สติปัฏฐาน ๔ ตอนที่ ๓

สติปัฏฐาน ๔ ตอนที่ ๓

บรรยายวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔

ขอนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย
สวัสดีครับผู้ที่สนใจในธรรมะทุกท่าน

วันนี้บรรยาย โพธิปักขิยธรรม ตอนที่ ๓ การบรรยายชุดโพธิปักขิยธรรมก็จะบรรยายไปเรื่อยๆ ตอนนี้เป็นหมวดแรก คือ สติปัฏฐาน ๔ มีสติ ตามดูอยู่ในกาย เวทนา จิต และธรรม ที่ตั้ง ที่อาศัย อารมณ์หรือโคจรของสติ ที่เที่ยวไปของสติ มี ๔ อย่าง ให้จิตวนเวียนรู้อยู่ภายในตนเอง รู้กายในกาย รู้เวทนาในเวทนา รู้จิตในจิต รู้ธรรมในธรรม รู้กายว่าเป็นกาย รู้เวทนาว่าเป็นเวทนา รู้จิตว่าเป็นจิต รู้ธรรมว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน นี้เป็นโคจรของพระอริยเจ้า เรียกเป็นภาษาธรรมะว่าอริยโคจร พระอริยเจ้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ หรือเหล่าอริยสาวกอื่นๆ พระอริยบุคคลระดับรองๆ ลงมา ท่านก็โคจรอยู่ในกายในใจนี้แหละ โคจรอยู่ในนี้ เที่ยวดูในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม พิจารณาดูอยู่แต่ในตัวเองนี้

การมีสติ รู้ตัว ดูอยู่ที่ตนเอง จะทำให้เป็นผู้อยู่อย่างเป็นสุขในทุกวัน ใช้ชีวิตด้วยความปลอดโปร่ง เบาสบาย ทำให้มีสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น และทำให้มีปัญญาจนถึงความหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวงได้ นี้เป็นอานิสงส์ที่มากมายของสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นธรรมะหมวดแรกในโพธิปักขิยธรรม ถ้าเราค่อยๆ หัดฝึก ศึกษาเรียนรู้อยู่ในวงของกายของใจตนเอง ดูกายดูใจไว้บ่อยๆ อย่างนี้ จะมีความสุขโดยไม่ต้องไปหายาก ได้สติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น รู้เท่าทันความคิดความรู้สึกตนเอง ไม่หลงไปทำทุจริตต่างๆ สามารถงดเว้นทุจริตได้ สามารถจะป้องกันกระแสความอยาก ป้องกันกระแสตัณหาได้ ไม่หลงไปกับโลกเขา เพราะสติปัฏฐานนั้นทำให้ละอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ทำให้ไม่หลงยินดีไปกับโลก ไม่หลงยินร้ายไปกับโลก นี้ขั้นต้นๆ ขั้นต่อมา ก็ทำให้มีสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น ทำให้มีปัญญา จนถึงทำให้พ้นจากอาสวะทั้งปวงได้

ในคราวที่แล้ว ได้พูดถึงวิธีปฏิบัติสติปัฏฐานไปหลายอย่างด้วยกัน กายในกาย ให้เราตามดู พิจารณาดู สังเกตดูว่า กายเป็นเพียงสักแต่ว่ากาย อย่าไปว่ามันดีหรือไม่ดี อย่าไปว่ามันถูกหรือว่าผิด ให้ดูว่าเป็นเพียงสักแต่ว่ากาย ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก กายเดิน ยืน นั่ง นอน แค่รู้สึกถึงกายอยู่อย่างนี้ ถ้าเราเป็นคนไม่คิดมาก และทำง่ายๆ สบายๆ ก็รู้สึกได้อยู่แล้ว รู้สึกไปธรรมดา มือมันเคลื่อนไปเคลื่อนมา ก็รู้สึกว่าส่วนหนึ่งของกายเคลื่อนไปเคลื่อนมา จับแก้วน้ำก็รู้ว่า เออ..มันจับแก้วน้ำ ยกขึ้นก็หนักหน่อยหนึ่ง ถ้าไม่ได้จับแก้วน้ำ มือก็เคลื่อนไปเคลื่อนมาสะดวกเบาดี พอจับแล้วมันก็หนักขึ้น สังเกตไปทำนองนี้ ขาก็เหมือนกัน ก้าวเดินไป ก้าวเดินมา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นกายมันเดิน ขามันก้าวไป อย่างนี้เรียกว่า มีความรู้สึกตัว มีสติอยู่ที่กาย ไม่ยากอะไร เราก็ไปหัดบ่อยๆ ที่ยากนั้นไม่ใช่วิธีการ เป็นเพราเราไม่ได้หัด ไม่ได้ฝึกเอาไว้ ความเพียรไม่ถึง ความเพียรไม่พอ ก็ไม่ได้ผล

เวลาจะทำความเพียร กิเลสมันก็เยอะเป็นธรรมชาติ ความจริงกิเลสก็เยอะอยู่แล้ว มัวตามกิเลสอยู่ ก็ไม่ค่อยรู้ตัวว่ามีกิเลสมาก พอไม่ตามกิเลส ก็จะเห็นมากขึ้นและมันก็มาขวาง ทั้งแบบตัณหาชนิดต่างๆ อยากทำนั่น ไม่อยากทำนี่ ความชอบ ความหงุดหงิด รำคาญ ทั้งนิวรณ์ตัวอื่นๆ ความง่วง หาวนอน ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ความลังเลสังสัย ฉะนั้น เราก็ต้องเพียรพยายามฝึก ตามดูกายในกาย ตามดูเวทนาในเวทนา ตามดูเวทนาสักว่าเป็นเวทนา สุขเป็นเวทนาที่สุข ทุกข์เป็นเวทนาที่ทุกข์ เฉยๆ ก็เป็นเวทนาที่เฉยๆ ไม่ใช่ตัวตน บุคคล อย่างนี้ ดูเวทนาว่าเป็นเพียงเวทนา ดูแบบนี้บ่อยๆ ก็จะสามารถละความยินดียินร้ายในเวทนาได้ พอละความยินดียินร้ายได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้นโดยได้ง่าย ที่เป็นทุกข์เพราะมัววิ่งวุ่นอยู่ วิ่งไปหาสุข พอวิ่งไปหาสุข เจอเหตุการณ์ทำให้เป็นทุกข์ เลยเกิดความเครียดขึ้น เกิดความเกลียดขึ้น มันวุ่นวายไปทำนองนี้ ถ้ามามองดูตามที่เป็นจริง จะละลดอภิชฌาและโทมนัส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้ ทุกข์ไม่เกิด ก็ปลอดโปร่งขึ้น สบายขึ้น ใจก็เบาขึ้น เป็นอานิสงส์ข้อแรกๆ ที่เราจะได้พบ

ตามดูจิตในจิตก็ทำนองเดียวกัน ดูว่า จิตมีอาการอย่างนี้ๆ มีสิ่งนี้ๆ เกิดประกอบ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตไม่มีราคะก็รู้ว่าจิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตไม่มีก็รู้ว่าจิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะก็รู้ว่าจิตไม่มี โมหะ จิตตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้นปลอดโปร่งก็รู้ว่าจิตหลุดพ้นปลอดโปร่ง จิตมันไม่หลุดพ้น จับอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ไม่ยอมปล่อย ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น จิตจับอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ไม่ยอมปล่อย อย่าไปยุ่งกับมัน ให้ดู เห็นเป็นเรื่องของจิต จิตที่มีอาการเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมีสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดประกอบกับจิต นี้เรียกว่าตามดูจิตในจิต

ในคราวที่แล้ว พูดถึงตามดูธรรมในธรรม ดูธรรมะว่าเป็นเพียงสักแต่ว่าธรรมะ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี นี้ก็เป็นเพียงสภาวธรรมเหมือนกันนั่นแหละ แรกๆ นั้นเราอาจจะยังไม่เห็นว่าเป็นธรรมะ เพราะปัญญาน้อยอยู่ เพียรฝึกให้มีสติสัมปชัญญะ มีสมาธิ แล้วคอยดูไปบ่อยๆ จะเกิดปัญญาได้ หรือผู้ที่มีความสามารถ สนใจปฏิบัติฝึกหมวดธัมมานุปัสสนาเลยก็ได้ อาจจะเป็นคนที่เคยฝึกมาแล้วจากชาติก่อนหรือชาตินี้ ฝึกต่อไปได้ เห็นธรรมะก็สักแต่ว่าเป็นธรรมะ ไม่ว่าฝ่ายดีหรือฝ่ายไม่ดี ก็เท่าเทียมกันโดยความเป็นธรรมะ

ฝ่ายไม่ดีมีตัวอย่างวิธีการปฏิบัติอยู่ในหมวดนิวรณ์ ในคราวที่แล้ว อ่านให้ฟังแล้ว คือ ถ้ากามฉันทะเกิดขึ้น มีขึ้นมาในจิต ก็รู้ว่ากามฉันทะมีอยู่ภายในจิตของเรา อันนี้ดูที่ตัวสภาวะตรงๆ เลย ถ้าเป็นการดูจิตก็จะดูว่า จิตมีความพอใจ แต่ตอนนี้ดูว่าความพอใจมีอยู่ที่จิต และความพอใจนี้เกิดเพราะเหตุปัจจัยอะไร ก็รู้จักตามที่เป็นจริง ความพอใจนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะคิดอย่างนี้ๆ ความพอใจจึงเกิดขึ้น ทีนี้ ถ้าเป็นความไม่พอใจก็รู้อีกเหมือนกัน ความไม่พอใจ ความพยาบาทเกิดขึ้นในจิต ก็รู้ว่า มันเกิดขึ้นมา มีขึ้นมา ความพยาบาทนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ก็รู้จักเหตุปัจจัยของมัน มันหมดไปเหตุอะไรก็รู้จัก นี้เรียกว่า การรู้ธรรมะ คือรู้ว่า เป็นเพียงสภาวธรรมอย่างหนึ่ง มันไม่มีตัวตน ทีนี้ จะเห็นว่า ไม่มีตัวตนอย่างชัดเจนได้ ก็ต้องเห็นเหตุปัจจัยของมันว่า เกิดจากเหตุปัจจัยอะไรบ้าง อย่างเราชอบหน้าคนนี้ ความชอบนี้ ไม่ใช่มาลอยๆ มาจากการใส่ใจในแง่ใดแง่หนึ่ง สนใจว่า คนนี้เคยพูดดีกับเรา เป็นเพื่อนเรา เคยช่วยเราอย่างโน้นอย่างนี้ เคยเป็นญาติเรา หรือแค่เห็นหน้า ก็ถูกชะตากัน ความรู้สึกว่าถูกชะตา อยู่ด้วยแล้วสบายใจ นี่แหละทำให้เกิดความชอบขึ้น ความชอบไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ การมองเห็นเหตุปัจจัย อย่างนี้เรียกว่าเห็นธรรมะ

สิ่งต่างๆ เกิดเพราะเหตุและดับไปเมื่อหมดเหตุ ที่ชัดเจนคือผัสสะแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน เมื่อกระทบผัสสะแล้ว ทำให้เกิดสภาวธรรมแต่ละอย่างๆ ขึ้น คิดไม่เหมือนกันก็เกิดสภาวธรรมไม่เหมือนกัน ใส่ใจไม่เหมือนกันก็ทำให้เกิดสภาวธรรมที่ไม่เหมือนกัน ถ้าใส่ใจไม่ถูก ก็เกิดอกุศล ถ้าใส่ใจถูก เกิดสติสัมปชัญญะ เกิดความรู้ก็ได้ การมองเห็นสิ่งต่างๆ เป็นเพียงสภาวะเกิดเมื่อมีเหตุ หมดไปเมื่อหมดเหตุ เป็นสิ่งไม่มีตัวตน อย่างนี้เรียกว่าเห็นธรรมในธรรม เห็นอะไรก็ได้ ทั้งฝ่ายไม่ดีและฝ่ายดี ฝ่ายไม่ดี ความโลภ ความโกรธ ความหลง หดหู่ ท้อแท้ ง่วงเหงา หาวนอน อิจฉา อย่างนี้ก็ให้รู้จักว่า เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ไม่ได้มีอยู่ก่อน มีเมื่อเกิด เกิดเมื่อมีเหตุ และมองเห็นเหตุปัจจัยของมัน และหมดไปเมื่อหมดเหตุ

และผู้ศึกษาธรรมะ ก็จะรู้เพ่ิมเติมด้วยว่า จะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะเหตุอะไร เช่น ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทำอย่างไรจะไม่เกิดขึ้นอีก คนที่ศึกษาธรรมะก็จะรู้จักว่า อ๋อ.. จะไม่หลงรักได้ ต้องรู้จักมันตามที่เป็นจริง เลิกยึดถือนั่นแหละ ถ้ายังไม่รู้จักมันตามที่เป็นจริง ยังไม่เลิกยึดถือ เมื่อมีเหตุ มันก็เกิดขึ้นได้ ต่อไปก็ไม่มีปัญหากับธรรมะ รู้แล้วว่า ถ้ายังมีเหตุ ก็เกิดได้อีก ต้องหมดเหตุนั่นแหละ จึงหมดไปอย่างถาวร ไม่ได้เอาความอยากหรือความต้องการของตนเป็นหลัก พูดไปตามเหตุ อย่างนี้เป็นต้น นี้ฝ่ายไม่ดี

ฝ่ายดีก็ทำนองเดียวกัน สติ สมาธิ ปัญญา ธัมมวิจัย หรือสภาวธรรมอื่นๆ เมื่อเกิดขึ้น ก็เห็นว่า เป็นสิ่งไม่มีตัวตน เกิดเมื่อมีเหตุ ต้องทำเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยพร้อมมันก็เกิด ไม่มีเหตุก็ไม่เกิด อย่างนี้ ทำความเพียรมากขึ้นๆ แต่เพียรด้วยความเข้าใจ รู้จักเรื่องเหตุปัจจัย เป็นความเพียรที่บริสุทธิ์ ไม่ได้เอาเรื่องตัวตนมาเกี่ยวข้อง เมื่อรู้จักว่า สติเป็นสิ่งไม่มีตัวตน เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เป็นธรรมะฝ่ายสังขาร เกิดเมื่อมีเหตุ เราก็ทำเหตุเยอะๆ ให้เกิดก็ได้ รู้จักธัมมวิจัยหรือปัญญาว่า เป็นธรรมะที่เกิดเมื่อมีเหตุ และมีประโยชน์ เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้ตรัสรู้ ก็ทำเหตุปัจจัยให้ปัญญาเกิดเพิ่มขึ้นก็ได้ สมาธิก็เหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่าเห็นธรรมในธรรมฝ่ายดี

