ไปสนใจเรื่องนี้มากมาย สนใจประเทศโน้นบ้าง ประเทศนี้บ้าง คนนี้ทำอย่างนั้น คนนั้นทำอย่างนี้ สนใจนำ้ท่วมใหญ่บ้าง ภูเขาไฟระเบิดบ้าง มีเรื่องสนใจเยอะแยะ นี้โคจรของพวกเรา ทำให้วนเวียนไปเรื่อย โคจรของพระพุทธเจ้า โคจรของเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย และโคจรของพระอริยเจ้า คือกายและจิต เป็นที่อยู่ เป็นที่หากิน เป็นดินแดนของบิดาตนคือของพระพุทธเจ้าผู้เป็นครู ทางอันนี้ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและประกาศเอาไว้

(๓) ทางที่มีในศาสนาเดียว คือ ทางนี้มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีในคำสอนอื่นๆ ทางนี้มีในศาสนาเดียวคือในพุทธศาสนา ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าศึกษาดูให้ดีๆ ศึกษาศาสนานั้น ศาสนานี้ดูบ้าง ก็จะเห็นว่า ในศาสนาอื่นๆ ไม่มีคำสอนเรื่องนี้ ไม่มีบอกเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ที่สอนข้อปฏิบัติเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางไปเพื่อความพ้นทุกข์ ส่วนคำสอนให้ทำความดี ให้ทาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจกว้าง ทำสาธารณประโยชน์ มีเมตตา ทำจิตให้เป็นสุข ทำให้จิตปลอดโปร่งสบาย ทำจิตให้สงบ อันนี้มีทุกศาสนานั่นแหละ ส่วนที่สอนข้อปฏิบัติ เพื่อให้มีปัญญารู้ความจริง เห็นความไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่กระแสของทุกข์ที่เกิดแล้วดับไป ทำให้ถึงความดับสนิทของทุกข์นี้ ศาสนาอื่นไม่มี มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น จึงเรียกว่าเอกานยมรรค เป็นทางที่มีอยู่ในศาสนาเดียวคือพุทธศาสนา ในคำสอนของพระพุทธเจ้า

(๔) ทางที่ไปสู่จุดหมายเดียว คือ เป็นทางที่ทำให้ถึงจุดหมายปลายทางเดียวคือพระนิพพาน แม้เบื้องต้น จะเดินทางมาคนละทิศ ทำกรรมฐานแตกต่างกัน แต่หากเดินไปทางตามนี้ ก็ถึงนิพพานที่เดียวกัน นิพพานนั้นมีทางเข้าโดยรอบด้าน เริ่มต้นเดินทางแล้ว ก็จะถึงจุดหมายอันเดียวคือพระนิพพาน ไม่มีไปที่อื่น ไม่แยกไปทางที่นั่นที่นี่ ไม่ใช่ทางสองแพร่ง ไม่มีสามแยก ไม่มีสี่แยก เป็นทางตรงไปนิพพานอย่างเดียว ถึงจุดหมายอันเดียว ถ้าท่านเริ่มเดินหรือหยั่งเท้าลงในทางนี้ ก็จะจุดหมายอันเดียวคือพระนิพพาน ถึงจะทำอะไรแปลกกันไปบ้างในตอนต้น เช่น บางคนดูลมหายใจเข้า ดูลมหายใจออก บางคนเดินจงกรมกลับไปกลับมา บางคนพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง บางคนดูเวทนา บางคนดูจิต ถ้าตามดูอยู่ในกายและใจตนเองนี้อยู่เสมอ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ มีความรู้ตัว รู้กาย เวทนา จิต ธรรม อยู่เนืองๆ บ่อยๆ ฝึกฝนจนกระทั่งได้ทาง เห็นว่าไม่มีทางอื่น มีทางเดียวนี้แหละ เรียกว่าหยั่งลงในทางนี้ เมื่อหยั่งลงในทางนี้แล้ว ก็จะกลับไม่ได้ เพราะเป็นทางตรงไปสู่จุดหมายอันเดียวคือพระนิพพาน ทำกรรมฐานแตกต่างกันก็ไม่เป็นไร ศึกษาเรียนรู้ไปตามหลักการ ก็ถึงจุดหมายเดียวกัน ส่วนใครจะถึงเร็วหรือช้านั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้ไปสู่ที่อื่น ไปที่เดียวกัน จบที่เดียวกันคือพระนิพพาน ท่านทั้งหลายได้สนใจปฏิบัติสติปัฏฐาน จนทำเป็นแล้วก็ขอแสดงความยินดีด้วย ท่านหันกลับไม่ได้แล้ว เตรียมตัวบอกลาโลกนี้ได้ ส่วนใครจะถึงเร็วหรือถึงช้านั้น ก็ตามความเพียร บารมี และความปรารถนาของแต่ละคน บางคนยังปรารถนามีความสุขอยู่กับโลก มีอัธยาศัยในวัฏฏะ ก็ถึงช้าหน่อย แต่ถ้าลงเส้นทางสายนี้แล้ว ต้องไปจุดหมายอันเดียวกันคือพระนิพพาน

๕. อานิสงส์ของสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน ได้ชื่อว่าเอกานยมรรค ก็ด้วยเหตุผลหลายอย่าง อย่างนี้ สติปัฏฐานนี้มีคุณประโยชน์และอานิสงส์ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน แยกย่อๆ ได้ ๕ เรื่อง คือ

(๑) เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ ที่สัตว์บริสุทธิ์ก็เพราะจิตบริสุทธิ์ ที่จิตบริสุทธิ์ก็เพราะหมดกิเลส ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นอีกต่อไป สติปัฏฐานทำให้หมดไปได้ ทำให้จิตใจนั้นบริสุทธิ์ผุดผ่องได้ บุญกุศลหรือสิ่งดีงามอื่นๆ มันดีก็จริงอยู่ แต่ละกิเลสไม่ได้ เราทั้งหลายทำบุญมากมาย เข้าวัดโน้น ออกวัดนี้ ไปทำบุญ เป็นผู้มีบุญเยอะ กิเลสก็ยังเหมือนเดิม ไปนั่งสมาธิ สงบดีอยู่หลายวัน ออกมากิเลสก็เหมือนเดิม บางคนยิ่งทำบุญเยอะ กิเลสยิ่งเยอะหนักขึ้นไปทุกวัน อย่างนี้ก็มี บุญทั้งหลายที่เราทำกันนั้น มันก็เป็นบุญนั่นแหละ เมื่อให้ผล ก็ให้ผลเป็นความสุข ได้สิ่งที่น่าพอใจ แต่มันละกิเลสไม่ได้ บุญเป็นส่วนบุญ กิเลสเป็นส่วนกิเลส ไม่สามารถที่จะทำลายกันได้ ส่วนโพธิปักขิยธรรม ถ้าเกิดขึ้นแล้ว จะทำลายกิเลสได้ ดีตรงนี้ ถ้าฝึกให้มีสติสัมปะชัญญะอยู่กับตัวเอง มีความรู้ตัวอยู่ สำรวม ระมัดระวังอยู่เสมอ จิตใจจะเบาสบายขึ้น ปลอดโปร่งขึ้น กิเลสที่เคยเกิดก็เกิดน้อยลง ที่เคยเกิดแรงก็เบาลง ที่เคยมีทุกข์มากๆ ก็ลดลงไป เพราะว่าเมื่อมีสติมาแทนแล้ว มันทำลายกิเลสได้

กิเลสเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุ เกิดแล้วก็ดับ วิธีการทำลายกิเลสในแบบที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้นั้น เป็นวิธีที่ไม่ประมาทอย่างแท้จริง คือ ไม่ต้องรอกิเลสเกิด ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นแทน ทำปัญญาให้เกิดขึ้น ไปกำหนดรู้ที่ตั้งของกิเลส กิเลสเกิดขึ้นในที่ใด ก็ไปทำความเข้าใจในสิ่งนั้นให้ชัดเจน ให้เข้าใจแจ่มแจ้งในสิ่งนั้น แล้วละกิเลสที่ยังไม่เกิด เป็นวิธีที่ไม่มีใครคิดได้ เราทั่วไปนั้น จะทำลายอะไรก็ต้องรอสิ่งนั้นเกิดก่อน พอเกิดแล้วค่อยคิดทำลาย วิธีของพระพุทธเจ้านั้น เป็นวิธีของผู้รู้ รู้ว่า เมื่อเกิดกิเลสขึ้น เป็นสิ่งไม่ดี จิตใจเศร้าหมอง ให้ผลเป็นความทุกข์ ไม่สบาย ทำให้ได้ชาติ ชรามรณะมาอีก มีแต่ความยุ่งยากลำบาก ก็ฝึกธรรมะชุดหนึ่งให้เกิดขึ้นมาแทนที่ ทำให้มีวิชชา มีความรู้แจ้ง กิเลสก็ไม่เกิด ทำลายกิเลสที่ยังไม่เกิด ทำให้หมดเหตุ ไม่มีเหตุ กิเลสก็เกิดไม่ได้ เพราะกิเลสเป็นสังขาร เกิดได้เพราะมีเหตุ ไม่มีเหตุก็ไม่เกิด ทำนองนี้

ถ้าพูดให้เห็นภาพชัดเจน เราทั้งหลายเกิดมาแล้ว รูปและนามประชุมรวมกันขึ้น ก็มีทุกข์ที่ติดมากับความเกิด ได้ทุกข์มาเพียบเลย ท่านเกิดมานี้ ทุกข์บ้างไหม ถ้าไม่ทุกข์ก็โง่เกินเหตุแล้วนะ รู้สึกทุกข์บ้างก็แสดงว่าฉลาดขึ้น ถ้าเห็นทุกข์มากก็ฉลาดมาก ถ้าเห็นทุกข์เกือบตายก็ฉลาดเกือบตายเหมือนกัน ถ้าเห็นว่า โอ..โลกนี้ดีเหลือเกิน สุขเหลือเกิน อย่างนี้โง่มาก มันไม่รู้เรื่อง แหม.. ทุกข์เหลือเกิน ไปที่ทำงานก็ทุกข์ เห็นหน้าเจ้านายก็ทุกข์ โลกมันมีปัญหาเยอะจัง ได้เห็น ได้เข้าใจ มีปัญญาเพิ่มขึ้น ก็จะได้หาทางพ้นทุกข์กันต่อไป ไม่ใช่ว่าแหม.. ที่บ้านสุขเหลือเกิน เห็นหน้าภรรยาก็สุขเหลือเกิน เห็นหน้าเจ้านายก็สุขเหลือเกิน ทำงานก็สุขเหลือเกิน อย่างนี้เต็มทีนะ เพราะว่าไม่ใช่ความจริง ความจริงคือมันเป็นทุกข์ รู้ทุกข์ว่าเป็นทุกข์ อย่างนี้ความรู้ก็ถูกต้อง ตรงที่สุด ไปรู้ทุกข์ว่าเป็นสุข ก็โง่แล้ว ไม่บอกว่าโง่ก็ไม่รู้จะว่ายังไง ก็ต้องโง่ไปนั่นแหละ

การฝึกฝนให้มีสติสัมปชัญญะ ตามหลักโพธิปักขิยธรรม นี้จะให้มีปัญญา มองเห็นความจริง ละอคติออกไป จิตใจปลอดโปร่ง ใสสะอาด ตั้งมั่นดี มองแล้วก็เข้าใจชัด มองเห็นทุกข์ มองเห็นสิ่งไม่แน่ไม่นอน มองเห็นโลกเป็นสิ่งไร้แก่นสาร ทำนองนี้ เราทั้งหลายเกิดมานี้ มีทุกข์ติดตามมาเพียบเลย ทุกข์ที่มากับความเกิด เกิดมาแล้ว มีหลังก็ปวดหลัง มีแขนก็ปวดแขน มีหัวก็ปวดหัว มีคอก็ปวดคอ ไม่มีหางก็ไม่ปวดหาง ถ้ามีอะไรมันก็ทุกข์เพราะอันนั้นเลย เยอะแยะไปหมด เกิดแล้ว อยู่นานๆ ก็แก่ แก่แล้วก็ตาย มีตาก็มีโรคตา มีหูก็มีโรคหู มีนั่นมีนี่ขึ้นมา ก็ทุกข์ ทุกข์ติดมาพร้อมกับความเกิด

วิธีการของพระพุทธเจ้า คือ ฝึกให้มีอริยมรรคเกิดขึ้น มีวิชชา มองเห็นชัดโทษของความเกิด ไม่ติดข้องในทุกข์ ก็ทำลายความเกิดทิ้งไปเสีย ไม่ต้องเกิดอีก ทำลายความเกิดที่จะมีในอนาคต เพราะมีความรู้แน่ชัดแล้วว่า ถ้าเกิดอีกก็ทุกข์อีก เกิดทุกครั้งก็เป็นทุกข์ทุกครั้งไป ไม่มีว่าเกิดครั้งไหนแล้วจะกลายเป็นสุข มันเปลี่ยนแปลงความจริงข้อนี้ไม่ได้ จึงให้ไปฝึกให้มีโพธิปักขิยธรรม ให้มีอริยมรรคเกิดขึ้น ลำลายความเกิดทิ้งเสีย จะได้ไม่เกิด ไม่เกิด มีทุกข์ที่ติดมาไหม ก็ไม่มี อย่างนี้ คือ ทำลายกิเลสที่ยังไม่เกิด ทำลายทุกข์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้มันเกิด จึงเป็นวิธีของผู้ไม่ประมาทอย่างแท้จริง มองเห็นในอนาคตแล้วว่า ถ้ากิเลสเกิดขึ้น ก็ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ทำผิด ทำทุจริตแล้ว จะได้รับผลเป็นความทุกข์ พอรู้อย่างนี้แล้ว ก็ป้องกันมัน โดยอาศัยปัญญา ปัญญาจะมีได้โดยการทำให้โพธิปักขิยธรรมเกิดขึ้น โพธิปักขิยธรรมมีอำนาจ ก็ละสิ่งที่ไม่ดีได้

ถ้าพูดในแบบเป็นพระอริยเจ้าตามลำดับ ให้เห็นชัดว่าทำลายอะไรไปได้บ้าง เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ทำลายอบายภูมิต่างๆ ได้ ปิดอบายภูมิ เวรต่างๆ ก็สงบระงับไป ไม่มีแม้แต่ในความคิด ไม่ต้องกล่าวถึงทำด้วยกายวาจา ทุจริตต่างๆ ไม่เกิดขึ้นอีก ก็อาศัยธรรมะชุดโพธิปักขิยธรรม ทำให้เกิดปัญญา ไปทำลายสิ่งที่ไม่พอใจเหล่านั้น ทั้งๆ ที่ยังไม่เกิดเลย แต่ทำลายสิ่งที่ยังไม่เกิดนั่นแหละ ไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก เป็นวิธีที่ไม่ประมาท ทำลายทุกข์ที่ยังไม่เกิดไม่ให้มันเกิด เราก็ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข โดยไม่ต้องเป็นทุกข์เลยก็ได้ เป็นสุขโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ พวกเราไม่รู้วิธีนี้ พากันสุกๆ ดิบๆ ตอนนี้สุขอยู่ วนๆ เวียนๆ เดี๋ยวก็ทุกข์อีกแล้ว ทำนองนี้

