สติปัฏฐาน ๔ ตอนที่ ๔

สติปัฏฐาน ๔ ตอนที่ ๔

บรรยายวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๔
ขอนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย
สวัสดีครับ ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน
วันนี้ บรรยายโพธิปักขิยธรรม ตอนที่ ๔ พูดเรื่องแรกของโพธิปักขิยธรรม คือเรื่องสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐานมีอย่างเดียว มีลักษณะเดียว คือ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณามองดูกายและจิตอยู่เสมอ มีสติสัมปชัญญะ ใช้ชีวิตด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีความรู้ตัวในการทำสิ่งต่างๆ อารมณ์ของสตินั้นมีเยอะ จิตเที่ยวโคจรแล้ว ทำให้มีสติมากขึ้น แยกเป็น ๔ กาย เวทนา จิต และธรรม ถ้าแยกย่อยลงไปอีก ในกายมีอีกเยอะเหมือนกัน เวทนา จิต ธรรม ก็มีลักษณะย่อยๆ ลงไปอีก ตอนนี้ พูดมาถึงธัมมานุปัสสนา การตามดูธรรมในธรรม ดูธรรมะว่ามันเป็นธรรมะ มีสติแล้ว เฝ้าดู สังเกตดู ให้เห็นธรรมะ แยกออกเป็น ๕ หมวด
หมวดที่ ๑ หมวดนิวรณ์
หมวดที่ ๒ หมวดขันธ์
หมวดที่ ๓ หมวดอายตนะ
หมวดที่ ๔ หมวดโพชฌงค์
หมวดที่ ๕ หมวดอริยสัจ
คราวที่แล้ว พูดถึงหมวดอายตนะ วันนี้จะพูดหมวดโพชฌงค์ ธัมมานุปัสสนานี้ค่อนข้างยาก เวลาฟังก็อาจจะฟังรู้เรื่อง แต่ไม่รู้จะทำได้รึเปล่า ถ้าทำไม่ได้ก็ฟังไว้ก่อน ต้องอาศัยได้ฝึกมาเยอะพอสมควร มีสติสัมปชัญญะพอสมควร จึงจะฝึกในหมวดธัมมานุปัสสนาได้ เพราะธัมมานุปัสสนานี้ ให้ดูทั้งธรรมะฝ่ายดีและไม่ดี โดยความของเสมอกัน แรกๆ พวกเรานี้ไม่เสมอหรอก ฉะนั้น ถ้าไม่เสมอก็ต้องฝึกไปตามลำดับ ละชั่ว มาทำดี ฝึกให้มีสติอยู่กับตัวเอง อยู่กับกายก่อน เพราะกายนี้เป็นของกลางๆ เป็นหลักที่มั่นคงดี อยู่กับกายให้ได้บ่อย ๆ จะทำให้มีสติมั่งคงขึ้น แข็งแรงขึ้น กายคตาสตินี้เป็นหลัก แท้ที่จริง เวทนาก็เป็นกลางๆ แต่คนเราโดยทั่วไปรักสุข เกลียดทุกข์ เวลาดูเวทนา ถ้าสติไม่มั่นคง จะเกิดความชอบความชังอยู่เรื่อย ยิ่งมาดูจิต ดูธรรม บางทีก็รักอย่างหนึ่ง เกลียดอย่างหนึ่งไปอีก
ตอนนี้พูดถึงหมวดธัมมานุปัสสนา ลองฟังดู ใครทำได้ก็ทำไปเลย ส่วนใครยังทำไม่ได้ก็ไปฝึกหมวดอื่นมาก่อน โดยเฉพาะหมวดต้นๆ ฝึกอยู่กับกายตัวเองให้เป็น อยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เดิน ยืน นั่ง นอน เหยียด คู้ ทำความรู้สึกให้เป็น พอเป็นแล้ว ต่อมาก็สามารถดูเวทนาว่าเป็นเวทนา ดูจิตว่าเป็นจิตได้ คำว่า ดู หมายถึง รู้มันอย่างที่เป็น ให้เห็นมันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ตามที่เราคิด ไม่ใช่ตามที่เราอยาก ถ้ามันเลยเถิดไป ชอบ ไม่ชอบ นี้เรียกว่าตามไปแล้ว ไม่ได้ดูมัน อย่างนั้นเรียกว่าหลงตามมันไป โดยส่วนใหญ่ พวกเราหลงตามมันไป สุขก็ชอบใจ อย่างนี้ ไม่ได้ดูสุข ถูกความสุขลากจิตไป ถ้าเกิดความชอบแล้ว ให้กลับมาที่ตัวเอง ให้มีสติเยอะๆ สุขเกิดขึ้นให้รู้ว่าสุข ถ้าชอบมัน อยากได้มัน อยากให้มันอยู่นานๆ อย่างนี้เรียกว่าหลงไปแล้ว ปล่อยมันไป กลับมาอยู่ที่ต้องเอง ฝึกให้มีสติเยอะๆ