โพชฌงค์เป็นธรรมะฝ่ายดี ก็เป็นเพียงสักแต่ว่าธรรมะ แต่เป็นธรรมะที่ควรเจริญ นิวรณ์เป็นธรรมะฝ่ายไม่ดี ก็เป็นเพียงธรรมะเหมือนกัน แต่เป็นธรรมะที่ควรละ อย่างนี้เรียกว่า ตามดูธรรมในธรรม ให้เห็นทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีโดยความเสมอกัน คือเป็นธรรมะเท่ากัน ความจริงแล้ว ทั้งการตามรู้กาย เวทนา และจิตนั้น ถ้าฝึกอย่างถูกต้อง และมีปัญญาเพิ่มขึ้น ก็จะเห็นธรรมะโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ท้ายที่สุด เมื่อมีปัญญาเพิ่มขึ้นก็จะเห็นเป็นธรรม ตอนต้นๆ เราฝึกปฏิบัติ มองดูความสุขเป็นสุข ความสุขมันเกิดขึ้นแล้วดับไป ความสุขเป็นเวทนา ทุกข์เกิดขึ้นแล้วดับไป ความทุกข์เป็นเวทนา ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเขา หรือตัวใคร อันนี้เรียกว่าตามดูเวทนา เห็นสุขว่าเป็นสุข ไม่ใช่ตัวตน เห็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน

ถ้าดูละเอียดเพิ่มขึ้น ให้เห็นชัดขึ้น มองทะลุขึ้นว่า สุขที่เกิดขึ้นนี้เกิดเพราะผัสสะชนิดนี้ เห็นหน้าคนที่เรารัก ความพอใจ ความสบายใจจึงเกิดขึ้น ความสุขเกิดขึ้นเพราะผัสสะ นี้เป็นการดูธรรมะ เป็นธัมมานุปัสสนา เห็นว่า เวทนาเป็นสภาวะธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดเพราะผัสสะ กระทบผัสสะที่จะทำให้เกิดทุกข์ ทุกข์จึงเกิดขึ้น ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใครสั่ง ไม่เหมือนตอนต้น เห็นสุขเป็นเวทนา ไม่ใช่เราสุข เห็นทุกข์เป็นเวทนา ไม่ใช่เราทุกข์ นี้เป็นเวทนานุปัสสนา แต่มองทะลุขึ้น เห็นหตุปัจจัยชัดเจนขึ้นทำนองนี้ เห็นว่า เวทนานั้นเป็นสิ่งไม่มีตัวตน ไม่ได้มีอยู่ก่อน เกิดเพราะเหตุ ดับไปเพราะหมดเหตุ มีเหตุปัจจัยอะไรอยู่บ้าง มองทะลุไปอย่างนี้ ก็จะเป็นหมวดธัมมานุปัสสนา จัดเป็นหมวดขันธ์ หรือกระทั่งหมวดสุดท้าย หมวดสัจจะ เห็นความจริงของสภาวธรรมที่ล้วนไร้แก่นสาร ไม่มีตัวตนเหมือนกัน

๓.๔.๒ หมวดขันธ์
ในคราวที่แล้ว ผมได้พูดไปจนกระทั่งถึงหมวดธัมมานุปัสสนา หมวดนิวรณ์ วันนี้จะอ่านให้ฟังหมวดขันธ์ ท่านก็ลองฟังดู สำหรับผู้ที่มีปัญญา ก็สามารถฝึกหมวดธัมมานุปัสสนาได้เลย ส่วนใครที่ยังไม่มีปัญญา ต้องไปฝึกหมวดต้นๆ มาก่อน หมวดต้นๆได้พูดไปแล้ว ใครที่ยังฟังไม่ทัน ให้ไปฟังย้อนหลัง แล้วก็ไปหัดมานะครับ

ในข้อ ๓๘๓ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ อย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า
“รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้
เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้
สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้
สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งสังขารเป็นอย่างนี้
วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้”

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า “ธรรมมีอยู่” ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิอยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ อย่างนี้แล
หมวดขันธ์ จบ

อันนี้เป็นธัมมานุปัสสนาหมวดที่ ๒ การตามดูธรรมะว่าเป็นสักแต่ว่าเป็นธรรมะ มีอยู่ ๕ หมวด หมวดที่ ๑ นิวรณ์ ซึ่งได้พูดไปแล้ว ที่อ่านให้ฟัง เป็นหมวดขันธ์ หมวดที่ ๒ หมวดที่ ๓ หมวดอายตนะ หมวดที่ ๔ หมวดโพชฌงค์ หมวดที่ ๕ หมวดสัจจะ เราจะปฏิบัติหมวดไหนก็ได้ ในยุคพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงทราบอัธยาศัย ถ้าใครสมควรที่จะบรรลุ พระองค์ก็ทรงประกาศอริยสัจไปเลย ซึ่งเป็นธัมมานุปัสสนาหมวดสุดท้าย อย่างนี้กรณีที่ผู้ฟังมีปัญญามาก อินทรีย์แก่กล้าพร้อมที่จะบรรลุแล้ว ก็ประกาศอริยสัจได้เลย เป็นหมวดสุดท้ายในธัมมานุปัสสนา ส่วนคนไหนที่ปัญญาน้อยพระองค์ทรงประกาศหมวดต้นๆ แล้วแต่อัธยาศัยของคนๆ นั้น ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น พระองค์ทรงแสดงไว้ครบถ้วน เต็มที่ สมบูรณ์แบบทีเดียว เราฟังดูก็เลือกเอาไปหัด

เราก็ต้องดูตนเองว่า หัดหมวดไหนแล้วสติสัมปชัญญะดีขึ้น หัดด้วยหมวดไหนทำแล้วง่าย สะดวกสำหรับเรา ทำให้มีสติสัมปชัญญะ มีความรู้ตัวดี อุปกิเลสพวกนิวรณ์ไม่ครอบงำจิต ทำอย่างไหนแล้วดีขึ้นก็ต้องดูเอา ต้องอดทน ช่วงแรกๆ อาจจะง่วงนอนบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง ขี้เกียจบ้าง พอฝึกไปสักเดือนสองเดือน ความยินดียินร้ายลดลง ความฟุ้งซ่านรำคาญใจลดลง ง่วงเหงาเศร้าซึมลดลง แสดงว่าใช้ได้สำหรับคนนั้น สามารถละอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ แต่บางคนไม่ได้สังเกตตัวเอง ไปฝึกตามชาวบ้านเขา เขาเอาหมวดไหน เราก็เอาด้วย คนอื่นเขาเอาหมวดนี้ ทำแล้ว ใจปลอดโปร่งโล่งเบาดี ง่วงบ้างสองสามวัน พอวันต่อมาเขาก็หายแล้ว มีสติดี ทำกรรมฐานตามเพื่อนนี่แหละ เดินก็เดินตามเพื่อน นั่งก็นั่งตามเพื่อน เพื่อนสบายแล้ว ส่วนเขานี้ไปทีไรก็ง่วงทุกที แต่ก็ไม่ยอมเข็ด แบบนี้ไม่ฉลาดในการเลือกทำกรรมฐาน การทำกรรมฐานต้องฉลาด ต้องเลือกเอาเอง เลือกให้เหมาะกับตนเอง ดีกับตนเอง วิธีการมีเยอะแยะ

ในหมวดขันธ์ พระพุทธองค์ตรัสว่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า “รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้”

นี้เกี่ยวกับรูปขันธ์ รูปร่างกายเรานี้ เป็นส่วนประกอบของรูปที่ประชุมรวมกันขึ้น หมวดธัมมานุปัสสนานี้ ให้มองเห็นร่างกายนี้ เป็นสักแต่ว่ารูป ไม่มีอะไรเกินรูป ผม ผม เล็บ ฟัน หนัง แขน ขา ทั้งหมดนี้ ไม่มีอะไรเกินรูป มองดูอันนี้ เป็นส่วนประกอบของรูป รูปมาประชุมรวมกัน รูปเคลื่อนที่ไปมา รูปทำนั่นทำนี่ เป็นแต่รูป ต้องอาศัยปัญญาเยอะเหมือนกัน จึงจะเห็นอย่างนี้ เราปฏิบัติตอนต้นๆ ปัญญาน้อยแค่รู้ว่า ลมหายใจมันเข้า ลมหายใจมันออก นี้พอใช้ได้แล้ว กายเดินไปเดินมา กายนี่ยังไม่ใช่รูป กายเป็นส่วนประกอบของรูป ที่เราเห็นกายเคลื่อนที่ไปเคลื่อนที่มา แขนเคลื่อนไปเคลื่อนมา นี้ยังไม่ได้เห็นรูป แต่เห็นกาย กายเป็นส่วนประกอบของรูป ใช้ฝึกสติได้ ปัญญายังไม่มาก เห็นกายเดินไปเดินมา นี่ก้าวเท้าซ้าย ก้าวเท้าขวา ความจริง มันไม่ใช่เท้าซ้ายเท้าขวา นั้นเป็นตอนต้น สำหรับคนยังไม่มีปัญญามากนัก ก็ฝึกด้วยวิธีนั้น เป็นกายานุปัสสนา ส่วนธัมมานุปัสสนาเห็นเป็นรูป เห็นสักแต่ว่ารูป ไม่มีอะไรเกินรูป ที่เคลื่อนไปเป็นรูป

รูปที่เป็นประธาน ที่เป็นหลัก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตลม มันประชุมรวมกันแล้วก็มีรูปอื่นมาประกอบอยู่ในนี้ เป็นรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ถ้าเห็นว่า อ๋อ.. ร่างกายเป็นเพียงแต่รูปเท่านั้น รู้สึกถึงความเป็นรูป ธาตุดินก็เป็นของแข็งกระด้าง มีน้ำหนัก เวลาที่เหยียบลงที่พี้น มันก็รู้สึกหนักๆ มีความแข็ง อ่อน นุ่ม ที่รู้สึกได้ นี้เป็นอาการของธาตุดิน บางคนยกขึ้นยังเป็นขาอยู่เลย เอาลงยังเป็นขาอยู่เลย อันนี้เห็นเป็นกาย ไม่ได้เห็นเป็นรูป ถ้าเห็นเป็นรูปมันไม่ได้เห็นอย่างนั้น ไม่ได้เห็นเป็นขา เห็นว่า เวลาที่กระทบแล้ว น้ำหนักลงที่ตัวนี่ มันหนัก พอยกขึ้นก็เบา คลื่อนไปเคลื่อนมา ไหวโยกเอนไปมา นี้เป็นธาตุลม มันเคลื่อนไหว และในอวัยวะต่างๆ มีก็ประกอบด้วยทั้ง ๔ ธาตุ อิงอาศัยกันอยู่ จึงหนักบ้าง เบาบ้าง เคลื่อนไปสบายๆ ก็เบาหน่อย ถ้าหิ้วอะไรขึ้นมันก็หนักเพิ่มขึ้น ไม่ได้เห็นเป็นแขนเป็นขา เห็นโดยความเป็นรูป ต้องอาศัยปัญญาเพิ่มขึ้น แต่ถ้ายังไม่มีปัญญา มองทีไรก็เป็นแขนทุกทีเลย มีห้านิ้วด้วย โอ้..แสดงว่า ฝึกด้วยหมวดขันธ์ไม่ได้แล้ว ต้องไปฝึกหมวดกายมาก่อน เอาแค่มีสติให้ได้ก่อนก็พอแล้ว เออ..มือเคลื่อนไปเคลื่อนมา แบบนี้ก็พอใช้ได้ เรียกว่ามีสติเห็นกาย ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อันนี้ก็เป็นกาย กายเดินไปเดินมา เคลื่อนที่ ก้าวเท้าซ้าย ก้าวเท้าขวา นี้เรียกว่าเห็นกาย แต่ตอนนี้พูดขยายความถึงหมวดธัมมานุปัสสนา ในเรื่องเดียวกัน รูปร่างกายเหมือนกัน ปฏิบัติแบบหนึ่ง มองแบบหนึ่งเป็นหมวดกายานุปัสสนา มองอีกแบบหนึ่งเป็นหมวดธัมมานุปัสสนา ไม่เหมือนกัน อยู่ที่มุมมองหรือว่าปัญญา

ผู้ที่มีปัญญา ก็มองทะลุแล้ว ก็ให้เห็นอยู่ว่า ตัวเรานี่ไม่มี เป็นส่วนประกอบของขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และรูปเองก็เป็นส่วนประกอบของหลายๆรูป ประชุมรวมกันเข้า มีรูปที่เป็นประธาน ดิน น้ำ ไฟ ลม และรูปอื่นๆ อีก จักขุปสาท ประสาทตาก็ซึมอยู่ในลูกตานี่ ลูกตานี่ถ้าเป็นลูกๆ เป็นมหาภูตรูป ส่วนปสาทตามันซึมอยู่ในลูกตาอีกต่อหนึ่ง บางคนมีลูกตาแต่ไม่มีประสาทตาก็มองไม่เห็น หูก็เหมือนกัน รูปหูก็เป็นมหาภูตรูปประชุมรวมกัน ส่วนประสาทหูก็ซึมอยู่ข้างในหู ประสาทหูเป็นรูปมาอาศัยอยู่ บางคนมีใบหู แต่ไม่มีประสาทหู ก็เป็นคนหูหนวกไป ไม่ได้ยินเสียงอะไร ประสาทจมูกซึมอยู่ที่โพรงจมูก ประสาทลิ้นซึมอยู่ที่ปลายลิ้น กายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วร่างกายทั้งภายในและภายนอก ที่ไม่ซึมอยู่ มีส่วนที่ปลายเล็บและผมเส้นผม ไม่มีกายปสาทซึมอยู่ เส้นผมมีมหาภูตรูปแต่ไม่มีประสาทกาย ปลายเล็บนี่มีมหาภูตรูปรวมกลุ่มกันขึ้น แต่ไม่มีประสาทกาย มันจึงไม่รู้เจ็บ ส่วนแขนนี่มีทั้งมหาภูตรูปด้วย มีทั้งประสาทกายอยู่ด้วย หยิกจึงเจ็บ มีการกระทบสัมผัสได้