จึงได้กล่าวว่า สติปัฏฐานนี้สามารถทำลายสิ่งที่ไม่ดี ทำลายพวกความเศร้าหมองในจิต ไม่ให้มันเกิดอีกได้ วิธีการที่พิสูจน์ง่ายๆ คือ ถ้าเป็นผู้มีความเพียร ขัดเกลากิเลส อดทนไม่ทำตามกิเลส มีสติสัมปชัญญะ กิเลสต่างๆ จะไม่ค่อยเกิด ยิ่งมีปัญญาเพิ่มขึ้น กิเลสและความทุกข์ต่างๆ ก็มีโอกาสเกิดได้น้อยลง เพราะถูกทำลายไปด้วยโพธิปักขิยธรรมที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นมาแล้ว ยังทำลายฝั่งตรงข้ามไปด้วย ไม่เหมือนบุญอื่นๆ ทำไปแล้ว ก็ดีกว่าไม่ทำนั่นแหละ แต่ละกิเลสไม่ได้ อุตส่าห์เสียเวลาเสียเงินเสียทองไปมากมาย จัดพิธีโน้นพิธีนี้เยอะแยะ ทำแล้วก็ได้บุญเหมือนกัน มีบุญเกิดขึ้นบ้าง บางคนบาปเกิดขึ้นมากกว่าซะอีก ทำนองนี้ เสียเงินเสียทองไปเยอะ กิเลสไม่ลด ทุกข์ไม่ลด ตอนเป็นบุญก็เป็นบุญไป กิเลสไม่ลด บาปไม่ลด วันหนึ่งก็ขึ้นมาใหม่ โผล่ขึ้นมาใหม่ แม้แต่การทำสมาธิให้แน่นๆ ก็เหมือนกัน พวกนั้นกิเลสไม่ลด ตอนนิ่งมันก็ดีอยู่ มีความสุขอยู่ อาจจะสุขได้วันสองสามวัน เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ตลอดชาติ หรือหลายๆ กัป แต่ท้ายที่สุด ในเมื่อละกิเลสไม่ได้ มีเหตุมันเกิดขึ้นมาอีกแล้ว ทุกข์ก็มาอีก วนๆ เวียนๆ ทำนองนี้

พระพุทธเจ้าทรงเรียกพวกฌานสมาบัตินี้ว่าทิฏฐธัมมสุขวิหาร คือ เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ทำให้อยู่อย่างเป็นสุข สบาย เหมือนได้พักผ่อน ไม่มีเรื่องเดือดร้อนชั่วคราว แต่ละกิเลสไม่ได้ นั่งสมาธิแล้วเป็นสุข แต่ละกิเลสไม่ได้ ถ้าเป็นสมาบัติฝ่ายอรูป ยิ่งสงบมากกว่าอีก อยู่อย่างสงบในปัจจุบันเรียกว่าสันตวิหาร ละกิเลสไม่ได้ ไม่เหมือนโพธิปักขิยธรรม ถ้ามีขึ้นมา ยิ่งมีเยอะ ก็แสดงให้เห็นว่ากิเลสลดลง เพราะว่าธรรมะนี้มีอำนาจทำลายกิเลสได้ ท่านเรียกว่าสัลเลขะ คือว่าธรรมะสำหรับขัดเกลา ทำให้กิเลสลดลงได้

ท่านทั้งหลายถ้าจะทำความเพียร เพื่อให้ธรรมะฝ่ายสังขารเกิดขึ้น ก็ควรเห็นประโยชน์ของธรรมะชุดนี้ พยายามทำให้เกิดขึ้น เราทำให้เกิดขึ้นได้ ถ้ามันเกิดขึ้น กิเลสก็จะลดลง ความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดเพราะกิเลสก็ลดลง ความวุ่นวายใจอะไรต่างๆ ก็ลดลง ไม่เหมือนกับทำบุญอย่างอื่น ทำบุญก็ได้บุญ แต่กิเลสไม่ลด ความวุ่นวายต่างๆ ก็ยังเข้ามาได้อีก นี้แหละอานิสงส์ของสติปัฏฐาน สามารถชำระจิตใจให้ดีงาม ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ทำให้ทำลายกิเลสได้

(๒) เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ ทำให้ข้ามพ้นโสกะและปริเทวะ ไม่ต้องมาเศร้าโศกและคร่ำครวญ เพราะได้เข้าใจสิ่งต่างๆ ในโลกตามที่เป็นจริง ไม่ติดข้อง เมื่อมันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ก็ไม่เศร้าโศก ไม่คร่ำครวญ และไม่สงสัยที่ชาวโลกเต็มไปด้วยความเศร้าโศก สามารถข้าม ล่วงพ้นไปได้

(๓) เพื่อดับทุกข์และโทมนัส ความทุกข์กายและทุกข์ใจก็ดับไปตามลำดับ โดยเฉพาะทุกข์ทางใจจะค่อยๆ หมดไป จนหมดไปโดยสิ้นเชิง ส่วนทุกข์ทางกายก็เบาบางด้วยกำลังสมาธิ

(๔) เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อให้บรรลุถึงความสมบูรณ์แห่งธรรมที่ถูกต้อง คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ทำให้อริยมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้นได้ สติปัฏฐานนี้เป็นต้นทาง

(๕) เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทำให้เข้าถึงพระนิพพาน อันเป็นความดับสนิทของกองทุกข์ทั้งปวง

สติปัฏฐานโดยลักษณะมีอย่างเดียว กล่าวโดยอารมณ์ หรือ โดยที่ตั้งที่ทำให้สติเกิดขึ้น เกิดแล้วทำให้เจริญงอกงาม มี ๔ อย่าง คือ การตามดูกายในกาย ตามดูเวทนาในเวทนา ตามดูจิตในจิต ตามดูธรรมในธรรม ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นหัวข้อว่า

สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

๖. ธรรมที่ต้องใช้เสมอ ๓ ประการ

ตามพระพุทธพจน์นี้ แสดงลักษณะของสติปัฏฐาน และผลที่ต้องการจากสติปัฏฐาน คือ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ นี้เป็นลักษณะของสติปัฏฐาน ประกอบไปด้วยธรรมะ ๓ อย่าง ตามบาลีท่านว่า อาตาปี สมฺปชาโน สติมา คือ

(๑) ความเพียร เป็นความเพียรเผากิเลส ความตั้งใจในการฝึกปฏิบัติขัดเกลากิเลส ไม่ทำตามกิเลส เป็นชื่อของสัมมาวายามะ

(๒) สัมปชัญญะ เป็นความรู้ตัวทั่วพร้อม เป็นปัญญาที่รู้ประโยชน์ รู้สิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งใดไม่มีประโยชน์ รู้ความเหมาะสม รู้จักเลือกอารมณ์ รู้รูปนาม ขันธ์ ๕ ไม่หลงเอารูปนามว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา เป็นเขา เป็นของเขา

(๓) สติ เป็นความระลึกได้ ความไม่หลงลืม ไม่ปล่อยใจลอยไปที่อื่น ผูกจิตให้ท่องเที่ยวอยู่ในกาย เวทนา จิต และธรรม