เวลาความทุกข์เกิดขึ้น อ๋อ..ทุกข์เป็นแค่เวทนา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเวทนามันทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ อย่างนี้ดูได้ ถ้าทุกข์เกิดขึ้นแล้ว เราไม่น่าทุกข์เลย ทำไม่เราจึงทุกข์ วนเวียนอยู่ อย่างนี้ดูไม่ได้แล้ว เพราะถูกครอบงำเรียบร้อย ถ้าเป็นอย่างนี้ ต้องกลับมาที่ตัวเอง กลับมาดูลมหายใจเข้า ดูลมหายใจออก มาทำความรู้สึกอยู่ที่ตัวเอง จนสติมันแข็งขึ้น มีกำลังขึ้น จึงสามารถดูเวทนาเป็นเวทนาได้ เจ็บปวดก็เป็นความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ไม่มีความยินดียินร้าย ดูเป็นเวทนา พวกเรานี่ บางทียังไม่เจ็บนะ แค่เข็มจะแทงเอาเท่านั้น กลัวจะตายอยู่แล้ว ถ้าดูยังไม่ได้ก็อย่าเพิ่งไปดู อย่าตามมันไป เพราะตามไปแล้ว มีแต่หลงนะ มีดี มีชั่ว มีถูก มีผิด มีชอบ มีไม่ชอบ มีเรา มีของเรา มีเขา มีของเขา ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ อะไรมากมาย นี้เรียกว่าหลง
ต้องดูกำลังของตัวเอง ถ้ากำลังน้อยอยู่ ก็ดูอันที่มันกลางๆ ตามหลักธรรมก็คือกาย ธรรมะแยกเป็น กุศล อกุศล อัพยากตะ บางท่านอาจจะเคยได้ยิน กุศล อกุศล เป็นนามธรรม ด้านจิต จิตใจเรามีทั้งกุศล ทั้งอกุศล ทั้งดี ทั้งไม่มี เกิดขึ้น ส่วนอัพยากตะ ไม่ได้เป็นกุศล ไม่ได้เป็นอกุศล รูปร่างกายนี่เป็นอัพยากตะ หมายถึงว่า ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่เกี่ยวดีหรือไม่ดี เป็นกลางๆ เราฝึกด้วยฐานกาย ฝึกแล้วสติมั่นคงขึ้น แล้วก็ดูจิต ดูเวทนา ดูธรรมต่อไป
ผู้ที่มีสติดี ฝึกอันไหนก็ได้ ดูธรรมะเลยก็ได้ ตามองเห็นแล้ว กิเลสเกิดขึ้น ก็สังเกตดู เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน เกิดเพราะเหตุปัจจัย เห็นกระบวนการทำงานของมันได้ เจริญวิปัสสนาได้ ส่วนพวกที่สติอ่อน เห็นอะไรก็เข้าไปในสิ่งนั้น เห็นหมา โอ้..หมา น่ารักอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างนี้หลงหมาไปเรียบร้อย เห็นเด็กเล็กๆ วิ่งมา มองเห็นทางตา แหม..เด็กเล็กๆ น่ารักเหลือเกิน น่าอุ้ม นี้ก็หลงไปตั้งนานแล้ว บางคนหมายังน่ารักอยู่เลย ตามหลักความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีแต่ทุกข์ พวกเรายังเห็นว่าน่ารักอยู่ แสดงว่าผิดไปไกลมาก
นี้ก็พูดเพื่อแสดงให้เห็นว่า หมวดธัมมานุปัสสนาเป็นหมวดที่ต้องมีสติสัปชัญญะพอสมควรจึงจะทำได้ เราฟังดู บางทียังทำไม่ได้ หมวดนิวรณ์ ให้ดูสภาวะที่เป็นนิวรณ์ เห็นนิวรณ์เป็นนิวรณ์ ไม่ใช่ตัวตน กามฉันทะมีอยู่ในภายในจิต ก็ให้รู้ว่ามี ถ้ามีสติ รู้อย่างนี้ ไม่ไปรังเกียจมัน ก็ใช้ได้ ดูได้ พิจารณาเห็นได้ พวกเราโดยทั่วไป มีกามฉันทะเกิดขึ้น มีความพอใจเกิดขึ้นแล้ว มันอยู่เฉยๆ ไม่ได้ หลงว่าเราชอบ เป็นคนสติอ่อน ไม่ค่อยแข็งแรง เวลาที่เกิดความรักขึ้น ก็เพ้อฝันไปกับความรัก น้ำลายยืดไปกับมัน อย่างนี้ไม่ต้องตามมันไป ปล่อยอันนั้นไป ให้รู้สึกถึงมันแล้วปล่อยไป กลับมาอยู่กับกายให้มันมั่นคง