พูดไปแล้ว บางคนไม่เห็นก็อาจจะงง พอเห็นแล้ว มันก็เป็นอย่างนี้ๆ เป็นรูป เป็นเพียงสักแต่ว่ารูปเท่านั้น ไม่มีอะไรเกินรูป รูปมันไม่รู้เรื่องราวอะไร เป็นรูปอยู่เฉยๆ อย่างนั้น ไม่รู้สึกรู้สา พวกเราเกินไปหมด ที่จริง ไม่มีอะไรเกินกาย ดูกายในกาย กายก็สักแต่ว่ากาย เราเกินกายไป คือ เห็นว่ากายนี้เป็นเรา เห็นว่ากายของเรา แทนที่จะเห็นแขนเป็นกาย เป็นที่ประชุมรวมของธาตุ ก็เห็นว่าเป็นแขนของเรา อย่างนี้ไปอีก เลยไป แขนสวย แขนไม่สวย ดูดี ดูไม่ดี มีกล้าม ไม่มีกล้าม ว่าอย่างนั้นไปอีก อย่างหน้าตา ความจริงก็เป็นกาย เป็นส่วนประกอบของรูป แต่เราส่องกระจกดู โอ้โห..เราสวย เราไม่สวย ไปเกิดความชอบและไม่ชอบขึ้นเยอะแยะ อย่างนั้นเลยไป การฝึกสติ ให้มีความรู้ ไม่ให้เลย รู้กายสักแต่ว่ากายเท่านั้น เวทนาสักแต่ว่าเวทนาเท่านั้น จิตสักแต่ว่าจิตเท่านั้น ถ้าเลยไป ก็ให้รู้ว่าหลงไป แล้วกลับมารู้ใหม่ หลงไปแล้วก็กลับมารู้ใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

หมวดขันธ์ รูปอย่างนี้ รูปเป็นเพียงแต่รูปเท่านั้น ความเกิดแห่งรูปเป็นอย่างนี้ รูปเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยหลากหลายมาก ที่เรานั่งอยู่นี้ไม่ใช่มาลอยๆ มีปัจจัยที่ให้เกิดนี้มีมหาศาล คนมีปัญญาก็จะมองทะลุ เหตุปัจจัยหลักใหญ่ ที่ทำให้มีกองทุกข์เกิดวนเวียนอยู่ คือ อวิชชา ความไม่รู้อริยสัจ ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดจากตัณหาอย่างมนุษย์ อยากอย่างมนุษย์ เดี๋ยวสักหน่อยไปเกิดเป็นเทวดา ก็อยากอย่างเทวดา เกิดเป็นพรหมก็อยากอย่างพรหม อวิชชาความไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ ทำให้รักทุกข์ ก็ได้เกิดกองทุกข์มา อาศัยความอยาก ถ้าอยากแบบเลวมากเกินไป ไม่มีความรู้แล้วอยาก ทำกรรมไม่ดีก็ไปอบาย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม เหล่านี้เป็นเหตุเก่าที่ทำให้เราได้รูปอย่างนี้ นี้เป็นความเกิดของรูป มองแบบลึกซึ้ง มองให้ทะลุไปจนถึงเหตุปัจจัยหลากหลาย ตั้งแต่เหตุปัจจัยที่สืบเนื่องยาวนาน สืบทอดเป็นกระแสมา และเหตุปัจจัยในปัจจุบันก็มีมาก อาหารที่กลืนกินเข้าไป ซากเป็ด ซากไก่ ซากปลา ซากกุ้ง ข้าว น้ำ พืช ผัก ที่เราใส่เข้าไป นี้เป็นหตุเกิดของรูป อาหารที่กินเข้าไปเมื่อกี้นี้ ก็เป็นธาตุของโลก

อุตุ ฤดูกาล อากาศเปลี่ยนแปลง ก็ทำให้รูปนั้นเปลี่ยนแปลงไป ฤดูกาลผ่านไปหลายครั้ง ตีนกาก็ขึ้นบ้าง ผมหงอกบ้าง หนังเหี่ยวย่นบ้าง ฟันโยก ตัวตกกระ หลังโกง อย่างนี้เรียกว่าความเกิดขึ้นของรูปแต่ละอย่าง เป็นไปตามเหตุปัจจัย มีตั้งแต่เหตุปัจจัยจากอดีตอนันตชาติมากมายมหาศาล โดยหลักใหญ่ คือ ความไม่รู้อริยสัจ ทำให้ได้มา และเกิดมาจากตัณหา อุปาทานและการทำกรรมต่างๆ ทำให้แต่ละคนมีผิวพรรณดีและไม่ดี ต่างกันหลากหลายอย่างนี้

และมีเหตุปัจจัยปัจจุบันอีกมากมาย อาหารที่กินต่างกัน อากาศต่างกัน อยู่ในสถานที่ต่างกัน บ้านเมืองต่างกัน ก็ทำให้รูปนั้นแตกต่างกันไป อย่างท่านนั่งอยู่นี้ บางคนทานอาหารกลางวันแบบนี้ก็เป็นแบบนั้น บางคนไม่ได้ทานก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่งลองดูก็ได้ อดอาหารกับไม่อดอาหาร รูปไม่เหมือนกัน กินอาหารอร่อยๆ กินอาหารอิ่ม รูปจะเป็นอย่างหนึ่ง จะดูอืดๆ สักหน่อย ถ้าไม่ได้กินอาหาร ก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง จะเศร้าๆ หงอยๆ ไม่ค่อยมีแรง แตกต่างกันนะ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่เร่ืองตัวตนอะไร มันเป็นสักแต่ว่ารูป ซึ่งมีเหตุมีปัจจัย อันนี้เรียกว่าความเกิดของรูป เคยเห็นบ้างมั้ย หรือเห็นแต่ตัวตนไปหมดว่า โอย..เราอ้วน โอย..เราแน่นท้อง โอย..เราหิว อย่างนี้ อันนี้เห็นเป็นตัวตนไปแล้ว แท้ที่จริงมันเป็นสักแต่ว่ารูป มีแต่รูปเท่านั้น และความเกิดของรูปเป็นอย่างนี้ๆ มีเหตุปัจจัยมหาศาล

ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้ รูปต่างๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนี้ มันจะหมดไปอย่างไร หมดไปเพราะหมดเหตุปัจจัยนี่แหละ ปัจจัยหมดก็พลอยสลายตัวไปตามลำดับของมัน เพราะเป็นธรรมชาติของขันธ์ คือ ก้อนทุกข์ ไม่ใช่ก้อนของดีของวิเศษอะไร เราจึงต้องบริหารให้มันพอเป็นไปได้ ให้มันผ่านไปได้ ถ้าบริหารมันผ่านไปได้ด้วยดี พอทนได้ ก็เรียกว่าลงตัวพอดี มันไปโดยเรียบง่าย ถ้าบริหารไม่ค่อยดีนัก ก็จะรู้สึกลำบากลำบน ไม่ค่อยลงตัว เหนื่อยเป็นทุกข์ทรมานกับมัน อย่างนี้แสดงว่าเราบริหารมันไม่ถูก ถ้าบริหารถูก มันรู้สึกลงตัว พอดี ง่าย สะดวก สบาย

แท้ที่จริง คำว่า สะดวกก็ดี สบายก็ดี เหนื่อยก็ดี ยุ่งยากก็ดี คือ บริหารทุกข์นั้นเอง ถ้าบริหารแล้วลงตัวพอดี ก็เรียกว่าเรียบง่าย ลงตัว สบาย ปลอดโปร่ง ถ้าบริหารแล้วไม่ลงตัว ไม่พอดี มันติดขัด มันก็เครียด หนัก วิตกกังวล ยุ่ง มันก็ทุกข์เหมือนกัน ต้องพยายามดูแล บริหารให้มันพอเป็นไปได้ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เรื่องการงานทางโลกมันเก็เหมือนอย่างนี้แหละ อยู่บริษัทก็ต้องมีงานเยอะ ถ้าบริหารแล้ว ไปได้ดี ลงตัว ลงล็อกพอดี มันตรง Action Plan เราก็บอกว่า มันลงตัว เรียบง่าย ลงล็อค แท้ที่จริง มันคือทุกข์นั่นแหละ ต้องทนไปและท้ายที่สุดก็ทนไม่ได้นั่นแหละ แต่มันทนได้ง่าย ก็เลยเป็นอย่างนั้น ทีนี้ ถ้ามันไม่ลงล็อค ไม่ลงตัว มีเรื่องติดขัด มันก็ทุกข์เหมือนกันนั่นแหละ อันหนึ่งลงล็อค ลงตัว พอดี เรียบง่าย ส่วนอีกอันหนึ่งมันทุกข์ทรมานมาก

ชีวิตมันเป็นทุกข์อย่างนี้ ท่านอยากให้มันเป็นไปอย่างไรก็เลือกเอา ทั้งแบบไปอย่างเรียบง่ายกับไปอย่างยากๆ เป็นทุกข์เหมือนกันหมด โดยธรรมชาติ ชีวิตเป็นทุกข์อยู่แล้ว ถ้าบริหารให้ถูกต้อง มันก็ไม่หนักมาก ไปแบบสบายๆ ต้องไปเหมือนกัน แต่ไปแบบไม่เครียด ส่วนอีกอันหนึ่ง บริหารไม่ถูกต้อง ต้องเครียด ต้องแบกอะไรต่างๆ เป็นคนประมาทมัวเมาไป ทำนองนี้

นี้เกี่ยวกับรูป รูปเป็นอย่างนี้ๆ อย่างนี้ความเกิดของรูป อย่างนี้ความดับของรูป มันเป็นรูป ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปตามใจเรา มันไม่ยอมฟังเรา เป็นไปตามเหตุอยู่เสมอ เข้าใจอย่างนี้ ก็ใส่เหตุปัจจัยเข้าไปให้ถูกต้อง ใส่อาหารหรืออะไรต่างๆ เข้าไป ให้มันถูกต้อง ออกกำลังกายให้ถูกต้อง บริหารรูปให้มันเป็นไปได้ ไม่ใช่บริหารเรา บริหารทุกข์นั่นเอง บริหารทุกข์ให้มันพอเป็นไปได้ เรียกว่าสุขสบาย เรียบง่าย ไร้กังวล อะไรก็ว่าไป แท้ที่จริงแล้ว มันทุกข์นี่แหละ อันหนึ่งบริหารแล้ว ลงตัวล็อคพอดี ลงตัวพอดี ไม่เจ็บ ไม่บ่วย ที่ไม่เจ็บไม่ป่วยก็เป็นรูป เป็นกองทุกข์เหมือนกัน ขันธ์นี่แหละ ส่วนที่มันเจ็บป่วยไม่สบาย ออดๆ แอดๆ เป็นโรคโน้นโรคนี้ ก็เป็นทุกข์เหมือนกันนี่แหละ แต่ลำบากหน่อย หน้าที่ของพวกเรา ก็ต้องเรียนรู้มันและบริหารมันให้พอเป็นไปได้ พอเข้าใจอย่างนี้เราก็เข้าใจมัน ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ถ้ารู้เรื่องตัวเองหมด เรื่องภายนอกก็เข้าใจหมด เพราะโลกมันก็เป็นอย่างนี้ เป็นทุกข์เหมือนกัน ถ้าอยากให้มันเป็นไปอย่างไม่ยุ่งยากมากนัก ให้มันเป็นไปอย่างสงบๆ สบายๆ ก็มีวิธีอยู่ ต้องบริหารให้ถูก ถ้าบริหารไม่ถูก ก็จะถูกตัณหา มานะ ทิฏฐิ ถล่มเอาเละเลย

ต่อมาเรื่องเวทนา เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกนี้ เป็นเพียงเวทนาที่เกิดตามเหตุปัจจัย เป็นการเสวยอารมณ์ กินอารมณ์ อารมณ์นั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ภายนอก มันไม่ได้อยู่ภายในจิต จิตรับรู้อารมณ์ เวทนาเสวยอารมณ์ สัญญาจำอารมณ์ สังขารปรุงแต่งต่ออีก เป็นคนละสภาวะกัน ถ้าดูแบบเวทนานุปัสสนา ก็ดูแค่ความรู้สึก สุขเวทนาไม่ใช่เรา ทุกขเวทนาไม่ใช่เรา ความรู้สึกเฉยๆ เป็นเวทนาที่เฉยๆ มันเฉยๆ ไม่ใช่เราเฉยๆ เป็นเวทนาเป็นแบบนั้น ทีนี้ มาดูแบบธัมมานุปัสสนาก็ลึกซึ้งขึ้น อย่างนี้เวทนา เวทนามันเป็นอย่างนี้แหละ จะให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ อย่างนี้ความเกิดของเวทนา เวทนาเกิดมาได้อย่างไร สุขกับทุกข์ก็ต้องทนเหมือนกัน อันหนึ่งทนง่าย ชอบทน อยากให้มันทนต่อไปอีก อีกอันหนึ่งทนยาก ไม่อยากทน อยากทนหรือไม่อยากทนก็ต้องทนเหมือนกัน เพราะมันเป็นก้อนทุกข์ เป็นเวทนาขันธ์