เมื่อปฏิบัติถูกต้อง และทำได้มากพอ เหตุสมควรแก่ผล ก็จะเกิดผลทำให้ละความยินดียินร้ายในโลก ละความพอใจและความไม่พอใจในสิ่งที่จิตรับรู้ ละนิวรณ์ ทำให้เกิดสมาธิ มีความตั้งมั่นแห่งจิตได้

สติปัฏฐาน ๔ ข้อที่ ๑ กายานุปัสสนา การตามรู้กายในกาย ข้อที่ ๒ เวทนานุปัสสนา การตามรู้เวทนาในเวทนา ข้อที่ ๓ จิตตานุปัสสนา การตามรู้จิตในจิต ข้อที่ ๔ ธัมมานุปัสสนา การตามรู้ธรรมในธรรม ให้รู้อยู่ในกาย เวทนา จิต และธรรม ด้วยวิธีอนุปัสสนานี้จะช่วยให้เกิดความรู้ตัวมากขึ้น มีสติมากขึ้น ทำให้ละความยินดียินร้ายในโลกได้

คำว่า กายานุปัสสนา, กาย + อนุปัสสนา, กาย คือ ร่างกายนี่แหละ แปลว่า ส่วนประกอบหลายๆ สิ่งมารวมกันเข้า มหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นธาตุหลัก มีประสาทต่างๆ และรูปอื่นๆ มาอาศัยเกิด รวมกันเรียกว่ากาย เป็นส่วนประกอบของรูป

อนุปัสสนา แปลว่า ตามดู มองดู พิจารณาดู สังเกตดู ดูอยู่เฉยๆ ดูอย่างเป็นพยานของมัน อย่าไปทำอะไรมัน ให้ดูมันเฉยๆ การดูนี้จะช่วยให้เกิดสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น เมื่อทำอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดสมาธิได้

เวทนานุปัสสนา, เวทนา + อนุปัสสนา, ตามดูเวทนา สังเกตุดูเวทนา ดูอย่างเป็นพยานมัน ดูให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น เวทนาเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา จิตตานุปัสสนา, จิตต + อนุปัสสนา, ตามดูจิตว่ามันเป็นอย่างนั้น ธัมมานุปัสสนา, ธัมม + อนุปัสสนา ตามดูธรรมว่าเป็นสักแต่ว่าธรรม ก็ทำนองเดียวกัน

๗. วิธีปฏิบัติหมวดลมหายใจเข้าออก

๓.๑ กายานุปัสสนา
การตามดูกายในกาย ดูกายว่าเป็นสักแต่ว่ากาย เป็นรูปที่ประชุมรวมกันขึ้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ของใคร จำแนกวิธีปฏิบัติออกเป็น ๑๔ หมวด

๓.๑.๑ หมวดลมหายใจเข้าหายใจออก
ลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย เป็นกายย่อยในกายใหญ่นี้ เป็นส่วนประกอบของรูป การตามดูลมหายใจ เพื่อฝึกให้มีสติ และเห็นว่า ลมหายใจเป็นสักแต่ว่าลมหายใจ ไม่ใช่เราหายใจ ไม่ใช่ลมหายใจของเรา เป็นสักแต่ว่าธาตุที่ไหลเข้าและไหลออกในกายนี้ เป็นสังขาร เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ข้อ ๓๗๔ มีข้อความว่า

ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า “เราหายใจเข้ายาว”
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า “เราหายใจออกยาว”
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า “เราหายใจเข้าสั้น”
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า “เราหายใจออกสั้น”
สำเหนียกว่า “เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า”
สำเหนียกว่า “เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก”
สำเหนียกว่า “เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า”
สำเหนียกว่า “เราระงับกายสังขาร หายใจออก”
ภิกษุทั้งหลาย ช่างกลึง หรือลูกมือช่างกลึงผู้มีความชำนาญ เมื่อชักเชือกยาว ก็รู้ชัดว่า “เราชักเชือกยาว” เมื่อชักเชือกสั้น ก็รู้ชัดว่า “เราชักเชือกสั้น” แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า “เราหายใจเข้ายาว”
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า “เราหายใจออกยาว”
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า “เราหายใจเข้าสั้น”
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า “เราหายใจออกสั้น”
สำเหนียกว่า “เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า”
สำเหนียกว่า “เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก”
สำเหนียกว่า “เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า”
สำเหนียกว่า “เราระงับกายสังขาร หายใจออก”
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า “กายมีอยู่” ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิอยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น อะไรๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดลมหายใจเข้าออก จบ

ที่ให้ดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออกอยู่เสมอๆ ตามดูอยู่บ่อยๆ เนืองๆ นี้ ก็เพื่อให้มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น ละความยินดียินร้ายในโลก ทำให้จิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น แล้วก็ให้ดูให้เห็นเป็นธรรมะ เป็นเพียงสักแต่ว่าลมหายใจ ให้เห็นเท่าเทียมกันทั้งภายในคือในตนเอง และภายนอกคือผู้อื่น ตนเองก็ไม่มีตัวตน ผู้อื่นก็ไม่มีตัวตน เป็นสักแต่ว่าลมหายใจเข้า เป็นสักแต่ว่าลมหายใจออก เป็นสักแต่ว่าธาตุ ที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย มีเหตุทำให้เกิด และเมื่อหมดเหตุก็ดับไป เหมือนกันหมด ที่สมมติว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นคน เป็นสัตว์ ก็เพราะมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่เท่านั้นแหละ ถ้าหมดลมหายใจ ก็เลิกเป็นคน เลิกเป็นสัตว์ เหมือนกันทุกคน ตามที่แสดงไว้ในตอนกลาง มี ๖ อย่าง คือ

(๑) พิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่
(๒) พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกอยู่
(๓) พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่
(๔) พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่
(๕) พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
(๖) พิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่

อันนี้ เป็นการพิจารณาธรรมะทั้งภายในและภายนอก ให้เห็นว่าเป็นเพียงสังขาร ที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุ มีเงื่อนไขทำให้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ได้ก็เพราะเหตุ ไม่ได้มีอยู่จริงๆ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ อยู่ได้โดยลำพัง พอหมดเหตุ หมดเงื่อนไข เหตุพัง มันก็ดับไป ไม่ได้มีจริงๆ มีเมื่อเกิดขึ้น และหมดเหตุก็ไม่มี ไม่ใช่ไม่มีจริงๆ เพื่อให้ละความเห็นผิดเกี่ยวกับเที่ยงและขาดสูญ ละสัสสตทิฏฐิที่เห็นว่ามีสัตว์จริงๆ สัตว์ดำรงอยู่จริงๆ ละอุจเฉททิฏฐิที่เห็นว่ามีสัตว์ตาย แท้ที่จริง ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงสมมติ ความจริงมีเพียงสังขารที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุ และดับไปเมื่อหมดเหตุ ให้เห็นความจริงแห่งสังขารที่เป็นอย่างนั้น

ในทุกๆ หมวดของสติปัฏฐานตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ตอนต้นแสดงวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เพ่ิมขึ้น จนทำให้ละความยินดียินร้าย ละนิวรณ์ เกิดสมาธิขึ้น ตอนกลาง แสดงวิธีการพิจารณาให้เห็นเป็นธรรมะ ตอนท้ายสรุปประเด็นที่ทำเช่นนั้น เพื่อให้มีความรู้ที่ถูกต้อง เป็นญาณ และให้มีสติมั่นคงขึ้นตามความรู้นั้น ไม่ทำตามความอยากและความคิดเห็นของตน ไม่ทำตามตัณหาและทิฏฐิ ไม่ยึดถือสิ่งใดๆ ดังที่ทรงสรุปในตอนท้าย แยกเป็นประเด็นสำคัญได้ว่า