๓.๔.๔ หมวดโพชฌงค์
ต่อไปจะพูดหมวดโพชฌงค์ ข้อ ๓๘๕ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “สติสัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “สติสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่” การเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่” การเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด เหตุนั้น
๓. เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “วิริยสัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ ชัดว่า “วิริยสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่” การเกิดขึ้นแห่งวิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งวิริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๔. เมื่อปีติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “ปีติสัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่อปีติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “ปีติสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่” การเกิดขึ้นแห่งปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในของเรา ไม่มีอยู่” การเกิดขึ้นแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๖. เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “สมาธิสัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “สมาธิสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่” การเกิดขึ้นแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด เหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๗. เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “อุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “อุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่ มีอยู่” การเกิดขึ้นแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า “ธรรมมีอยู่” ก็เพียงเพื่ออาศัย เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิอยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ อยู่ อย่างนี้แล
หมวดโพชฌงค์ จบ
นี้คือการฝึกสติโดยใช้หมวดโพชฌงค์ คำว่า โพชฌงค์ แปลว่า คุณสมบัติของผู้ที่จะตรัสรู้ เป็นคุณสมบัติเมื่อเกิดในจิตแล้ว จะเป็นผู้รู้ เป็นพุทธะ การฝึกปฏิบัติตอนต้นๆ นั้น โดยส่วนใหญ่ ก็จะมีจิตประเภทที่มีเกิดกิเลสเกิดประกอบเยอะ พอสติมากขึ้นพอสมควร ฝ่ายกิเลสก็น้อยลง ฝ่ายโพชฌงค์เกิดแทนที่ ตอนแรกสิ่งที่เกิดกับจิตเยอะ เป็นกิเลส นิวรณ์ต่างๆ ก็เอานิวรณ์นั้นเป็นเครื่องฝึกสติ ถ้าฝึกสติมากขึ้นๆ ธรรมะฝ่ายดีเกิดขึ้น ก็เอาฝ่ายดีเป็นเครื่องฝึกสติต่อไป อันนี้ธัมมานุปัสสนา เอาทั้งดีและไม่ดี เป็นเครื่องฝึกให้มีสติได้ กิเลสเกิดขึ้นก็เอากิเลสเป็นเครื่องฝึกสติ อย่าไปว่ามัน อย่าไปรังเกียจมัน มีสติดีๆ ถ้ากิเลสเกิดขึ้น ก็ให้รู้ว่ามันเป็นกิเลส เป็นธรรมชาติอย่างนั้นแหละ เกิดแล้วก็ทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา พยาบาท ความขัดเคืองเกิดขึ้น ก็รู้ว่ามีขึ้น เป็นเครื่องฝึกสติ ถีนมิทธะเกิดขึ้น ง่วงนอนก็รู้ว่าความง่วงนอนเกิดขึ้น เราฝึกแรกๆ นี้ ง่วงนอนเป็นกันทุกคนใช่ไหม เวลาง่วงนอนก็ให้รู้ว่าง่วงนอน ไม่ต้องรังเกียจมันนะ ถ้าไปรังเกียจแสดงว่า หลงมันไป นอกจากไม่หลงแล้ว ต้องไม่ถูกมันครอบงำด้วย ไม่ไปนอนตามมันบอก เราต้องขยันฝึกขยันฝึกน่ะ ไม่ใช่ว่าขี้เกียจก็หมดอาลัยตายอยาก ง่วงนอนก็ไปนอน อย่างนี้ไม่ได้นะ
พอฝึกสติมากขึ้น ฝ่ายดีก็มากขึ้น ฝ่ายดีที่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้เรียกโพชฌงค์ องค์ของการตรัสรู้ หรือคุณสมบัติของผู้ที่จะได้ตรัสรู้ ตัวคุณสมบัตินี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิต จิตนี้เป็นประธาน คำว่า ฝึกจิต นี้พูดแบบให้เกียรติจิต ที่ว่าฝึกๆ นี้ เราฝึกสภาวธรรมต่างๆ ให้เกิดมีขึ้นในจิต ฝึกให้มีสติ ให้สติเกิดขึ้นในจิตนี้ แต่เดิมความหลงมันเกิดขึ้น เราฝึกให้สติเกิด ฝึกให้มีสมาธิ ให้สมาธิเกิด ฝึกให้มีปัญญา ให้ปัญญาเกิดกับจิต อย่างนี้ คำว่า ฝึกจิต หรือคำว่า จิตตภาวนา อะไรก็ดี เราพูดให้เกียรติจิต จิตเป็นตัวประธานของทุกเรื่อง แม้แต่ตอนเลวๆ ก็เป็นจิตเหมือนกัน มีของเลวๆ เกิดในจิต ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น นี้เรียกว่าจิตยังไม่ได้ฝึก ทีนี้ เราก็มาฝึก ทำหมวดที่ควรเกิดให้มันเกิดขึ้น ธรรมะที่ควรฝึกให้มีขึ้น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ เป็นต้น จนถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นสภาวะที่เกิดในจิต
ตอนนี้ พูดถึงคุณสมบัติที่เกิดในจิต เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ เพื่อมีปัญญาเห็นธรรม ในธัมมานุปัสสนา กล่าวถึงธรรมะทั้งสองข้าง ฝ่ายไม่ดีกับฝ่ายดี ฝ่ายมืด บังปัญญา กับ ฝ่ายสว่าง ทำให้เกิดปัญญา ฝ่ายไม่ดีแทนด้วยนิวรณ์ ฝ่ายดีแทนด้วยโพชฌงค์
ธรรมทั้งสองอย่าง ทั้งดีและไม่ดี ทั้งมืดและสว่าง ล้วนเป็นธรรมะฝ่ายสังขาร เกิดเพราะเหตุปัจจัย เอามาฝึกสติได้เหมือนกัน ในการตามดูโพชฌงค์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
เมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “สติสัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่” หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “สติสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่” การเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ในการตามดู มองดูธรรมะในแบบโพชฌงค์นี้ มี ๔ ประเด็นด้วยกัน คือ
(๑) เมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “สติสัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่”
(๒) เมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า “สติสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่”
(๓) ความเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
(๔) ความเจริญบริบูรณ์แห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