ขันธ์คือกองทุกข์ ไม่ใช่กองของดีของวิเศษอะไร กองของสิ่งที่มีเหตุปัจจัยทำให้เกิด เหตุปัจจัยที่ทำให้เวทนาเกิดนี้ ล้วนแต่ไม่เที่ยงทั้งนั้น เวทนาที่เกิดจากเหตุปัจจัยที่ไม่เที่ยง มันก็ไม่สามารถคงที่อยู่ได้ตลอดเวลา ไม่มีทางที่จะทำให้มันคงที่อยู่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องบริหารให้มันผ่านพ้นเป็นไปได้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่ให้มันคงที่อยู่ได้ เพราะมันคงที่อยู่ไม่ได้ ถ้าบริหารแล้วมันลงตัวพอดี มันเรียบง่าย ก็เรียกว่ามันสุข อันนี้สมมติเรียกเฉยๆ ความสุขนี้ แท้ที่จริงแล้วคือเวทนาที่เกิดจากเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยลงตัวพอดีอะไรพอดี มันก็ไม่เครียดมาก ไม่เหนื่อยมาก เรียกว่าสุข เกิดจากผัสสะเป็นครั้งๆ ไม่ได้อยู่นานอะไร เวทนานุปัสสนาเห็นสุขเป็นเพียงเวทนา ตอนนี้เห็นเวทนาเป็นธรรมะ เห็นเหตุปัจจัย ลึกซึ้งกว่ากันอย่างนี้

ทุกข์ก็เป็นเวทนา เฉยๆ ก็เป็นเวทนาเหมือนกัน เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ นี้เป็นเวทนาขันธ์ เป็นสิ่งที่ต้องทน แต่มันทนอยาก เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยที่ไม่ลงตัว มันบีบคั้นอย่างแรง โดยเฉพาะด้านความเห็น ถ้าเห็นผิดแล้วก็มีเรื่องยุ่งยากมาก

สัญญา ความจำได้ ความหมายรู้ ความกำหนดเครื่องหมาย สีแดง สีเหลือง สีขาว สูง ต่ำ หญิง ชาย หมา แมว เรารู้ได้ว่า เออ..เราอยู่ตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ คนนั้นชื่อนี้ คนนี้ชื่อนั้น อันนี้ดี อันนั้นไม่ดี อันนั้นถูก อันนั้นผิด นี้ก็เป็นเพียงสักแต่ว่าสัญญา เกิดจากผัสสะที่เป็นครั้งๆ ก็เกิดสัญญาผุดขึ้นมาตามข้อมูลเก่าๆ แล้วแต่ว่จะจำไว้แบบไหน ถ้าจำดี ของดีก็ผุดขึ้นมา ตัวเรานี้มันไม่มี เป็นรูปกับนามประชุมกัน อยู่ในรูปกระแส กระแสขันธ์ สะสมอะไรไว้เป็นข้อมูลมาก กระทบอารมณ์แล้ว ก็ผุดขึ้นมา ตัวที่ทำหน้าที่ดึงข้อมูลต่างๆ กำหนดได้ อันนี้เรียกว่าอะไร นี้คือตัวสัญญา ความหมายรู้ ยุคใหม่ๆ ก็เทียบกับคอมพิวเตอร์ มีข้อมูลเก็บเอาไว้ แล้วคลิ๊กมันขึ้นมา ข้อมูลแบบไหนเยอะ คลิ๊กแป๊บเดียว มันก็ขึ้นมาเยอะ กระแสขันธสันดาน เป็นการเกิดดับสืบเนื่องของขันธ์ ความรู้ทั้งถูกทั้งผิด ทัศนคติ อุดมคติ บารมีและกิเลสต่างๆ ก็สะสมอยู่ในขันธสันดาน

สิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี้ เป็นรูปและนาม มีการสืบต่อสืบเนื่องอย่างยาวนานไม่สิ้นสุด และยังไปเรื่อยๆ ถ้ายังไม่รู้อริยสัจ ข้อมูลที่สะสมเอาไว้เยอะแยะนี่ ตัวที่ทำหน้าที่กำหนดหมาย ดึงข้อมูลคือสัญญา กระทบอารมณ์ สัญญาก็เกิดขึ้น ถ้าอยากรู้ว่าเราสะสมเรื่องดีหรือไม่ดีไว้เยอะหรือเปล่า ก็ต้องดูตอนกระทบอารมณ์ ถ้าสะสมนิจจสัญญา คือเครื่องหมายว่าเที่ยงไว้เยอะ เมื่อรับรู้อารมณ์แล้ว ก็ดูเหมือนเที่ยง แน่นอนอยู่เรื่อย ต้องทำอันนี้ให้ได้แน่นอนนะ พูดออกมาด้วย ทำนองนี้ แสดงว่าจำเอาไว้ไม่ดี จำแต่เรื่องเที่ยง ถ้าจำแต่เรื่องสุข เรื่องตัวเราของเรา จะหาความสุขจากโลกนี้ เมื่อกระทบอารมณ์แล้ว ก็คิดได้แต่ว่า โอ้.. อันนี้น่าจะให้สุข ทำอย่างไรจะเป็นสุขนานๆ หลงรักทุกข์เข้าไปอีก ของดีๆ น่าจะให้สุขได้ใช่มั้ย ของดีๆ ยิ่งทุกข์เยอะ เพราะของดีๆ มันก็รักษาลำบาก ของไม่ดีก็ไม่เป็นไร ทิ้งง่ายหน่อย ของดีๆ ทิ้งลำบาก ยิ่งของใกล้ๆตัวเรา ทิ้งลำบากหนักไปกว่าเดิม แต่เขาจำผิดๆ ว่า เออ..ของดีๆ ทำให้เราเป็นสุข หลงรักของดีเสียอีก

ความจำได้ เครื่องหมายที่กำหนดขึ้นว่า อันนั้นชื่อนี้ อันนี้ชื่อนั้น มันเป็นอย่างนี้ๆ นี้เรียกว่าสัญญา เป็นสักแต่ว่าสัญญา อย่าเชื่อมันก็แล้วกัน สัญญาเป็นอย่างนี้ เกิดเพราะเหตุปัจจัย ที่มีปัญหาก็เพราะเราไปเชื่อมันนั่นแหละ พอมันว่าขึ้นมา เราไปเชื่อมัน จำว่า คนนี้ดี ก็เชื่อว่าดีจริงๆ เสียด้วย คนนี้ไม่ดี ก็เชื่อว่าไม่ดีจริงๆ ทั้งๆ ที่คนนั้นอาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้

ความกำหนดหมายว่า นั่นของเรา นี่ของเรา นี่สุข นี่ดี เกิดขึ้นจากการกระทบผัสสะ เกิดขึ้นเป็นครั้งๆ ไป เป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่แน่นอน อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นของสัญญา เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา เออ..นั่นของเรา นี่ของเรา นั่นเที่ยง นั่นสุข น่าจะดีอย่างโน้นอย่างนี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ขึ้นมาจากข้อมูลเก่าๆ ที่สะสมไว้นั่นแหละ พอกระทบอารมณ์ มันก็ขึ้นมา แค่ชาตินี้ชาติเดียวก็โดนใส่ข้อมูลมาซะเยอะ

นั่นแม่ของเธอ นี่ลูกของเธอ อย่างโน้นอย่างนี้ เยอะแยะ พอกระทบ มองเห็น ได้ยิน ได้รับรู้ สัญญาก็เกิดขึ้นมาเลย ของเราจริงๆ เสียด้วย ถ้าไม่เชื่อมันก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ก็รู้ว่า อ้อ..ความจำ เอาไว้ใช้ในการสื่อสารกัน อย่าไปจริงจังกับมัน อย่าไปเชื่อมันก็จบแล้ว จำว่า นี่ภรรยาของเรา เราก็ไม่เชื่อมัน เออ..ภรรยาหลวง ก็จบ ภรรยาของหลวง เป็นภรรยาหลวง ก็ไม่ใช่ของเรา สัญญามันก็จำไว้อย่างนั้นแหละ เราก็อย่าเชื่อมัน เพราะไม่ใช่ของเราจริง เขาเป็นของใครมาก็ไม่รู้ แล้วมาเป็นของเรา สักหน่อยก็ต้องไป ไม่เชื่อมันเราก็ไม่มีปัญหา รู้ว่า สัญญาเกิดมาได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร มีปัญหาตรงที่เราไม่รู้จักสัญญาตามความเป็นจริง ไม่เห็นธรรมะนั่นเอง พอบอกว่าภรรยาของเรา ก็ของเราจริงๆ เสียด้วย บริษัทของเรา เราสร้างมากับมือนะ แหม..ก็ของเราจริงๆ มันก็หลงปรุงแต่งไปยืดยาว

มองเห็นบริษัท สัญญาก็กำหนด ทำเครื่องหมายว่า นี่บริษัทของเรา เออ..บริษัทของเรา เป็นแค่สิ่งสมมติ ขนาดเรายังไม่มีจริงเลย แล้วบริษัทของเราจะมีจริงไหม ไม่เชื่อมัน บริษัทก็เป็นของเราชั่วคราว เดี๋ยวก็ไปแล้ว เป็นของโลกไป เราก็ใช้ชีวิตไปทำนองนี้ ไม่มีปัญหา ถ้าเข้าใจแล้วก็ใช้ชีวิตได้อย่างเดิม มีนั่นมีนี่อย่างเดิม แต่เข้าใจว่าที่มันมี มีขึ้นมาได้อย่างไร มันไม่ได้มีอยู่ก่อน มีได้เพราะกำหนดหมาย ทำเครื่องหมายเอา ทางโลกก็เอาไว้สื่อสาร ให้เข้าใจกันว่า อันนี้ของเรา อันนั้นของคุณ อันโน้นของคนนี้ อันนี้ของคนโน้น จะได้บริหารทุกข์ได้สะดวก ไม่ยุ่งยากมากนัก ให้มันพอเป็นไปได้ ไม่เช่นนั้นจะยุ่งกันมากเกินไป เพราะขนาดบริหารถูก ก็ยังยุ่งจะแย่อยู่แล้ว ถ้าบริหารไม่ถูก มันก็จะยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่ นี้เรื่องของสัญญา

ต่อไป เรื่องของสังขาร ให้รู้ว่า สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ สังขารนี้ยิ่งเยอะ ความปรุงแต่งต่างๆ ความคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะเอานั่นจะเอานี่ จะไม่เอานั่นไม่เอานี่ ความคิดปรุงแต่งของเรานี่ เยอะมาก ปรุงมาจากเวทนาบ้าง มาจากความรู้สึก ความรู้สึกแบบนี้เราชอบ ก็คิดปรุงแต่งไปแบบหนึ่ง ความรู้สึกแบบนี้ไม่ชอบ ก็คิดปรุงแต่ไปอีกแบบหนึ่ง สิ่งไหนที่ชอบก็อยากให้มันอยู่คงที่อยู่นานๆ ใช่มั้ย คิดหาวิธีปรุงต่อว่า ทำอย่างไรมันจะอยู่กับเรานานๆ อันไหนที่เราไม่ชอบ ความทุกข์ หาวิธีว่า ทำอย่างไรมันจะไม่เกิดขึ้น

แท้จริง สังขารทั้งปวงเกิดเพราะมีเหตุ หมดเหตุก็ดับ เราไปหาวิธีปรุงอะไรเยอะแยะ จนกระทั่งเรื่องปลีกย่อยทั่วไป มีทั้งบาป บุญ กุศล อกุศล มีทั้งดี ไม่ดี ที่ปรุงแต่งเกิดขึ้นในจิต ปรุงให้จิตดำหรือขาว โง่ลงหรือฉลาดขึ้น นี้ก็อยู่ที่สังขารนั่นแหละ สังขารมันปรุง เราทั้งหลายเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ให้รู้ตามที่เป็นจริง สังขารเป็นอย่างนี้ เกิดเพราะเหตุปัจจัยอย่างนี้ๆ หมดไป ไม่มีอีก ไม่เกิดอีก ก็เพราะหมดเหตุปัจจัย สังขารไหนที่ไม่ดี ทุจริตต่างๆ กิเลสต่างๆ รู้ว่ามันไม่ดี เราก็อย่าไปใส่เชื้อให้มัน อย่าไปให้อาหารมัน เรารู้จักมัน มันเกิดเพราะเหตุปัจจัย ต้องมีอาหาร เราก็อย่าให้อาหาร มันก็ลดลงได้ ถ้าเป็นฝ่ายดี ศีล สติ สมาธิ ปัญญา หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อะไรต่างๆ ที่เป็นของดี เรารู้จักว่ามันเป็นสังขาร เป็นสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ก็ใส่เหตุปัจจัยเข้าไป ก็ทำให้เจริญงอกงามได้ เราเลือกได้หมด จะเอาแบบไหนก็ได้ เหมือนกับพูดง่ายๆ คล้ายจะควบคุมได้ แต่ความจริง ไม่มีใครมีอำนาจควบคุมอะไรได้ ให้เหตุปัจจัยเป็นตัวควบคุมผล ทำเหตุปัจจัยได้ ใส่เหตุปัจจัยเข้าไป

คนมีความรู้ เขาก็ใส่เหตุปัจจัยเข้าไป ต้องการให้อะไรเกิดขึ้นบ้างล่ะ ต้องการแก้ไขอะไรในอนาคต อดีตแก้ไม่ได้ มันเกิดและดับไปแล้ว ปัจจุบันก็แก้ไม่ได้ เพราะกำลังเกิดตามเหตุ แต่แก้อนาคตได้ อนาคตยังไม่เกิด เรารู้เหตุปัจจัย สิ่งไม่ดี ไม่อยากให้เกิด ก็อย่าใส่เหตุปัจจัยที่ทำให้มันเกิด สิ่งดีๆ ยังไม่เกิด อยากให้เกิด ก็ใส่เหตุปัจจัยเข้าไป ถึงจุดที่พร้อมมันก็เกิด จะห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ ทำนองนี้ เป็คนรู้จักอะไรเป็นอะไร รู้จักขันธ์ รู้จักกองทุกข์ รู้จักกองทุกข์แล้ว ก็บริหารไป

ร่างกายและจิตใจนี้ ถ้ารู้จักมันดี เราก็จะบริหารให้มันพอเป็นไปได้ ถ้าพูดอย่างชาวโลก คือ บริหารให้มันไปอย่างสะดวก เรียบง่าย ไปอย่างไม่ทุกข์มาก ไม่ใช่บริหารให้มันไม่ไป บริหารให้มันเที่ยง ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะยังไง มันก็ต้องไป มันไม่เที่ยง บริหารให้มันไปนั่นแหละ แต่ไปดีหน่อย บริหารให้มันไม่ทุกข์มาก ให้มันเป็นสุขไม่ได้ เพราะมันเป็นขันธ์ มันได้เท่านี้ เป็นกองทุกข์ บริหารให้ไปอย่างเรียบง่าย แต่เปลี่ยนให้มันสุขไม่ได้