(๑) ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า “กายมีอยู่” ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น
(๒) ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิอยู่
(๓) ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆ ในโลก

สิ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญในการทำสติปัฏฐานทุกๆ หมวด ทำหมวดไหนก็ได้ ขอให้ลงท้ายด้วยการเห็นธรรมะเสมอกัน ทั้งภายในและภายนอก เราก็เป็นธรรมะ คนอื่นก็เป็นธรรมะ โลกก็เป็นธรรมะ เป็นสังขารที่เกิดเพราะเหตุ ดับเมื่อหมดเหตุ ที่ให้มีสติอย่างนี้ สติที่ทำขึ้น ฝึกขึ้นมานี้ ก็เพื่ออาศัยทำให้เกิดญาณ ทำให้รู้ชัด ทำความรู้แจ้งเห็นจริงให้เกิดขึ้น ไม่เห็นผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง จะได้ไม่ต้องอาศัยตัณหาและทิฏฐิ ไม่ทำตามความอยากและตามความเห็นของตน ทำตามเหตุ ทำตามธรรมะ ทำด้วยสติปัญญาเป็นหลัก ด้วยการทำเช่นนี้ ทำให้เกิดความรู้แจ้ง จนไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆ ในโลก ไม่ยึดถือในสิ่งที่รับรู้ ไม่ยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นเขา เป็นของเขา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เห็นธรรมะเป็นธรรมะ มันเป็นอย่างนั้น

สติปัฏฐานมีทั้งหมวด ๒๑ หมวด กายานุปัสสนา ๑๔ หมวด เวทนานุปัสสนา ๑ หมวด จิตตานุปัสสนา ๑ หมวด ธัมมานุปัสสนา ๕ หมวด ก็มีลักษณะการแสดงแบบเดียวกันนี้

ตอนต้น เป็นเทคนิควิธีการปฏิบัติในหมวดนั้นๆ เพื่อให้มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น ละความยินดียินร้าย ได้สมาธิ
ตอนกลาง ให้พิจารณาให้เห็นเป็นธรรมะ ทั้งภายในและภายนอก เกิดเพราะเหตุ ดับเมื่อหมดเหตุ เป็นธรรมดาของสังขารอย่างนั้น
ตอนท้าย สรุปประเด็นสำคัญของการทำเช่นนั้น ก็เพื่อให้เกิดญาณ มีสติมั่นคงขึ้น ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญา ไม่ตกเป็นทาสตัณหาและทิฏฐิ และไม่ยึดมั่นสิ่งใดๆ เหมือนกันทุกหมวด

ที่ทรงแสดงไว้หลายหมวดก็แตกต่างกันเฉพาะตอนต้นเท่านั้น ตอนกลางกับตอนท้ายเหมือนกันทุกหมวด เพียงแต่เปลี่ยนหลักธรรมให้เข้ากับสติปัฏฐานนั้นๆ ในหมวดต่อๆ ผมจะพูดเน้นที่ตอนแรก แสดงความแตกต่างในแง่เทคนิควิธีการ ดูเหมือนเยอะ แต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือ ตอนกลางกับตอนท้าย ให้ใส่เข้าไปทุกๆ หมวด

๓.๑.๒ หมวดอิริบาบถ
อาการของกายที่ไปทั้งกาย ทำกิริยาอาการ เพื่อบริหารทุกข์ให้พอเป็นไปได้ เรียกว่าอิริยาบถใหญ่ เดิน ยืน นั่ง นอน หรือกายไปทั้งกายตั้งอยู่ในอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น โยกโคลงไปมา ยืนตัวเอียง นั่งหลังงอ เป็นต้น เห็นกายว่าอยู่ในอาการอย่างนั้นๆ กายเดิน กายยืน กายนั่ง กายนอน หรือกายเคลื่อนที่ไปทั้งร่างกาย กายทำอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เดิน ยืน นั่ง นอน เป็นอิริยาบถประจำร่างกาย สลับ เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เราดูให้เห็นว่า ที่เดินอยู่นี้เป็นกาย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นเพียงรูปที่เดิน และที่เดินได้ก็เพราะเป็นกายที่มีจิตเกิดอยู่ในร่างนี้ ข้อ ๓๗๕

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่า “เราเดิน”
เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า “เรายืน”
เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า “เรานั่ง”
หรือเมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า “เรานอน”
ภิกษุนั้น เมื่อดำรงกายอยู่โดยอาการใด ๆ ก็รู้ชัดกายที่ดำรงอยู่โดยอาการนั้น ๆ …

๓.๑.๓ หมวดสัมปชัญญะ
ข้อความตามพระพุทธพจน์ ในข้อ ๓๗๖ มีว่า

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ
ทำความรู้สึกตัวในการแลดู การเหลียวดู
ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก
ทำความรู้สึกตัวในการครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง …

ในหมวดนี้ ให้ความรู้สึกตัวในเวลาที่ทำกิจกรรมต่างๆ มีสติรู้ว่ากำลังทำอย่างนี้ๆ มีปัญญารู้ว่าทำด้วยจิตอย่างไร มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เป็นเพียงรูปนาม ส่วนต่างๆ ของร่างกายมีการเคลื่อนที่ไปทำนั่นทำนี่อยู่เรื่อยๆ ก็คอยสังเกตมัน เท้าก้าวไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลัง ก้าวเท้าซ้าย ก้าวเท้าขวา แลดู เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก กำมือเข้า แบมือออก นุ่งห่มเสื้อผ้า กินข้าว อาบน้ำ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ อย่างนี้ก็เป็นการตามดูกายในกายอีกวิธีหนึ่ง ทำความรู้ตัวเวลากายบางส่วนเคลื่อนไหว ตากะพริบ กลืนน้ำลาย มือไปจับแก้วน้ำ จับนั้นจับนี้ นิ้วกระดิกไปกระดิกมา อะไรพวกนี้ เอาบางส่วนมาเป็นที่ตั้งให้เกิดความรู้ เป็นที่ตั้งให้เกิดสติสัมปัญชัญญะ ถ้าตามดูบ่อยๆ รู้สึกบ่อยๆ ก็จะเกิดสติสัมปัญชัญญะขึ้นมาได้

๓.๑.๔ หมวดมนสิการสิ่งปฏิกูล
ข้อ ๓๗๗ มีว่า

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า
“ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด
ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น
น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร”
ภิกษุทั้งหลาย ถุงมีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่างๆ คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร คนตาดีเปิดถุงยาวนั้นออก พิจารณาเห็นว่า “นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลือง นี้เป็นเมล็ดงา นี้เป็นข้าวสาร” แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่างๆ ว่า
“ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด
ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น
น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร” …