การฝึกรู้จักฝ่ายอกุศลกับฝ่ายกุศลนี้ มีทั้งส่วนที่เหมือนกันและมีบางส่วนไม่เหมือนกัน ฝ่ายอกุศลก็ต้องรู้จักมันตามที่เป็นจริง ขณะนี้มี ก็รู้ว่ามี ไม่มีก็รู้ว่าไม่มี ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นด้วยเหตุใด ที่เกิดขึ้นแล้ว ละได้ด้วยเหตุใด และที่ละได้แล้วจะไม่เกิดอีกด้วยเหตุใด ก็ให้รู้ นี้คือการรู้ธรรมะฝ่ายอกุศล ให้รู้จักมัน ไม่ได้รังเกียจ ให้ละ ให้ระวังไม่ให้เกิด และรู้จักวิธีอันเด็ดขาดที่มันจะไม่เกิดอีกต่อไป อันนี้ฝ่ายไม่ดี
ส่วนฝ่ายดี ให้รู้จัก มี ก็รู้มันมี ไม่มี ก็รู้ว่าไม่มี และรู้จักว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันจะถึงความเจริญจนเต็มบริบูรณ์ได้ด้วยเหตุใด ก็ให้รู้ด้วย คล้ายๆ กัน แต่ไม่เหมือนเสียทีเดีย ฝ่ายอกุศลมองไปด้านละ ฝ่ายกุศลมองไปด้านเจริญให้เต็ม ไม่เหมือนกัน อย่างบอกว่าฝึกสตินี้ กิเลสก็ดูได้ กุศลก็ดูได้ เป็นอารมณ์ได้เหมือนกัน ก็จริงอยู่ แต่ไม่เหมือนกัน รู้ได้เหมือนกัน ฝ่ายกิเลสนี่ เรียนรู้เน้นไปทางด้านละ รู้เหตุในการละ รู้เครื่องมือที่ทำให้ละกิเลสได้ อกุศลเป็นธรรมที่ต้องละ แต่ไม่ใช่ละแบบรังเกียจ ไม่ใช่ผลักไสไล่ส่ง มีปัญญารู้ตามความเป็นจริง รู้จักว่ากิเลสไม่มีตัวตน เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยอะไร นี้ฝ่ายไม่ดี ฝ่ายดีก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ให้รู้จักมัน รู้เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น และรู้เหตุที่ทำให้เต็มบริบูรณ์
เวลาพูดว่า อกุศลก็ใช้ฝึกสติได้ กุศลก็ฝึกสติได้ ก็ใช่อยู่ แต่ก็มีความต่างกันในรายละเอียด ไม่ใช่ว่าอะไรก็ได้หมด กิเลสนี้ต้องละ ต้องหาวิธีละ ไม่ใช่ละเพราะรังเกียจ ไม่ใช่ละตามความอยากหรือตามความคิด แต่ละที่เหตุปัจจัย ให้มีความรู้ เริ่มต้นจากละทุจริต ให้ห่างไปเรื่อยๆ จนหมดไป ส่วนฝ่ายดีก็รู้จัก ไม่ได้หลงรัก ทำเหตุปัจจัยให้เกิดเยอะๆ อันหนึ่ง เป็นธรรมะที่ต้องละ อีกอันหนึ่ง เป็นธรรมะที่ต้องเจริญ มันต่างกันอย่างนี้ การละ ก็ละด้วยความรู้ การเจริญ ก็เจริญด้วยความรู้เหมือนกัน
ในสติสัมโพชฌงค์ตอนท้ายมีว่า ความเจริญบริบูรณ์แห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น นอกจากให้รู้จักว่า มี ไม่มี เกิดเพราะเหตุปัจจัยอะไร ก็ให้รู้เหตุปัจจัยที่ทำให้เต็มบริบูรณ์ รู้วิธีในการทำให้เกิดเยอะๆ ธรรมะฝ่ายดี คือโพชฌงค์นี้ เป็นธรรมะที่ควรเจริญ เป็นสังขาร จะเจริญ ก็ต้องมีเหตุ ไม่ใช่ไปบังคับเอา ต้องทำเหตุ
หมวดโพชฌงค์นี้มีอยู่ ๗ อย่างด้วยกัน เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้ตรัสรู้ ถ้ามีคุณธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในจิตแล้ว จะเป็นผู้ที่พร้อมสำหรับการตรัสรู้ เราเรียนหมวดนี้เอาไว้ก็ดีเหมือนกัน จะได้รู้จักหลัก ถ้าจิตประกอบด้วยธรรมะเหล่านี้จะได้ตรัสรู้ อย่างอื่นไม่ได้ตรัสรู้ อาจจะได้รับความสุข ได้นั่นได้นี่ไป อะไรมากมาย ถ้าจะให้มีปัญญาตรัสรู้ก็ต้องฝึกไปตามโพชฌงค์