คำในภาษาต่างๆ ก็หลอกกันเองไปมา ไปอย่างง่ายๆ สะดวกๆ นั่นแหละคือสุข เรียบง่ายนั่นแหละคือสุข ส่วนไปอย่างยุ่งยาก มีปัญหาเยอะ เรียกว่าทุกข์ ก็ว่ากันไป แต่ในหลักธรรมแล้ว ท่านว่าเป็นขันธ์ทั้งหมด ถ้ารู้ความจริงของมันแล้ว ก็บริหารมันไป ซึ่งการบริหารชีวิตให้เป็นไปอย่างเรียบง่าย จนกระทั่งพ้นทุกข์ไปในที่ที่สุด ก็คือการประพฤติพรหมจรรย์ ตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า “ธรรมและวินัยที่เราแสดงไว้ดีแล้ว เธอทั้งหลายจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” ดังนั้น ถ้าอยากใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงความพ้นทุกข์คือพระนิพพานได้ด้วย ต้องดำเนินชีวิตตามแบบพรหมจรรย์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘

ต่อไปเรื่องวิญญาณ ท่านให้พิจารณาว่า วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ วิญญาณ แปลว่า รู้แจ้งอารมณ์ รู้ว่ามีอารมณ์เช่นนี้ๆ ปรากฏขึ้น ไม่ได้มีตัวมีตนหรือมีอะไรพิเศษ เป็นกระบวนการทำงานของธรรมะเท่านั้น อาศัยตา มีตา คือ จักขุประสาทซึมอยู่ที่ตา มีรูปภายนอกมากระทบ เกิดความรับรู้ขึ้น เรียกว่าจักขุวิญญาณ คือ ความรับรู้ทางตา ความรู้สึกทางตา อย่างเรานี่ หลับตาก็ไม่เห็น ลืมตาขึ้นก็รู้สึกว่ามีอะไรแปลกจากหลับตา เรามองไปทางนี้ ก็เห็นอย่างนี้ หันหน้าไปอีกทางหนึ่ง ก็เห็นอีกอย่างหนึ่ง เห็นสิ่งอื่นจากเมื่อกี้นี้ มีอะไรแปลกๆ จากเมื่อกี้นี้ ความรู้สึกอันนี้ เป็นความรับรู้ที่เกิดขึ้นทางตา ได้เห็นรูป มีการเห็นขึ้น จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ไม่ต้องมีตัวตนอยู่เบื้องหลังเลย อาศัยแค่มีตา มีจักขุปสาทดี อาศัยรูปภายนอกมากระทบ และเกิดความรับรู้ ตัวความรับรู้นี้คือจักขุวิญญาณ เป็นแต่สภาวธรรมล้วนๆ ไม่มีตัวตนอะไรอยู่เบื้องหลัง แล้วก็ไม่ใช่ของเที่ยงแท้แน่นอน มีเหตุปัจจัยพร้อมก็เกิดขึ้น

ถ้ามองเหตุปัจจัยแบบลึกซึ้ง มองให้ทะลปรุโปร่ง ทำไมต้องมาทนนั่งเห็นอยู่อย่างนี้เล่า จะไม่ให้เห็นได้หรือเปล่า ไม่ได้ เพราะมีจักขุปสาทและมีรูปภายนอกมากระทบ การเห็นก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำไมต้องมาทนเห็นอยู่เรื่อยอย่างนี้ เป็นเพราะว่า ยังมีอวิชชา คือ ความไม่รู้อริยสัจนั่นเอง ส่งทอดเหตุปัจจัยต่างๆ มา กรรมเก่าทำให้เรามีจักขุปสาท พอมีจักขุประสาทแล้ว รูปภายนอกก็มีอยู่ สองอันมากระทบ พอกระทบกัน ก็เกิดการมองเห็นอยู่เรื่อยไป จะห้ามไม่ให้เห็นก็ไม่ได้ ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เราต้องบริหารไป บริหารให้มันพอเป็นไปได้ จะบอกว่า ไม่ให้มองเห็นเลย มันไม่ได้ ให้มันเห็นนั่นแหละ แต่เอาแบบพอเป็นไปได้ และเห็นสิ่งที่มีประโยชน์ ซึ่งก็ต้องบริหารเอาเอง

หูกระทบเสียง มีหูกระทบกับเสียง เกิดได้ยินเสียง โสตวิญญาณ กลิ่นกระทบจมูก ฆานวิญญาณ รสกระทบลิ้น ชิวหาวิญญาณ กายกระทบกับสิ่งสัมผัสทางกาย กายวิญญาณ และใจกระทบกับเรื่องที่รับรู้ทางใจ ทั้งเรื่องดี ไม่ดี สุข ทุกข์ เรื่องที่อยากรับรู้ เรื่องที่ไม่อยากรับรู้ มโนวิญญาณ โดยเฉพาะมโนวิญญาณนี่ เยอะที่สุด มโนวิญญาณทำหน้าที่กระทบกับเรื่องทางใจต่างๆ เรื่องนู้นรื่องนี้ ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ เรื่องดี เรื่องไม่ดี เรื่องอยากรับรู้ เรื่องไม่อยากรับรู้ ซึ่งมันมีมากมาย

ถ้ารู้จักว่า อ๋อ.. การรับรู้ทางใจนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรารับรู้ ไม่ใช่การรับรู้ของเรา เป็นเพียงวิญญาณ รับรู้เรื่องที่อยากรับรู้ก็มี รับรู้ไม่อยากรับรู้ก็มี เป็นแค่วิญญาณที่รับรู้ ก็ไม่เกิดปัญหาอะไร เรื่องต่างๆ ก็ไม่มีอะไร มาให้รับรู้แล้วก็ไป เดี๋ยวก็เรื่องของคนนู้น เดี๋ยวก็เรื่องของคนนี้ เดี๋ยวก็เรื่องหมา เดี๋ยวก็เรื่องแมว เดี๋ยวก็เรื่องลูก เดี๋ยวก็เรื่องสามี เดี๋ยวก็เรื่องภูเขาไฟระเบิด เรื่องเยอะแยะ มีปัญหาอะไรไหม ไม่มี เป็นเพียงธรรมะที่มากระทบใจ พอกระทบใจแล้ว ก็เกิดมโนวิญญาณ รับรู้ขึ้น ไม่ได้เป็นเรื่องของตัวตนอะไร

เราบริหารให้พอเป็นไปได้ ถ้ารับรู้แล้วมันโง่นัก ไม่ได้ความรู้เลย รับรู้แล้วทุกข์อยู่เรื่อย ก็อย่าไปรับรู้มาก ให้รับรู้น้อยลงหน่อย ถ้ารับรู้เรื่องชาวบ้านแล้ว ตัวเองเป็นทุกข์เกือบตาย อย่างนี้ก็อย่าไปโง่รับเรื่องชาวบ้านเขามา ถ้ารับรู้เรื่องชาวโลกแล้วทุกข์เหลือเกิน พึ่งตนเองยังไม่ได้ นี้ก็อย่าเที่ยวไปรับรู้ ต้องบริหารเอาเอง ถ้าเราเก่ง และปีกกล้าขาแข็งแล้ว รับรู้เรื่องชาวบ้านแล้ว รับรู้เรื่องโลก ก็ไม่ทุกข์ แล้วยังช่วยแนะนำคนอื่นได้ด้วย อันนี้จะช่วยคนอื่นบ้างก็ตามสบาย เรื่องต่างๆ มันไม่มีอะไร เป็นแค่การรับรู้ทางใจเท่านั้น

ดังนั้น ทั้งหมดในโลก จึงมีแต่เรื่องขันธ์ คือกองทุกข์ที่ต้องบริหารให้มันพอเป็นไปได้ ถ้ารู้จักแล้วก็บริหารให้มันพอเป็นได้ ใช้ชีวิตไปอย่างเรียบง่าย สบาย และปลอดโปร่ง ถ้าบริหารไม่ถูก ก็เหนื่อย ก็มีข้อขัดแย้ง มีสิ่งที่ต้องกังวลใจ เป็นทุกข์ ทรมานไปกับเรื่องโน้นเรื่องนี้มากมายเหลือเกิน

ทั้งคนไปอย่างเรียบง่าย และคนที่ไปอย่างยากลำบาก สองคนนี้ก็เท่ากัน คือเป็นทุกข์เหมือนกัน แต่ไม่เท่ากัน ความเป็นไปนี้ไม่เหมือนกัน คนหนึ่งไปสะดวก อีกคนหนึ่งไปไม่สะดวก บางคนรู้วิธีพรหมจรรย์ คือ ไปสะดวกด้วย และทำให้ถึงความสิ้นไปแห่งกองทุกข์ได้ด้วย อันนี้ยิ่งดีใหญ่ วิธีการอันนี้ คือวิธีการของโพธิปักขิยธรรมนั่นเอง ให้รู้จักสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็นจริง บริหารให้เป็นไปอย่างเรียบง่าย แล้วก็ทำให้มันสิ้นมันไปได้ด้วย บริหารภรรยาให้เป็นไปโดยง่าย สะดวก แล้วสักหน่อยจะทำให้สิ้นภรรยาด้วย ตัวเองนี่ก็เหมือนกัน บริหารกายบริหารจิตคือกองทุกข์ให้เป็นไปได้โดยสะดวก ถ้ายังไม่สิ้นชาตินี้ ชาติต่อไปก็บริหารกันต่อไป จนมันหมดสิ้นไป ทำไปตามสมควร ดีขึ้นๆ ไปตามลำดับ จนกระทั่งหมดสิ้นไป

มีที่ทำงานหรือมีบริษัทก็บริหารให้เป็นไปได้ดีเรียบง่าย ท้ายที่สุด คือ ให้มันสิ้นบริษัทเนี่ยแหละ สิ้นตอนไหนไม่รู้ จะสิ้นตอนเรายกให้คนอื่น หรือว่าไม่เอามันแล้ว ขายทิ้งไป อันนี้ก็แล้วแต่ ให้มันไปแบบเรียบง่าย ถึงจุดหนึ่งมันก็จะไม่มี นี้เป็นหลักของโพธิปักขิยธรรม คือ การประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ทำที่สุดแห่งทุกข์แบบถูกต้อง พอดีๆ เหมาะสมกับความพ้นทุกข์ ถึงเวลาก็ไม่เอามัน ถ้ายังอยากเอาอยู่ ก็บริหารให้ไม่ทุกข์ทรมานมาก อยากมีครอบครัวก็บริหารครอบครัว ไม่ให้ถล่มเรา อยากมีลูกก็บริหารลูก ไม่ตกเป็นทาสมัน มีบริษัทก็บริหารบริษัท แต่ไม่วุ่นวาย ไม่เอาสุขไปฝากไว้กับมัน

อยากมีครอบครัวก็มีไป ให้รู้จักวิธีบริหาร ท้ายที่สุดแล้ว คงจะบริหารไม่ไหว หากมีปัญญาเพิ่มขึ้น เราจะเริ่มรู้ว่า โอ.. แต่เดิมมันโง่มาก ดีที่สุดคือปล่อยวาง ทิ้งนี่แหละมันดีสุด ทำให้มันสิ้นหมดไปนี้มันดีกว่า บริหารมันให้เรียบง่ายก็เหนื่อยอยู่ มีอะไรก็เหนื่อยเพราะสิ่งนั้นแหละ ถ้าจะดีที่สุดก็ต้องไม่มีเลย เห็นโทษภัยของการมีนั่นมีนี่ เป็นนั่นเป็นนี่ มีแล้วมันเหนื่อย มันลำบาก

ให้รู้จัก สิ่งที่สมมติเรียกว่าตัวเรานี้ แท้ที่จริง เป็นกองทุกข์ ประกอบด้วยขันธ์ทั้ง ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ มีแต่รูปเท่านั้นไม่มีอะไรเกินรูป ไม่มีตัวตนอยู่ในรูป รูปล้วนๆ เท่านั้น มีแต่เวทนาเท่านั้น ไม่มีอะไรเกินเวทนา ไม่มีตัวตนอยู่ในเวทนา เวทนาล้วนๆ เท่านั้น มีแต่สัญญาเท่านั้น ไม่มีอะไรเกินสัญญา มีแต่สังขาร มีแต่วิญญาณ ไม่มีอะไรเกินนี้เลย ไม่มีตัวตนอะไรอยู่เบื้องหลังเลย เป็นแต่สัญญา สังขาร วิญญาณล้วนๆ สิ่งเหล่านี้เกิดจากเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยก็เป็นธรรมะล้วนๆ ไม่มีตัวตนอะไรที่ไหนเลย

ให้รู้จักว่า อย่างนี้ความเกิดขึ้นของรูป ของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร ของวิญญาณ มันเกิดขึ้นมายังไง เริ่มตั้งแต่โน้น อดีตอนันตชาติไม่สิ้นสุด หาที่สุดเบื้องต้นไม่ได้ ส่งกระแสสันดานมา หัวหน้าใหญ่คืออวิชชา ความไม่รู้อริยสัจ พอไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ ไม่รู้ความจริงของทุกข์ รักทุกข์ ทำเพื่อทุกข์ เลยได้กองทุกข์มา ได้มาแล้วก็ต้องบริหารให้ถูกต้อง ใช้ไปในทางที่เหมาะสม เอามาใช้ให้เกิดปัญญา ให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ เป็นปัจจัยให้ได้รับสิ่งที่ควรได้สูงขึ้น ไม่ได้เรียนเพื่อหาอาชีพ ให้มีอาชีพเพื่อที่จะได้เรียน เรียนรู้ เข้าใจแล้วก็ทิ้งมัน