หมวดนี้ พิจารณาดูร่างกายที่ประกอบไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาด มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ดี เสลด เลือด หนอง เป็นต้น มองให้ทะลุว่ามันเป็นกายเท่านั้น มีส่วนประกอบหลายๆ ส่วน ประชุมรวมกันขึ้น ล้วนแต่ของไม่สะอาดทั้งนั้น ไม่มีตัว ไม่มีตน เมื่อจิตมีสมาธิ มีความตั้งมั่นแล้ว มองดูในแง่วิปัสสนาก็ได้ มีตัวตนในเส้นผมไหม มีตัวตนในขน ในเล็บ ในฟัน ในหนังไหม มองดูก็จะเห็นว่า ที่เป็นกายของเรานี้ มีหลายส่วนประกอบกันขึ้น ไม่มีตัวเราในส่วนประกอบเหล่านั้น อาศัยส่วนประกอบหลายๆ ส่วนมาประชุมกัน สมมติเรียกว่าตัวเราก็มีขึ้น จำได้ไม่หมดก็ไม่เป็นไร พิจารณาเพียงบางส่วนก็ได้

๓.๑.๕ หมวดมนสิการธาตุ
ข้อ ๓๗๘ มีว่า

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่โดยความเป็นธาตุว่า “ในกายนี้ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่”
ภิกษุทั้งหลาย คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้มีความชำนาญ ครั้นฆ่าโคแล้ว แบ่งอวัยวะออกเป็นส่วนๆ นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า “ในกายนี้ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่” …

หมวดนี้ให้พิจารณาดูร่างกายนี้ เป็นส่วนประกอบของธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดินเป็นส่วนประกอบที่เป็นของแข็ง มาแทนที่อากาศ ในความรู้สึกว่า มันแข็ง มันนุ่ม มันอ่อน อย่างนี้ธาตุดิน ธาตุน้ำเป็นส่วนประกอบที่เอิบอาบ ซึมซาบ ดึงดูดกันและกัน ธาตุไฟเป็นความร้อนที่อยู่ในร่างกาย ธาตุลมเป็นส่วนที่เคลื่อนที่ เคลื่อนไหวได้ความตึง ความหย่อนในร่างกาย ร่างกายประกอบไปด้วยธาตุทั้ง ๔ ถ้าดูเห็นอย่างนี้ก็ชื่อว่าตามดูกายในกาย เห็นกายว่าเป็นเพียงสักแต่ว่ากาย เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เห็นลมหายใจเป็นธาตุ เป็นธาตุที่ไหลเข้าและไหลออกอยู่ในธาตุ

๓.๑.๖ หมวด ๙ ป่าช้า
เมื่อเห็นซากศพคนตายภายนอก ก็นำกายนี้เข้าเปรียบเทียบว่า มีลักษณะเหมือนกัน สักวันหนึ่งก็จะมีสภาพเป็นอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้ มองให้โทษของร่างกาย ตอนนี้ยังไม่ปรากฏอย่างนั้นชัดเจน ก็น้อมนำเข้าไปพิจารณา ให้เห็นว่าต้องเป็นอย่างนั้น วันหนึ่งโทษก็จะปรากฏขึ้นอย่างแน่นอน ซากศพในระยะเวลาต่างๆ มีลักษณะไม่เหมือนกัน แบ่งออกเป็น ๙ ลักษณะ

ข้อ ๓๗๙ มีว่า

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
๑. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งตายแล้ว ๑ วัน ตายแล้ว ๒ วัน หรือตายแล้ว ๓ วัน เป็นศพขึ้นอืด ศพเขียวคล้ำ ศพมีน้ำเหลืองเยิ้ม แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า “ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้” ฉันนั้น …

๒. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งถูกกาจิกกิน นกตะกรุมจิกกิน แร้งทึ้งกิน สุนัขกัดกิน สุนัขจิ้งจอกกัดกิน หรือสัตว์เล็กๆ หลายชนิดกัดกินอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบ เทียบให้เห็นว่า “ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้” ฉันนั้น …

๓. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกยังมีเนื้อและเลือด มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า “ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้” ฉันนั้น …
๔. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกไม่มีเนื้อ แต่ยังมีเลือดเปื้อนเปรอะ มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า “ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้” ฉันนั้น …

๕. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกไม่มีเลือดและเนื้อ แต่ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำ กายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า “ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้” ฉันนั้น …

๖. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกไม่มีเอ็นรึงรัดแล้ว กระจุยกระจายไปในทิศใหญ่ ทิศเฉียง คือ กระดูกมืออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกขาอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกหลังอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกคออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกฟันอยู่ทางทิศหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางทิศหนึ่ง แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า “ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้” ฉันนั้น …
๗. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกสีขาวเหมือนสีสังข์ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า “ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้” ฉันนั้น …

๘. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกกองอยู่ด้วยกันเกินกว่า ๑ ปี แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า “ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้” ฉันนั้น …

๙. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นกระดูกผุป่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้ เห็นว่า “ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้” ฉันนั้น

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า “กายมีอยู่” ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิอยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดป่าช้า ๙ หมวด จบ
กายานุปัสสนา จบ

นี้ก็เป็นความแตกต่างของซากศพในระยะเวลาต่างๆ กัน เมื่อเห็นแล้ว ก็น้อมนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบว่า กายนี้ก็เป็นอย่างนั้นแหละ ทีนี้ ยุคนี้อาจจะหาศพคนตายยากหน่อย เพราะเขาปกปิดกัน เมื่อเห็นสัตว์ตาย ซากสัตว์ต่างๆ ซากเป็ด ซากไก่ ซากหมา ซากแมว ก็สามารถพิจารณาได้เช่นกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อมองให้เห็นธรรมชาติของกาย ร่างกายมันเป็นอย่างนี้ สักวันหนึ่ง ก็จะต้องขึ้นอึด พุพอง เลือดหนองไหลออก เป็นกระดูกกระจัดกระจาย จนกระทั่งกลายเป็นผุยผง คืนโลกไปในที่สุด

แขนที่ติดอยู่กับร่างกายนี้ สักวันหนึ่งก็ต้องกระจัดกระจายไป หัวก็ไปทางหนึ่ง คอก็ต้องไปทางหนึ่ง ขาก็ไปทางหนึ่ง ฟันก็ไปทางหนึ่ง แยกย้ายกันไป รวมกันในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น บางส่วนยังไม่ต้องตาย ก็แยกย้ายไปแล้ว อย่างเส้นผม เข้าร้านตัดผม ก็ลาหัวไปแล้ว ผมไปทางหนึ่ง หัวไปทางหนึ่ง ไปคนละทาง สักวันหนึ่งก็จะแตกกระจายกันไป นี้คือธรรมชาติของกาย

ที่กล่าวมานี้เรียกว่าดูกายในกาย ดูเพื่อให้เห็นว่าเป็นสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร เป็นเพียงรูปที่ประชุมรวมกันขึ้น การดูอย่างนี้ ทำให้มองเห็นความจริงของกาย ทำให้มีสติ มีปัญญา ถ้าเราขาดสติสัมปชัญญะ ก็จะเกิดความยึดถือกายว่าเป็นตัวเรา ตัวเขา เป็นเราเดิน เป็นเรานั่ง เป็นเรากินน้ำ เป็นเรากินข้าว เป็นแขนของเรา ขาของเรา ผมของเรา ส่องกระจกแต่งตัวให้เราดูดี ตัดผมก็เพื่อให้เราสวย เราหล่อ ผมสั้นแต่เราหล่อ ก็มั่วไปอย่างนี้ ความจริง กายมันก็เป็นกาย เส้นผมก็เป็นเส้นผม มันไม่ได้บอกว่าหล่อหรือสวย มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมีสติสัมปชัญญะ แยกแยะองค์ประกอบ มองดูกายว่าเป็นกาย ก็ทำให้มีสติสัมปัญชัญญะเพิ่มขึ้น มีสติมั่นคง จิตใจเข้มแข็ง มีปัญญา ไม่หลงเอากายมาเป็นเรา เป็นเขา เป็นคน เป็นหญิง เป็นชาย เห็นกายเป็นกาย เป็นส่วนประกอบหลายๆ ส่วนประชุมกันรวมกันขึ้น ล้วนแต่เป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่มั่นคง เป็นทุกข์ เป็นสิ่งที่เป็นภาระ ต้องดูแล บริหารด้วยความยากลำบาก และเป็นสิ่งไม่มีตัวไม่มีตน