ข้อที่ ๑ สติสัมโพชฌงค์ คุณสมบัติหรือสภาวธรรมที่เกิดขึ้นในจิต ทำให้เป็นผู้ที่ได้ตรัสรู้คือสติ ลักษณะของผู้มีสติสัมโพชฌงค์นั้น คือ เป็นผู้มีสติและปัญญารักษาจิต รู้ในการทำ การพูด สิ่งที่ทำ ทำด้วยจิตอะไรก็รู้ พูดด้วยจิตอะไรก็รู้ มีสติ มีความรู้ตัวอยู่เสมอ รู้กาย รู้จิต ไม่หลงลืมว่ามีแต่กาย มีแต่จิต ไม่ปล่อยจิตให้ล่องลอย สามารถระลึกสิ่งที่ทำ คำที่พูดได้
ข้อที่ ๒ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มีสติแล้ว เป็นผู้มีสติตั้งมั่นดี ขั้นต่อมาก็วิจัยธรรม ทำธรรมวิจัย พวกเราโดยทั่วไปนั้น ปฏิบัติธรรม บางทีไม่ได้ฝึกสติด้วยซ้ำ ไปนั่งสมาธิ พยายามทำให้จิตสงบ พยายามทำให้มันนิ่ง พยายามให้มันไม่คิด ไม่ฟุ้ง ไม่รับรู้ อะไรก็ตามแต่ นั้นก็ได้ผลเหมือนกัน แต่ได้ผลเป็นความสงบ ความนิ่ง บางทีไม่ได้ผล ก็มีแต่นั่งหลับ เคลิบเคลิ้ม มืดมัว หลงผิดหนักไปกว่าเดิม ถ้าต้องการให้เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ต้องเรียงลำดับเป็นแบบโพชฌงค์ คือ ฝึกให้มีสติ ฝึกให้จิตนั้นตื่นตัว ทำอะไรด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่หลงลืมตัว รู้ตัวอยู่เสมอ นี้อันที่ ๑ ต่อมาพอมีสติแล้วก็วิจัยธรรม
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คุณสมบัติของผู้ตรัสรู้ คือ การวิจัยธรรม คำว่า วิจัย ได้แก่ ค้นคว้า สังเกตดู พิจารณาดู สอดส่องดูเข้าไปให้ลึกซึ้งในกายในใจนี้ ดูให้เห็นว่ามีแต่ธรรมะ เป็นแต่สิ่งที่ไม่มีตัวตน มีเมื่อมันเกิดขึ้น เกิดเพราะเหตุปัจจัย ดำรงอยู่ได้เพราะปัจจัย เมื่อหมดปัจจัยก็อยู่ไม่ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ของใคร เป็นแต่ธรรมะเท่านั้น ธรรมะไหนไม่ดี ควรละ ธรรมไหนดี ควรเจริญ ละอย่างไร เจริญอย่างไร วิจัยดู ค้นคว้าดู จนรู้จัก นี้เรียกว่าธรรมวิจัย ผู้ที่จะวิจัยอย่างนี้ได้ ต้องเป็นผู้มีสติ มีจิตตั้งมั่นดี สังเกตดูอะไรที่เกิดขึ้นภายในตน เกิดแก่บุคคลอื่น และเกิดในโลก ล้วนเป็นธรรมะ อันนี้ดีไหม ไม่ดี เกิดขึ้นแล้ว ทำให้จิตเศร้าหมอง ให้รู้จัก อันนั้นดี เกิดขึ้นแล้ว ทำให้มีปัญญา สว่างไสว มีดวงตา นี้เรียกว่าวิจัย
ธรรมะบางอย่างเป็นอกุศล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมะฝ่ายควรละ ความปลาบปลื้ม ปราโมทย์ ปีติเกิดขึ้น เกิดความสุข เกิดสมาธิ ปัญญา เกิดความสบายอกสบายใจ หรือฟังธรรมะแล้วเกิดความรู้ขึ้น นี้เป็นธรรมะเหมือนกัน ไม่มีตัวตน แต่เป็นธรรมะฝ่ายที่ควรเจริญ ควรกระทำให้มากๆ การวิจัย ค้นคว้าดู ให้รู้จักสิ่งไหนเป็นอกุศล สิ่งไหนเป็นกุศล อกุศลและกุศลนั้นล้วนเป็นสังขาร ไม่ได้มีตัวตนอยู่ก่อน ล้วนเกิดตามเหตุปัจจัย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บางสิ่งควรละ บางสิ่งควรเจริญ บางสิ่งควรกำหนดรู้ บางสิ่งควรกระทำให้แจ้ง อันนี้เรียกธรรมวิจัย มองให้ทะลุกายและใจ ทำให้เกิดความเข้าใจตัวเองและคนอื่น รวมทั้งโลกว่ามีแต่ธรรมะเท่านั้น