ถ้าเป็นทางโลก ก็ไปเรียนหนังสือ ศึกษาหาความรู้เพื่อที่จะได้มีอาชีพ จะได้ทำมาหากิน แต่ธรรมะนี้กลับข้าง ให้ทำมาหากิน เพื่อที่จะได้เกิดการศึกษาเรียนรู้มัน แล้วก็อยู่เหนือมันไปเรื่อยๆ มันกลับข้างกัน เรานั้นศึกษาเพื่อหาอาชีพเลี้ยงตัวเอง แต่ทางธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ให้มีปัจจัยเลี้ยงชีพ เพื่อเอาไว้ใช้ในการศึกษา เพื่อให้สูงขึ้นไปกว่านั้นอีก มันกลับกันอยู่ ตอนนี้มาเรียนหมวดธัมมานุปัสสนา ฟังดูก็อาจจะยากหน่อยหนึ่ง ถ้าฟังเข้าใจก็จะทำให้ความเข้าใจธรรมะหมวดอื่นๆ หรือการใช้ชีวิตมันสะดวก เข้าใจธรรมะแล้ว มันสะดวก เพราะความเข้าใจถูกต้อง มองอะไรก็ทะลุ เห็นภาพชัด เห็นภาพจิ๊กซอว์ของชีวิตตัวเองชัดเจนว่าจะไปทางไหน ทางไหนมันราบรื่นก็ไป ทางอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นแหละ ท้ายที่สุดก็จะต้องสิ้นชีวิตไปคือนิพพาน มีชีวิต กับ นิพพาน มี ๒ นี้แหละ สังขาร กับ วิสัขาร ทุกข์ กับ สิ้นทุกข์ ธรรมะก็มีเท่านี้่แหละ โพธิปักขิยธรรมเป็นทางทำให้ถึง ไม่ได้ถึงการมีชีวิตยืนยาวอะไร ถึงนิพพาน จุดหมายอันเดียว จุดหมายมีอันเดียวคือนิพพาน แต่ในระหว่างทาง ได้รับผลประโยชน์ด้วย ตอนเดินทางไปนี้ก็สะดวก เรียบง่าย เบาสบาย ปลอดโปร่ง ท้ายที่สุดถึงนิพพานด้วย ดีอย่างนี้นะครับ

นี้เป็นเรื่องของหมวดขันธ์ เมื่อได้รู้รูป และความจริงของรูปเป็นต้น อย่างนี้แล้ว ก็จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าตัวเราและคนอื่นได้ชัด สามารถมองเห็นความจริงนี้ทั้งภายในและภายนอก ภายในคือตัวเอง ก็มีแต่ขันธ์ ๕ ที่ประชุมรวมกันในช่วงเวลาหนึ่ง และเคลื่อนที่ไปในรูปกระแส ไหลไปเรื่อยๆ ภายนอกคนอื่นเหมือนกันไหม เหมือนกัน แต่ละคนล้วนอยู่ในกระแสของตนเอง คนละกระแสกัน ทำให้กัน ทำแทนไม่ได้ กระแสของพระพุทธเจ้าก็เป็นของพระพุทธเจ้า มีอันนั้นอันนี้เกิดขึ้นในชีวิตของพระพุทธเจ้า อยากรู้ว่าพระองค์ทำอะไรมา กระแสไหนส่งให้มาเป็นอย่างนั้น มีความพิเศษกว่าคนธรรมดาอย่างนั้นอย่างนี้ ก็อ่านชาดกต่างๆ จะเห็นกระแสแห่งเหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้โดยไม่มีเหตุ กระแสใครกระแสมัน เราก็เหมือนกัน เป็นทายาทของการกระทำของตนเอง วิธีช่วยเหลือกันอย่างดีที่สุด คือ ช่วยให้เขารับผิดชอบตนเองอย่างเต็มที่ ให้เป็นคนไม่ประมาท เพราะถ้าประมาทเมื่อไหร่แล้ว มีโอกาสล่มจมได้ง่าย เพราะสังขารทุกสิ่งไม่เที่ยง ตอนนี้ดีอยู่ ถ้ามันเที่ยงไปตลอดมันก็ดีอยู่หรอก แต่ในเมื่อทุกสิ่งมันเป็นของไม่เที่ยง เกิดเพราะเหตุ เราประมาทซะแล้ว ไม่ยอมทำเหตุที่ถูกต้อง มันก็พังเท่านั้นแหละ

ตอนนี้ดีอยู่ ไม่อยากให้มันเลวลงไปกว่าเดิม ก็ต้องไม่ประมาท มีสติ ฝึกตนเอง รักษาจิตตนเอง ทำยังไงจะไม่เลวลงไปกว่าเดิม ก็เอาเหตุที่ไม่ดีออกเสีย ทำเหตุที่ดีใส่เข้าไป ทำนองนี้ ไม่เที่ยงมันก็เป็นโอกาสของความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปได้ตลอด สำหรับผู้ที่เดินตามแนวโพธิปักขิยธรรมนี้ ท่านบอกว่า มีแต่เจริญก้าวหน้าอย่างเดียวไม่มีการเสื่อม เหมือนขัดกับกฎของธรรมะ แต่ความจริงหนุนกัน ธรรมะบอกว่า สังขารทุกอย่างเสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้ามาปฏิบัติโพธิปักขิยธรรมแล้วจะเจริญก้าวหน้าอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ในเมื่อทุกสิ่งไม่เที่ยง เสื่อมไปเป็นธรรมดา ทำไมมาเดินทางนี้แล้วไม่เสื่อม เพราะเรารู้จักเหตุปัจจัย เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุ ดับไปเพราะเหตุมันดับไปก่อน ตอนนี้มันเจริญ ในเมื่อมันไม่เที่ยง ก็อาจจะเจริญยิ่งขึ้นก็ได้ หรืออาจจะเสื่อมลงก็ได้ เจริญขึ้นแล้วอาจจะเจริญขึ้นอีก เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดก็ได้ เพราะมันไม่เที่ยง อย่างนี้

ถ้าไม่ประมาท เหตุใดที่จะทำให้ความเสื่อมเกิดขึ้นก็เว้นไปเสีย เหตุใดที่ทำให้ความเจริญเกิดขึ้น ก็ทำให้มีขึ้น การปฏิบัติโพธิปักขิยธรรมนี้ เป็นความไม่ประมาทอย่างแท้จริง เมื่อเดินไป จะมีแต่เจริญอย่างเดียว ไม่มีการเสื่อม เดิมเป็นทุกข์มาก ก็จะทุกข์น้อยลงไป ความสุขเพิ่มขึ้น ทำนองนี้นะครับ

๓.๔.๓ หมวดอายตนะ
ต่อไป เป็นหมวดธัมมานุปัสสนา หมวดอายตนะ สิ่งที่เป็นเหตุ จุดเชื่อมต่อ หรือเป็นบ่อเกิดของการรับรู้ และเกิดเรื่องราวต่างๆ ข้อ ๓๘๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ อยู่

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ และ อายตนะภายนอก ๖ อยู่ อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. รู้ชัดตา รู้ชัดรูป สังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

๒. รู้ชัดหู รู้ชัดเสียง สังโยชน์ใดอาศัยหูและเสียงทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

๓. รู้ชัดจมูก รู้ชัดกลิ่น สังโยชน์ใดอาศัยจมูกและกลิ่นทั้งสองนั้น เกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่ เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิด ขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

๔. รู้ชัดลิ้น รู้ชัดรส สังโยชน์ใดอาศัยลิ้นและรสทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

๕. รู้ชัดกาย รู้ชัดโผฏฐัพพะ สังโยชน์ใดอาศัยกายและโผฏฐัพพะ ทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

๖. รู้ชัดใจ รู้ชัดธรรมารมณ์ สังโยชน์ใดอาศัยใจและธรรมารมณ์ ทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่ เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละ ได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า “ธรรมมีอยู่” ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิอยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น อะไร ๆ ในโลก

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ อยู่ อย่างนี้แล
หมวดอายตนะ จบ

นี้เป็นหมวดอายตนะ อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจเป็นจุดเชื่อมต่อภายใน อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมะ เป็นจุดเชื่อมต่อภายนอก เป็นแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดเรื่องราวต่างๆ มากมายจนเต็มโลก เป็นธัมมานุปัสสนาหมวดที่ ๓ ท่านไหนมีปัญญาก็สามารถพิจารณาหมวดนี้ได้ การเห็นในแง่ใดแง่หนึ่งก็ถือว่าปฏิบัติอยู่ในธัมมานุปัสสนา หมวดธัมมานุปัสสนานี้ ต้องมีสติปัญญาเยอะๆ หน่อยจึงจะปฏิบัติได้

หมวดอายตนะกล่าวถึงกระบวนการเกิดขึ้นของกิเลสต่างๆ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ กระทบอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมะ เมื่อกระทบอารมณ์แล้วกิเลสต่างๆ ก็เกิดขึ้น กิเลสนั้นเป็นสังขาร ไม่ได้มีอยู่ก่อน มีเมื่อเกิดขึ้น เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย จึงต้องมีสติปัญญา พิจารณาดูกระบวนการตรงนี้ให้เห็นชัด กิเลสเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุใด ก็ให้รู้จักตามที่เป็นจริง ไม่ต้องรังเกียจกิเลส แต่ให้เห็นกิเลสว่าเป็นของไม่มีตัวตน ตาเป็นอย่างหนึ่ง รูปเป็นอย่างหนึ่ง ไม่รู้จักกัน เป็นเพียงสักแต่ว่ารูป เป็นสิ่งที่ไม่รู้อารมณ์ เป็นเพียงจุดเชื่อมต่อเท่านั้น กิเลสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปเป็นอย่างหนึ่ง กิเลสไม่ใช่ตา กิเลสไม่ใช่รูป แต่ตาและรูป เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดกิเลส

อย่างเราทุกคนนี้ล้วนไม่รู้จักกัน แต่ความเข้าใจผิดทำให้คิดว่า รู้จักกันดี ความจริง คือ เราไม่รู้จักอะไรหรอก คิดเอาเองเฉยๆ เหมือนกับบอกว่า เรารู้จักตัวเองดี มองดูแล้ว ตรงไหนเป็นตัวเอง เส้นผมเป็นตัวเองหรือ ดวงตาเป็นตัวเองหรือ ฟันเป็นตัวเองหรือ แขนเป็นตัวเองหรือ ความดีความชั่วเป็นตัวเองหรือ หน้าตาแบบนี้นะเป็นเรา ส่องกระจกดู หน้าอย่างนี้ มีสิวเม็ดหนึ่งอยู่ตรงนี้ อย่างนี้ชื่อว่ารู้จักตัวเองดีไหม ถ้าสิวมันหายไปจะเป็นเราไหม อย่างนี้ชื่อว่ายังไม่รู้จักตัวเองเลย ยังไม่รู้จักสิ่งที่สมมติเรียกว่าตัวเองดีพอ เราทั้งหลายชอบคิดว่า รู้จักนั่นดี รู้จักนี่ดี ความจริงคือไม่รู้จักเลย เริ่มจากไม่รู้จักตัวเอง ถ้ารู้จักตัวเองแล้ว ก็จะรู้ว่า ที่จริงไม่มีตัวเอง ตัวเองๆ นี้เป็นกระแสขันธ์ ๕ ที่สืบทอดกันมาไม่ขาดสาย ไม่มีตัวตนนิ่งๆ อยู่สักที่เดียว รู้จักคนอื่น จนกระทั่งรู้จักโลกก็อย่างนี้ เราโดยทั่วไปไม่รู้จัก เที่ยวไปบอกว่ารู้จักนั่น รู้จักนี่ จับยึดให้มันเป็นนั่น เป็นนี่ ตามความอยากและตามความคิด ไปจับขึ้นมาเองเฉยๆ

ในหมวดนี้ ท่านแยกอายตนะให้เราดู จะได้เห็นชัด จะได้รู้จักความจริง ตา เป็นสิ่งไม่ใช่ตัวตน เป็นตา เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง รูปเป็นสิ่งไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ตาไม่รู้จักรูป ตาอยู่ภายใน กับ รูปภายนอกไม่รู้จักกัน สิ่งไม่รู้จักกัน ๒ อย่างมากระทบกัน เป็นเหตุให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น คือ การมองเห็น การมองเห็นก็ไม่รู้จักตา การมองเห็นไม่รู้จักรูป ไม่รู้จักกัน มันเห็นรูป แต่ไม่รู้จักรูป สิ่งที่ไม่รู้จักกัน สภาวธรรม ๓ อย่างนั้นประชุมกัน เรียกว่าผัสสะ แก้วน้ำไม่รู้จักตาเรา มันกระทบกัน ทำให้เกิดความรับรู้ทางตา

บางคนบอกว่า ดิฉันรู้จักอาจารย์ดี นี้ว่าเป็นตัวๆ นะ อาจารย์นี้กี่ตัวแล้ว โอ..กระแสขันธ์ ๕ มานั่งอยู่นี่ จะเอาอันไหนมารู้จักกัน ตาผมกับตาท่านรู้จักกันหรือเปล่า ถามมันดูหน่อยสิ หูผมกับหูท่านมันรู้จักกันหรือเปล่า แขนผมกับแขนท่านมันรู้จักกันไหม เส้นผมของผมกับเส้นผมของท่านรู้จักกันไหม แยกทีละตัวไป สุขเวทนาของผมกับสุขเวทนาของท่านรู้จักกันหรือเปล่า ไหนบอกว่ารู้จัก ฉะนั้น คนที่บอกว่า รู้จักนั่นรู้จักนี่ เป็นโน่นเป็นนี่ เป็นจริงเป็นจังไปทั่ว แสดงว่ารู้เรื่องไหม แสดงว่าไม่รู้เรื่องของมัน เหมือนกับที่บอกว่า นี่เป็นตัวเรา นี่แขนเรา นี่ความสุขของเรา นี่ความทุกข์ของเรา นี่ความคิดของเรา แสดงว่ารู้เรื่องของมันไหม แสดงว่าไม่รู้เรื่องของมัน ทำนองนี้ คนรู้จักตัวเองดี รู้จักว่าเราเป็นโน่น เราเป็นนี่ อย่างนี้แสดงว่าไม่รู้จักตัวเองเลย ถ้ารู้จักว่า มันไม่มีตัวเอง เป็นกระแสขันธ์ ๕ ไปยึดเป็นตัวเราที่แน่นอนเที่ยงแท้ได้ที่ไหนเล่า อย่างนี้เรียกว่ารู้จักดี คนอื่นก็เหมือนกัน โลกก็เหมือนกัน