๓.๒ เวทนานุปัสสนา
ต่อมา สติปัฏฐานหมวดที่สอง คือ เวทนานุปัสสนา ตามดูเวทนาในเวทนา เวทนา คือความรู้สึกสุขบ้าง ทุกข์บ้าง อทุกขมสุขบ้าง ล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย เกิดจากผัสสะเป็นครั้งๆ ไป วิธีปฏิบัติก็ให้ตามดูเวทนาเหล่านั้นว่าเป็นเพียงสักว่าเวทนา เป็นเวทนามันสุข เป็นเวทนามันทุกข์ เป็นเวทนามันเฉยๆ ไม่ใช่เราสุข ไม่ใช่เขาสุข ไม่ใช่ใครสุข เป็นเวทนาเท่านั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติไว้ในข้อ ๓๘๐ ว่า

ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เมื่อเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า “เราเสวยสุขเวทนา”
เมื่อเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า “เราเสวยทุกขเวทนา”
เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า “เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา”
เมื่อเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า “เราเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส”
เมื่อเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า “เราเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส”
เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า “เราเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส”
เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า “เราเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส”
เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า “เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิส”
เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า “เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส”
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในเวทนาทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า “เวทนามีอยู่” ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิอยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างนี้แล
เวทนานุปัสสนา จบ

หมวดนี้ ให้มีสติตามดูเวทนาว่าเป็นเพียงสักแต่ว่าเวทนา เป็นความรู้สึก เป็นความรู้สึกที่เป็นอย่างนั้น สุขบ้าง ทุกข้าง อทุกข์มสุขบ้าง เป็นเรื่องของเวทนา เป็นเวทนาที่เป็นอย่างนั้น เวทนามันสุข เวทนามันทุกข์ เวทนามันเฉยๆ ไม่ใช่เราสุข ไม่ใช่เราทุกข์ ไม่ใช่เราเฉยๆ ไม่ใช่จิตสุข ไม่ใช่จิตทุกข์ ไม่ใช่จิตเฉยๆ เป็นเวทนา เวทนาทางกายก็มี เวทนาทางใจก็มี ให้หมั่นสังเกตดู มองดู เวลาปวดหลังก็ให้ดู ความปวดมันไม่ได้มีอยู่ก่อน มีเมื่อมันเกิดขึ้น เกิดเพราะเหตุ เป็นเพียงเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นครั้งๆ ไม่ใช่หลังปวด ไม่ใช่เราปวด ไม่ใช่จิตปวด เป็นเวทนาที่เป็นอย่างนั้น นี้เรียกว่าตามดูเวทนา

เวลามีความสุข ความสุขเกิดขึ้นก็ดู ดูว่าเวทนาสุข ไม่ใช่เราสุข ไม่ใช่จิตสุข เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ความทุกข์ก็เหมือนกัน ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข เฉยๆ ก็พิจารณาได้ มองดูให้เห็นได้ว่า เป็นเวทนาเฉยๆ โดยส่วนใหญ่ พอเฉยๆ เราก็เฉยตามมันไปด้วย ความจริงแล้ว เฉยๆ ก็เป็นเวทนาอย่างหนึ่ง เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งในบรรดาความรู้สึกทั้งหลาย มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ ให้รู้ว่า โอ้.. นี้เวทนามันเฉยๆ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่ใช่เราเฉยๆ ไม่ใช่จิตเฉยๆ

การมองดู ตามดู สังเกตดู ก็ทำเหมือนสติปัฏฐานข้อแรกนั่นแหละ ดูกายว่าเป็นกาย กายอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา มันเป็นอย่างนั้น มันไม่เป็นอย่างอื่น เป็นไปตามปัจจัยของมัน พอข้อที่สองก็ดูเวทนาว่าเป็นเวทนา เป็นสักแต่ว่าเวทนา ความรู้สึกสุขนี่เป็นเวทนา ความรู้สึกทุกข์เป็นเวทนา ความรู้สึกเฉยๆ เป็นเวทนา มีสติสัมปชัญญะ สังเกตดูไปอย่างนี้บ่อยๆ จะเกิดสติสัมปัญชัญญะมากขึ้น เกิดความรู้ และสติตั้งมั่น ถ้าไม่ดูมัน ไม่ศึกษามัน ไม่มีสติสัมปัญชัญญะ ก็หลง เอาเวทนาเป็นเรา เป็นของเรา

เหมือนกับเมื่อขาดสติ ไม่ได้สังเกต หลงกาย ก็เอากายนี้เป็นเรา เป็นของเรา นี้แขนของเรา ขาของเรา ผมเราสวย ผมเราไม่สวย หน้าตาเราดี หน้าตาเราไม่ดี อย่างนี้หลง ด้านเวทนาก็เหมือนกัน ถ้าขาดสติสัมปัญชัญญะ ไม่ได้ตามดูให้เห็นสักแต่ว่าเป็นเวทนา ก็จะหลง ความสุขเกิดขึ้น ก็จะนึกว่าเราสุข ก็เกิดความพอใจ ความทุกข์เกิดขึ้น ก็นึกว่าเราทุกข์ นี้เลยไปแล้ว สุขของเรา ทุกข์ของเรา เกิดความยินดียินร้ายขึ้น เหมือนที่คนทั้งหลายเป็นกัน พากันหาความสุข หนีทุกข์ อย่างนี้ก็เพราะหลงเวทนา รักสุข ชอบสุข ก็หลงยินดีในเวทนา เกลียดทุกข์ ไม่ชอบทุกข์ ก็หลงยินร้ายในเวทนา ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็ไม่ได้กำหนดรู้ เป็นเราเฉยๆ อย่างนี้ก็หลงเอาเวทนามาเป็นตน

ดังนั้น ให้ตามดูอยู่เสมอ บ่อยๆ เนืองๆ ให้ต่อเนื่อง ทุกข์ก็ให้รู้ รู้ว่าเป็นทุกข์ ให้เห็นเป็นเวทนา และเห็นความจริงของเวทนาว่า มันไม่เที่ยง จากไม่มี ก็มามีขึ้น มีแล้ว ก็ไปสู่ความไม่มี แต่ก่อนไม่รู้อยู่ไหน พอมีเหตุ ก็เกิดขึ้น มีปรากฏอยู่แป๊บเดียว ดับไป ก็ไม่รู้หายไปไหน ไม่มีตัวตนที่จะจับเอาไว้ได้ มาจากที่ไหนไม่ปรากฏ ดับไปสู่ที่ไหนก็ไม่ปรากฏ อย่าให้มีเราขึ้นมา ถ้าเกิดความรู้สึกมีเรา มีของเราขึ้น ก็ให้รู้ว่า นี้เป็นความหลง มันคิดเอาเองทั้งนั้น อย่าไปเชื่อ จิตคิด แล้วให้ดูจิตต่อไป ให้เห็นว่า จิตแต่ละอย่างๆ ก็เป็นจิต ไม่ใช่ตัวตนอะไร ความนึกอะไรเหล่านี้ เป็นเพียงจิตที่คิดขึ้นมาเป็นครั้งๆ