ถ้ารู้จักว่า อวัยวะแต่ละส่วนๆ และสิ่งต่างๆ ไม่รู้จักกัน มันเป็นธรรมะแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุ พอเหตุหมด มันก็หมด นี้จึงเรียกว่ารู้จักมันดี พระพุทธเจ้าตรัสวิธีปฏิบัติในหมวดอายตนะว่า

รู้ชัดตา รู้ชัดรูป สังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

ทางตานี้ พระองค์ให้รู้ ๖ อย่าง ได้แก่
(๑) รู้ชัดตา
(๒) รู้ชัดรูป
(๓) สังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น
(๔) ความเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
(๕) ความละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
(๖) สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

รู้จักตา ตาเป็นอย่างหนึ่ง รู้จักรูป รูปเป็นอย่างหน่ึง รูปไม่ได้บอกว่ามันสวย หรือมันไม่สวย ไม่ได้บอกว่า มีค่าเท่าโน้นเท่านี้ ให้รู้จักอีกอย่างหนึ่งคือสังโยชน์ กิเลสที่เป็นเครื่องผูก เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปทั้งสองนั้น กิเลสเกิดขึ้น ทำหน้าที่ผูกไว้ ตาไม่รู้จักรูป รูปก็ไม่รู้จักตา แต่ทำไมตาอยากดูรูปอยู่เรื่อย มันมีเครื่องผูก เครื่องผูกก็ไม่รู้จักตาและก็ไม่รู้จักรูป มันทำหน้าที่ผูกไว้ มันทำหน้าที่ของมัน จะไปโทษมันก็ไม่ได้ ตาทำหน้าที่กระทบรูป รูปทำหน้าที่กระทบตา จักขุวิญญาณทำหน้าที่เห็นรูป สังโยชน์ทำหน้าที่ผูก โทษอะไรใครได้ไหม ไม่ได้ ถ้าจะโทษ ก็โทษได้อย่างเดียว คือ ความไม่รู้ ตามเป็นจริง ถ้ารู้ทะลุแล้ว มันก็ไม่มีอะไรนี่ ไม่มีตัวตน ไม่มีใคร ไม่มีของใคร มีแต่ธรรมะ มันก็ทำหน้าที่ของมันดีแล้ว ทุกข์ก็ทำให้ยุ่งยาก เจ็บปวด ไปยุ่งอะไรกับทุกข์ มันก็เป็นของมัน จะไปโทษมันได้ไหม ไม่ได้ มันเป็นอย่างที่มันเป็นแหละ

สังโยชน์เป็นครื่องผูก ทำหน้าที่ผูกจิตไว้กับโลก ทำให้ติดข้องกับโลก เกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง สังโยชน์ไม่ได้มีอยู่ก่อน มีเมื่อเกิด เกิดเพราะเหตุ ปกติเวลากิเลสจะเกิดขึ้น ก็เพราะขาดสติปัญญา แล้วก็หลงคิดนึกไป ปล่อยใจลอย เพ้อผันไป สักหน่อยกิเลสก็เกิดตามความคิดที่ไม่ถูกต้องนั้น

ทางหูก็เหมือนกัน หูรู้จักกับเสียงไหม ไม่รู้จัก ทำไมอยากได้ยินเสียงเพราะๆ อยู่เสมอ หูไม่ได้เป็นผู้ได้ยิน ไม่ได้เป็นคนรับรู้ความเพราะของเสียง หูทำหน้าที่กระทบเสียง ไม่รู้เรื่องอะไรด้วย เสียงมันก็ไม่รู้เรื่องด้วย ไม่รู้ว่าตัวมันเองเพราะหรือไม่เพราะ เหมือนดอกกุหลาบก็ไม่ได้บอกว่ามันสวยหรือไม่สวย ขี้หมาก็ไม่ได้บอกว่ามันน่าเกลียดไหม ใครเป็นคนบอก คนบอกก็ไม่รู้จักขี้หมาดี เป็นสังโยชน์ที่เกิดขึ้น

ด้านทวารอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน จนถึงทวารใจ ใจกระทบกับธรรมะ คืออารมณ์ทางใจ โดยเฉพาะเรื่องราวต่างๆ กระทบกับใจ เกิดความรับรู้ขึ้น สังโยชน์ก็เกิดขึ้น สังโยชน์อาศัยใจกับอารมณ์กระทบกัน จึงเกิดขึ้นได้ ให้รู้จักสังโยชน์นั้น มันไม่ได้มีอยู่ก่อน มีเมื่อมันเกิดขึ้น เกิดเพราะมีเหตุ เกิดเพราะเหตุอะไรก็ให้รู้ มันจะหมดไป ก็เพราะเหตุหมดไปก่อน ถ้าเหตุไม่หมด มันก็ไม่หมด ให้รู้อย่างนี้

ถ้าพูดในทำนองนี้ ท่านทั้งหลายก็จะเห็นว่า เราทั้งหลายกับโลกนั้นไม่รู้จักกัน เรากับโลกนี้เป็นคนละส่วน แต่ละคน แต่ละสิ่ง แต่ละอย่าง ล้วนทำหน้าที่คนละอย่างกันไป อยู่ในรูปกระแสของตนเอง ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่ได้ผูกกันไว้ อะไรที่เกี่ยวกันไว้ อะไรที่เป็นเครื่องผูกกันไว้ สังโยชน์มันผูก สังโยชน์ทำหน้าที่ผูก เมื่อไหร่สังโยชน์หมด ก็ไม่ได้ผูกกัน เราก็อยู่ในโลกไม่ได้ มีลูกไม่ได้ มีสามีไม่ได้ เลิกผูกแล้ว ก็เท่านั้นแหละ

ตาไม่รู้จักรูป แต่ก็มีสังโยชน์เป็นเครื่องผูกเอาไว้ อยากเห็นรูป เลยต้องเห็นอยู่เรื่อย เคยเห็นครั้งที่หนึ่งแล้ว ยังอยากเห็นอีก ทั้งๆ ที่ตาไม่รู้จักรูปนั้น รูปนั้นก็ไม่รู้จักตา มีกิเลสเป็นเครื่องผูก เลยต้องมากระทบกัน ต้องมาเจอกันอยู่เรื่อยไป ทางด้าน หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ทำนองนี้ ความรู้สึกต่างๆ ความสุข ความทุกข์ที่กระทบใจ ใจก็ไม่ได้สุข ไม่ได้ทุกข์ด้วย กระทบเฉยๆ แล้วเกิดความรับรู้ขึ้น มันทำหน้าที่ของมัน แต่ทำไมอยากสุขอีก ทำไมไม่อยากทุกข์อีก นี้เป็นเพราะเครื่องผูก เคยเห็นเครื่องผูกไหม สังโยชน์มันผูกไว้ ทำให้ไปไหนไม่รอด ต้องมีความรักความชัง มีเรื่องนั้นเรื่องนี้อะไรเยอะแยะ นี้ก็เป็นเพราะมีเครื่องผูก

ถ้าจะอุปมาให้ง่ายๆ ก็คล้ายกับว่า มีหลักอยู่อันหนึ่ง มีเชือกผูกควายไว้กับหลักอันนี้ ควายก็เดินวนอยู่แถวๆ นั้น หากินอยู่แถวๆ หลักนี่แหละ ไปไหนไม่รอดเพราะมีเชือกผูกเอาไว้ ข้อเปรียบเทียบนี้ เราทั้งหลายก็เป็นควาย เราเคยเป็นควายจริงๆ มาแล้ว ตอนนี้ไม่เป็นก็ไม่เป็นไร แต่ชาติก่อนๆ คงเคยเป็นมาแล้ว เชือกคือสังโยชน์ เป็นเครื่องผูกเอาไว้ หลักคือโลก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมะ เราก็เลยเที่ยวหากินวนเวียนอยู่ ไปไหนไม่รอด หากินอยู่แถวรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส วนๆอยู่แถวนี้ ไปไหนไม่รอด เพราะมีเชือกผูกอยู่ เมื่อใดที่เชือกขาดไป โดนตัดขาดไป สังโยชน์ถูกตัดด้วยปัญญา ก็ไปโดยอิสระ ควายไม่รู้จักหลัก และควายก็ไม่รู้จักเชือก เชือกก็ไม่รู้จักควาย และเชือกก็ไม่รู้จักหลัก ต่างคนต่างทำหน้าที่ตัวเอง ควายก็โง่ไม่รู้เรื่อง เชือกก็ทำหน้าที่ผูกอย่างเดียว หลักก็อยู่ของมันอย่างนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับใคร

ท่านทั้งหลายเห็นบ้างไหม รูปก็เป็นรูป เป็นของมันอย่างนั้นตามเหตุปัจจัย ใช่ตัวเรา ใช่ของเราไหม ไม่ใช่ ทำไมมาว่าลูกของเรา อะไรมันผูกอยู่ ลูกก็เป็นไปตามกรรมของเขา การผูกนี่เป็นเชือก ลูกเป็นหลัก เราเป็นควายนะ บริษัทของเรา บริษัทมันก็เป็นบริษัท เป็นของมันอย่างนั้น ตามเหตุปัจจัยที่ปรุงขึ้น เราเป็นควาย ส่วนตัวเชือกผูกคืออะไร คือสังโยชน์

หมวดอายตนะจึงเป็นหมวดที่ลึกซึ้ง ทำให้เข้าใจอะไรๆ ชัดเจนขึ้น โลกก็เป็นอย่างที่มันเป็น มันไม่ได้บอกว่ามันดีหรือว่าไม่ดี ไม่ได้บอกว่ามันถูกหรือผิด ไม่ได้บอกว่ามันสวยหรือไม่สวย มันเป็นอย่างที่มันเป็น สัตว์โลกก็เป็นไปตามกรรมของเขา ดีและไม่ดี ก็ไม่ได้มีตัวมีตนอะไร แม้เราเองก็หมือนกัน ถ้าจะว่ามีผู้บังคับก็ธรรมะนั่นเองบังคับให้เป็นอย่างนั้น กระแสสันดานนั้นบังคับ เป็นเหตุให้เกิดอย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนพวกเรา ถูกด่า เราก็ไม่อยากโกรธ แต่ทำไมโกรธอยู่เรื่อย รู้สึกว่าคนนั้นทำอันตรายเรา ทั้งๆ ที่ไม่อยากโกรธ เราก็บังคับควบคุมตัวเองไม่ได้ มีสิ่งที่ใหญ่กว่าบังคับเราคือกระแสสันดาน กระแสแห่งเหตุปัจจัย อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท เป็นสิ่งไม่มีตัวตน เราจะออกจากกระแสได้ ต้องอาศัยปัญญาถอนกระแสออกไปเสีย พระพุทธเจ้าตรัสว่า กระแสนี้ถอนได้ด้วยปัญญา ปญฺญาเยเต ปิถิยฺยเร ถ้ายังไม่มีปัญญา ก็ต้องระงับ ยับยั้ง ป้องกัน หยุดเอาไว้ก่อน อย่าไปทำทุจริต อย่าไปทำชั่ว ไหนๆ ก็บังคับไม่ได้แล้ว ไหนๆ ก็บังคับความชอบไม่ได้ ถ้าไปชอบภรรยาชาวบ้านเขา ต้องระงับ ยับยั้ง ป้องกัน ระวังไม่ไปทำผิด กระแสตัณหานี้สามารถที่จะยับยั้ง หรือป้องกันเอาไว้ได้ด้วยสติ ถอดถอนได้ด้วยปัญญา

ถ้าเข้าใจอายตนะก็จะเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า เราไม่ได้มีอำนาจใหญ่โตอะไร มันมีเหตุปัจจัยส่งทอดกระแสมา พอกระทบอารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ สังโยชน์ก็เกิดขึ้น แล้วสังโยชน์นี้ ก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องผูกไว้ ผูกแบบรักก็ได้ ผูกแบบถีบกันก็ได้ กอดเข้ามาก็ได้ ผลักก็ได้ มันก็เป็นสังโยชน์ เป็นเครื่องผูก บอกว่าของเรา ของคนอื่น ยึดถือนั่น ยึดถือนี่ ทุกรูปแบบนั่นแหละ มันผูกเอาไว้ทำให้ไม่เป็นอิสระจากสิ่งนั้น

สังขารเป็นไปตามเหตุ เราไม่มีอำนาจไปทำอะไรมันได้ ถ้ายังไม่มีปัญญาก็ถอนไม่ได้ ตากระทบรูปแล้ว สังโยชน์เกิดขึ้นมา จากที่ไม่มีอะไร ก็มีอะไรขึ้นมา ไม่เคยมีรัก ความรักก็เกิดจากสิ่งที่ไม่มีอะไร ไม่เคยมีโกรธ ความโกรธก็เกิดขึ้นจากสิ่งไม่มีอะไร เกิดขึ้นแล้วมันก็ผูกเรา ทำให้รัก ทำให้ชัง หัวหมุนวนเวียนไปเรื่อย เกิดจากความไม่มีอะไร มีเหตุก็เกิด ดำรงอยู่ได้ด้วยเหตุ หมดเหตุก็ดับไป ไปสู่ความไม่มีอะไร หัวหมุนอยู่กับสิ่งว่างเปล่า ไล่คว้าเงาอยู่เรื่อยไป ดังนั้น ต้องมีปัญญา รู้จักมันตามที่เป็นจริง การปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานนี่แหละ จะทำให้เกิดปัญญา มองเห็นความจริงว่า ตาเป็นตา เป็นเพียงสักแต่ว่ารูปชนิดหนึ่ง รูปเป็นรูป ตากับรูปไม่รู้จักกัน กระทบกัน การรับรู้ก็เกิดขึ้น แต่ละอย่างๆ ล้วนไม่มีตัวตน อายตนะภายในก็ไม่มีตัวตน อายตนะภายนอกก็ไม่มีตัวตน กระทบกัน การรับรู้ก็ไม่มีตัวตน สังโยชน์ที่เกิดขึ้นก็ไม่มีตัวตน เราก็ไม่มีตัวตน ลูกเรามีตัวตนไหม ไม่มี ตัวผูกระหว่างเรากับลูกไว้ด้วยกันก็ไม่มีตัวตนเหมือนกัน แต่ละอย่างก็ทำหน้าที่ของมัน ไม่เที่ยง ไหลไปในรูปกระแส