ที่กล่าวมานี้ เป็นการทำความเพียร ฝึกให้มีสติมีสัมปัญชัญญะ ดูกายว่าเป็นเพียงสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มองดูบ่อยๆ เสมอๆ จะเห็นร่างกายนี้ตามที่มันเป็นจริง ที่เคยมีความกำหนดหมายผิดๆ ว่า เป็นตัวเรา สวยงามอะไรต่างๆ มีปัญญาเกิดขึ้น เห็นว่า กายเป็นสักว่ากาย เป็นรูปที่มาประชุมกัน เป็นธาตุ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เป็นสิ่งไม่สวยไม่งาม ความรู้ชัดเจนขึ้น ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงขึ้น

การตามดูเวทนาบ่อยๆ ก็ทำนองเดียวกัน มีความเพียร มีสัมปัญชัญญะ มีสติ ดูอยู่เสมอๆ จะมองเห็นเวทนาเป็นเพียงสักแต่ว่าเวทนา เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นครั้งๆ เท่านั้น ความรู้สึกมีมากมาย ที่เกิดขึ้นนี้ ก็เป็นหนึ่งในบรรดาความรู้สึก มีเหตุก็เกิด เกิดแล้วก็ดับไป ไม่หลง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไปกับเวทนาชนิดต่างๆ ต้องเห็นบ่อยๆ ถ้าเห็นไม่บ่อย ก็ยังไม่แจ่มแจ้ง ยังไม่ชัด เห็นเพียงครั้งสองครั้งแล้วเลิก อย่างนี้คงยากที่เข้าใจชัด ต้องเห็นบ่อยๆ ความสุขก็ต้องดูว่าความสุขเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เราเป็นอย่างนี้ ความทุกข์เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เราเป็นอย่างนี้

ดูกายเป็นกาย ดูเวทนาเป็นเวทนา อย่าให้เลยไป ถ้าเลยไปก็ให้รู้ว่า ขาดสติแล้ว เอาใหม่ ทำความรู้ตัว ตั้งสติใหม่ ดูใหม่ แบบไหนเลยไป มีดี มีชั่ว มีถูก มีผิด มีน่าพอใจ ไม่น่าพอใจ มีเรา มีของเรา มีเขา มีของเขา ยินดี ยินร้าย รัก ชัง โผล่เข้ามา นี้เรียกว่าเลยไปแล้ว ถ้ากำลังเดินไป รู้สึกว่า นี้เราเดิน อย่างนี้เลยแล้ว กายเดิน จิตเป็นคนรับรู้ ถ้าไม่เลยจะเห็นกายเคลื่อนที่ไปมา กระดุกกระดิกอย่างนั้นอย่างนี้ เลยไปก็ไม่เป็นไร ให้รู้ รู้ว่าเลยไปแล้ว หลงไปแล้ว ให้รู้ ปล่อยไป แล้วก็ทำใหม่ เริ่มใหม่ ด้านเวทนาก็ทำนองเดียวกัน แหม.. ชอบใจ พอใจ ถูกใจ สุขดีเหลือเกิน อย่างนี้ก็เลยไปแล้ว ความทุกข์ไม่ดีเลย นี้ก็เลยไป ให้รู้ว่า เลยไปแล้ว ให้รู้ แล้วเริ่มใหม่ รู้ตัวบ่อยๆ อย่างนี้

ฝึกบ่อยๆ จะมีสติสัมปัญชัญญะเพิ่มขึ้น มีความรู้ตัวเพิ่มขึ้น ได้ผลคือละอภิชฌาและโทมนัส ละความยินดียินร้ายในโลกได้ ละความยินดียินร้ายในกายได้ ละความยินดียินร้ายในเวทนาได้ ความสุขเราก็จะไม่ชอบมัน ความทุกข์ก็จะไม่เกลียดมัน ยังสุขได้เหมือนเดิม แต่รู้เท่าทันว่าเป็นเพียงความสุขที่อยู่ไม่นาน ไม่หลงยินดี หมกมุ่น หรือทุ่มเทจิตใจให้กับมัน ยังทุกข์ได้เหมือนเดิม แต่รู้เท่าทันว่า เป็นเพียงแต่เวทนา ใช้เป็นสิ่งเรียนรู้ ต้องทนรับไป สุขก็ทนสุขไป ทุกข์ก็ทนทุกข์ไป สุขทนง่าย ทุกข์ทนยากหน่อย แต่ทั้งหมดก็ต้องทนเหมือนกัน ท้ายที่สุดก็ทนอยู่ไม่ได้ ตามกฎเกณฑ์แห่งสังขาร มันต้องดับไปเหมือนกันหมด เข้าใจชัดขึ้นว่า สุขมีธรรมชาติอย่างนี้ ทุกข์มีธรรมชาติอย่างนี้ สิ่งทั้งหมดที่เกิดก็ล้วนต้องดับไปทั้งนั้น พอเข้าใจชัดอย่างนี้ ความรู้ก็จะเพิ่มขึ้น ต่อไปจะให้ไปหลงรักอันหนึ่ง เกลียดอันหนึ่ง ก็ทำไม่ลง จะให้ไปหมกหมุ่น เที่ยงแสวงหาสุขวนเวียนเหมือนเดิม ก็ทำไม่ลง จะให้เกลียดทุกข์ ก็ทำไม่ลงแล้ว นี้เพราะมีปัญญาเข้าใจธรรมชาติของมัน

ความรู้ที่เป็นชุดโพธิปักขิยธรรม ถ้าทำให้มีขึ้นมาแล้ว เป็นปัญญาโพธิ จะไม่กลับไปโง่อีก ไม่เหมือนความรู้จากการฟัง ฟังก็ดีเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ความรู้ของเรา ฟังก็เข้าใจแล้ว แต่ความรู้วันนี้ดับไป พรุ่งนี้อาจจะโง่ได้อีก ไม่รู้เรื่องอีกก็ได้ นี้เป็นลักษณะความรู้ทั่วๆ ไป ส่วนความรู้ชุดโพธิปักขิยธรรมนั้น ของเก่าดับไปก็จริงอยู่ แต่ตอนที่มันเกิดขึ้นนั้น ทำลายกิเลสไปด้วย ทำลายความไม่รู้ได้ด้วย มันจึงชำระจิตได้ ส่วนธรรมะอื่นๆ ทำลายอวิชชาไม่ได้ ทำลายกิเลสไม่ได้ ชุดโพธิปักขิยธรรมนั้น ถ้าทำให้มีขึ้น ความรู้ที่มีขึ้น จะทำลายพวกความไม่รู้ออกไป เข้าใจถูก เห็นถูกเพิ่มขึ้น ทำลายความเข้าใจผิด ทำลายความเห็นผิด ความเห็นผิดจึงถูกทำลายได้ด้วยการเห็นถูกให้บ่อยๆ เห็นถูกบ่อยๆ ความเห็นผิดก็ถูกทำลาย ลดลงไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ได้ฝึกโดยวิธีนี้ ความเห็นผิดไม่ลด ตอนนี้ไม่เกิด วันดีคืนดี มีเหตุปัจจัย ก็เกิดอีก

วันนี้พูดขยายความสติปัฏฐาน ได้สองข้อ กายานุปัสสนา กับเวทนานุปัสสนา สมควรแก่เวทนาเท่านี้นะครับ อนุโมทนาทุกท่านครับ

_______________________