พระพุทธเจ้าตรัสว่า รู้ชัดตา รู้ชัดรูป รู้จักตา มีตัวตนไหม ตานี้เป็นสิ่งเกิดดับ ไม่มีตัวตน เป็นจักขุปสาท มีความสามารถพิเศษในการกระทบรูป หน้าที่ของมันมีเท่านั้นแหละ และ รู้จักรูป รูปภายนอก สิ่งที่มากระทบตา เป็นสิ่งไม่มีตัวตน เกิดดับเหมือนกัน เป็นอย่างนั้นตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่มีเรื่องดี เรื่องไม่ดี เรื่องสวย เรื่องไม่สวยมาเกี่ยวข้อง ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น

สังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น
พอตากระทบรูป สองสิ่งไม่รู้จักกัน กระทบกัน ความรับรู้เกิด ความรักเกิด มันผูกให้รัก ทำให้ไม่พ้นไป สังโยชน์เป็นอีกสภาวะหนึ่ง ตามภาษาธรรมะก็มีคำยากๆ กามราคสังโยชน์ มันรัก หลงรัก อยากกอด อยากเข้าไปใกล้ ปฏิฆสังโยชน์ อยากถีบออก อยากผลัก อยากทิ้ง มันติดข้อง มันผูกกัน ไม่ใช่กอดอย่างเดียว จะถีบทิ้งก็ผูกเหมือนกัน ผูกเราเอาไว้ ไม่อาจพ้นจากมันไปได้ ฟังเสียงคนโน้นคนนี้แล้ว โอ..เสียงนี้เพราะเหลือเกิน ผูกเข้ามาแล้ว เสียงไม่เพราะ ก็ผลัก มีปัญหาอยู่เรื่อย ไม่เกี่ยวกับหู ไม่เกี่ยวกับเสียง เป็นสังโยชน์ที่ทำหน้าที่ผูก หูก็มีความสามารถในการรับเสียง เสียงมีความสามารถกระทบหู วิญญาณได้ยิน สังโยชน์ผูก ไม่ใช่ความผิดของสังโยชน์ หน้าที่ของมันเป็นอย่างนั้น มันทำอย่างอื่นไม่เป็น มันก็ทำหน้าที่ของมัน

เหมือนกับผูกควายไว้กับหลัก หลักมันก็ป็นอย่างนั้น เชือกมันก็เป็นอย่างนั้น ควายมันก็เป็นอย่างนั้น จะไปโทษใครก็ไม่ได้ โทษควายก็ไม่ได้ โทษเชือกก็ไม่ได้ โทษหลักก็ไม่ได้ ถ้ามีปัญญา ก็รู้เรื่องของมัน ควายเป็นอย่างนี้นะ ควายมันโง่ ถ้ามันฉลาดก็คงไม่เป็นควายหรอก มันไม่รู้เรื่อง เชือกทำหน้าที่อย่างนี้นะ ผูกอย่างเดียว ไม่รู้จักควายและไม่รู้จักหลัก มัดไว้กับหลัก ผูกไว้กับคอควาย แต่ไม่รู้จักใคร เราเข้าใจ ก็ไปหามีดมาตัดเชือกทิ้งเสีย ต้องอาศัยความรู้จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นแหละจึงจะช่วยได้ ลำพังความรู้ของตัวเองและพรรคพวกกันเองนี้คงจะหมดหวัง ไม่อาจช่วยได้ มันลึกซึ้งขนาดนี้ พวกเราจึงพากันวนเวียนมานานนักหนาแล้ว ถ้าความรู้ของพระพุทธเจ้าช่วยเราไม่ได้ คงจะหมดหวังแล้วตอนนี้ พระองค์แสดงวิธีปฏิบัติอย่างชัดเจน วิธีมองดูให้เห็นชัด รู้ชัดตา รู้ชัดรูป สังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น

การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
กิเลสนี้ก็ไม่ได้มาลอยๆ เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ก่อน แต่เดิมไม่มีเลย ไม่รู้อย่างที่ไหน ว่างเปล่า ไม่มีตัว มองไม่เห็นตัว มีเมื่อมันเกิดขึ้น และเกิดเมื่อมีเหตุ เหตุมันต่างกัน กิเลสที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน รักเป็นแบบหนึ่ง เกลียดเป็นแบบหนึ่ง เกิดจากเหตุปัจจัย เกิดมาจากความคิดนึกที่ขาดสติ ปล่อยจิตล่องลอย คิดนึกไปเรื่อย ไม่ได้ตามรักษาจิต คิดในแง่สวยงาม สุภนิมิต น่าเอา เอามาแล้วจะช่วยเติมเต็มชีวิต ทำให้เรามีความสุขขึ้น ดูดีขึ้นในสายตาตนเองและผู้อื่น มันคิดไปเรื่อย กามราคสังโยชน์ที่ไม่รู้อยู่ที่ไหน แอบอยู่ไหนก็ไม่รู้ ไม่มีตัว ไม่เห็นตัว ก็เกิดขึ้น เมื่อครอบงำจิตก็ผูกเอาไว้ คิดในแง่ไม่น่าพอใจ เราถูกทำร้าย ถูกกระทบกระทั่ง กระแทกตัวเรา เราถูกกระทำ เขามาทำเรา ปฏิฆนิมิต มันนึกเอาเองทั้งนั้นแหละ ความจริง ไม่มีเรา ไม่มีเขา มีแต่รูปนามที่เป็นไปตามกรรม คิดไปเรื่อย ไม่ตามรักษาจิต ไม่รู้เรื่องของสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง ปฏิฆสังโยชน์ก็เกิดขึ้น

การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น

สังโยชน์ถูกละได้อย่างไร มีเหตุอะไรสังโยชน์จะไม่เกิดขึ้นอีก ก็ให้รู้ ก็คือรู้จัก ละได้ชั่วคราว ด้วยเครื่องมืออะไร ด้วยการมีสติป้องกัน ทำสมาธ ิ เจริญวิปัสสนาไว้เสมอ เป็นการป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ถ้าจะไม่ให้เกิดอีกเลย ด้วยเครื่องมืออะไร ต้องมีอริยมรรคเกิดขึ้น กามราคะจะไม่เกิดอีก ด้วยอนาคามิมรรค เป็นพระอนาคามี มีปัญญาถึงระดับนี้ กามราคะที่ละได้แล้ว จึงจะไม่เกิดขึ้นอีก ถ้าไม่มีปัญญาถึงระดับนี้ มันก็มีโอกาสเกิดขึ้น ต้องระวังไว้ มีสติไว้ สำรวมไว้ ใช้ชีวิตด้วยความรู้ มีความเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็น สิ่งที่น่าเข้าใจมากที่สุดคือเรื่องตัวเอง ทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทุกข์ดับสนิทไปได้อย่างไร เป็นเรื่องของตัวเองล้วนๆ

นี้เป็นการฝึกให้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ สังเกตดู ตามดู ให้เข้าใจเรื่องตา เรื่องรูปภายนอก เรื่องกิเลสสังโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุ ทำให้เข้าไปยึดติด กอดเอาไว้ หรือผลักออก ไม่เป็นอิสระจากสิ่งต่างๆ ให้รู้วิธีละ วิธีป้องกัน บรรเทา และรู้วิธีที่จะทำให้มันหมดไป ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป นี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเราล้วนๆ เลย

ที่ยกตัวอย่างมา ก็เน้นทวารตา ทางทวารอื่นๆ ก็เหมือนกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมะ ให้รู้จักมันตามที่เป็นจริง เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน รู้สังโยชน์ที่เกิดขึ้นมาหลังจากการรับรู้ แต่เดิมไม่มี ก็มามีขึ้น รู้วิธีละแบบชั่วคราว จนกระทั่งทำให้ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป โดยเฉพาะทวารใจนี้มีมากกว่าเขา เป็นปัญหามาก แต่หากปฏิบัติเป็นก็ทำให้เกิดความรู้มาก

หมวดอายตนะ ฟังดูพอทำได้บ้างไหม การตามดูธรรมในธรรม มีความละเอียดลึกซึ้ง ท่านจึงว่าหมวดธัมมานุปัสสนา ต้องเป็นผู้มีสติปัญญามากจึงจะเจริญได้ ซึ่งสติปัญญานี้อาจจะมาจากชาตินี้ก็ได้ ฝึกหมวดอื่นๆ มาก่อน ตามดูกายในกาย ดูเวทนาในเวทนา ดูจิตในจิต ให้มีสติมีปัญญาพอสมควร ก็มามองดูให้ลึกซึ้งขึ้น หรือบางคนเคยปฏิบัติมาจากชาติก่อนๆ พอฟังเรื่องนี้ เข้าใจ มองทะลุ ก็ปฏิบัติหมวดนี้ได้เลย ถ้าปฏิบัติถึงหมวดธัมมานุปัสสนาแล้วคงไม่ต้องอาศัยเทคนิคอะไรมาก เป็นเรื่องของธรรมะ เป็นเรื่องของชีวิตธรรมดา ปฏิบัติได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ต้องมีสติที่มั่นคง จึงจะพิจารณาออก

วันนี้ได้พูดหมวดธัมมานุปัสสนาไป ๒ หมวด ท่านทั้งหลายคงพอจะเข้าใจบ้าง ถ้าเข้าใจหมวดธัมมานุปัสสนาแล้ว การปฏิบัติธรรมก็จะครอบคลุมไปทุกเรื่อง และทำให้เข้าใจอะไรๆ ชัดขึ้น เห็นชัดว่าเป็นแต่ธรรมะ ที่ไม่ได้มีตัวตนถาวรอะไร ไม่ได้มีอยู่ก่อน ไม่มีใครสั่งให้เกิด เกิดตามเหตุปัจจัย เมื่อรู้เรื่องเหตุปัจจัย เราก็สามารถจัดการนั่น จัดการนี่ ได้เพิ่มขึ้น เป็นผู้ที่ทำด้วยปัญญา ทำไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ทำไปตามความอยากหรือตามความคิด ตอนแรกๆ ถ้ายังไม่มีปัญญาอย่างนี้ก็ไม่เป็นไร ให้ไปฝึกหมวดอื่นๆ มาก่อน ฝึกตอนแรกๆ นั้นบางทีต้องหลบอารมณ์บ้าง หลีกนั่นบ้าง หลีกนี่บ้าง กิเลสเกิดขึ้นบางทีต้องหลีกบ้าง ไม่เหมือนธัมมานุปัสสนา สังโยชน์เกิดขึ้น ท่านให้ตามดูไปเลย ส่วนตอนแรกๆ หากทำอย่างนี้ บางทีทำไม่ได้ เพราะสติยังไม่ตั้งมั่น จะถูกกิเลสครอบงำจิตได้ ต้องหนีไปก่อน ไม่ใช่บอกว่า มีกิเลส ก็ดูกิเลสนี่แหละ แต่กิเลสท่วมตัวเลยอย่างนี้แย่เต็มที มันไม่ไหวนะ ต้องไปฝึกหมวดอื่นมาก่อน

หมวดอื่นๆ ต้องมีท่าทางบ้าง เช่น หมวดอิริยาบถ ต้องไปหัดมาว่า เดินแบบไหน สบาย ปลอดโปร่ง มีสติได้ดี รู้ตัวดี ทำความเพียรได้มาก ไม่ค่อยง่วง นั่งดูลมหาย นั่งท่าไหน ดูลมหายใจแบบไหน มีสติดี ไม่หลับ อย่างนี้เป็นต้น

การฝึกตามดูกาย เวทนา และจิตในตอนต้นนี้ เป็นการฝึกเพื่อที่จะทำให้มีสติ มีสมาธิ สามารถละอภิชฌาและโทมนัสได้ ทำให้มีปัญญาเพิ่มขึ้น ทีนี้ พอปัญญาเพิ่มขึ้นแล้ว ถ้ารู้วิธีปฏิบัติหมวดธัมมานุปัสสนาก็ฝึกต่อได้เลย ถ้ายังไม่รู้ก็ฟังธรรมะ ฟังเกี่ยวกับธรรมะ ธรรมะไม่เกินเรื่องอกุศล อกุศล เรื่องขันธ์ อายตนะ อริยสัจ เหล่านี้หรอก ฟังแล้วก็นำไปปฏิบัติ พวกเรานี้ โดยส่วนใหญ่ฟังกันจนเต็มที่แล้ว ฟังจนปฏิบัติไม่ถูกแล้ว ฟังเยอะไป มีแต่อันดีๆ ทั้งนั้น มีแต่ทำแล้วบรรลุทั้งนั้น หลายอันมากไป เลยชักงง ไม่รู้จะเอาอันไหนดี เลยนั่งงงอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้น ฟังแล้วก็เลือกเอาสักหมวดหนึ่งไปฝึกนะ ตอนนี้พูมาถึงธัมมานุปัสสนาแล้ว ถ้าปฏิบัติยังไม่ถึง ปฏิบัติยังไม่เป็น ก็กลับไปฝึกหมวดแรกๆ ไปนั่งดูลมหายใจเข้า ดูลมหายใจออก เดินไปเดินมารู้สึกตัวให้เป็น กายมันเดิน ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา รู้สึกถึงกายเคลื่อนที่เคลื่อนไหว มือเคลื่อนไปเคลื่อนมา ฝึกหมวดต้นๆ ก่อน มีสติคอยรักษาจิต ช่วยป้องกันทุจริตต่างๆ ได้ ทำให้สำรวมระวังได้ดี ต่อไปก็ดูเวทนา ดูจิต ปัญญาเพิ่มขึ้นก็เห็นเป็นธรรมะ

บรรยายวันนี้ คงสมควรแก่เวลาเท่านี้นะครับ อนุโมทนาทุกท่านครับ

__________________________