หากต้องการปฏิบัติเพื่อการตรัสรู้ มีสติแล้ว ให้คอยสังเกต เฝ้ามองดู กายใจของตนเอง มองให้เห็นอันไหนเป็นกุศล อันไหนเป็นอกุศล อันไหนดี ไม่ดี ต้องรู้จักให้หมดว่าเป็นเพียงธรรมะ พอรู้จักแล้ว สิ่งไม่ดีควรละ ก็ทำความเพียรเพื่อละ ไม่ใช่ไปรังเกียจมัน ละด้วยเหตุปัจจัย กิเลสไม่มีเหตุมันก็ไม่เกิด ก็ป้องกันไว้ จนทำลายที่ตั้งของมันได้ ฝ่ายดีก็เจริญ ทำให้มากๆ ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป อันที่มีแล้ว อย่างน้อยก็รักษาไว้ อย่าให้เสื่อม
ข้อที่ ๓ วิริยสัมโพชฌงค์ คำว่า วิริยะ นิยมแปลว่า ความเพียร ก็พอได้ แต่ไม่ตรงเสียทีเดียว วิริยะ แปลว่า ความกล้าหาญ บากบั่น ก้าวไปข้างหน้าไม่อยู่กับที่ ไม่ทอดทิ้งธุระ สิ่งไหนควรทำ แม้จะยากลำบาก ก็สู้ไม่ถอย ไม่ปล่อยความตั้งใจ ประคับประคองทำจนประสบความสำเร็จได้ ไม่เป็นคนประมาทอยู่เสมอ ไม่หยุดอยู่กับที่ ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยไป ถ้าได้ดีนิดหน่อย แล้วหยุดอยู่กับที่ นี้เรียกว่าเป็นคนประมาท ได้ดีนิดหน่อยก็พอใจแล้ว คล้ายๆ พูดภาษาไทยว่าเป็นพวกสันโดษ ได้เท่านี้ก็พอใจแล้ว อย่่างนี้ใช้ไม่ได้กับหลักธรรมขั้นสูง สันโดษนี้ใช้ได้กับหลักธรรมขั้นกายภาพ คือเรื่องปัจจัย ๔ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะพวกเราเกิดมา ประกอบด้วยรูปธรรมและนามธรรม รูปธรรมติดตามไปได้แค่ชาติเดียว ข้ามชาติไม่ได้ ไม่มีอะไรที่กระโดดตามไปได้ ทั้งรูปทั้งนามล้วนสืบต่อเป็นกระแสติดตามไป นามธรรมติดตามไปได้เรื่อยๆ สันโดษใช้ได้เฉพาะด้านกายภาพ เรื่องอาหาร เรื่องที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ทรัพย์สมบัติ สิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งภายนอก ให้สันโดษ ให้พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีความสามารถหาได้ อย่าไปขวนขวายมากนัก เพราะบางทีเสียเวลาเกินได้ อย่าไปเสียเวลามากนัก มันตามเราไปได้หนึ่งชาติ ส่วนด้วยนามธรรมติดตามเราไปได้นาน
สันโดษนั้นใช้ได้เฉพาะด้านกายภาพ ให้สันโดษในปัจจัย ด้านนามธรรมนี้ห้ามไปสันโดษ คุณงามความดี ด้านนามธรรมให้ทำไว้เยอะๆ เข้า ถ้าสันโดษก็ไม่ดี โอ..ทำบุญแล้ว สบายใจแล้ว พอใจแล้ว นอนสบายใจเฉิบ ไม่ทำต่อ อย่างนี้เรียกว่าประมาท ถ้าพูดหนักๆ หน่อย เรียกว่าโง่
ขันธ์ ๕ เมื่อวานนี้ก็ดับไปแล้ว วันนี้เป็นขันธ์ ๕ ใหม่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย แม้แต่เงินที่เราสะสมไว้ในธนาคาร ก็เป็นเงินใหม่ ตามไปเรื่อยๆ ถ้าไม่เจอเหตุปัจจัยที่รุนแรง มันก็จะตามไปถึงวันตาย เกิดชาติใหม่ เงินไม่ไปด้วย ส่วนด้านนามธรรม บุญและบาป กุศลและอกุศล อุปนิสัยใจคอต่างๆ มันไปด้วย แต่ไม่ใช่แบบกระโดดติดตามไป ส่งทอดกระแสเหตุปัจจัยไป
ความสันโดษนี้เอาไว้ใช้ในด้านกายภาพ ด้านคุณธรรมนี้ห้ามสันโดษ ฟังธรรม แหม..เข้าใจเท่านี้ก็พอแล้ว มักน้อย สันโดษ ได้นิดหน่อยก็เอาแล้ว ดีกว่าไม่ได้ พูดเหมือนดี อย่างนี้มันโง่ แทนที่จะมาพิจารณาดูว่า ตอนนี้เข้าใจเท่านี้ มีโอกาสที่จะเข้าไจได้มากกว่านี้ไหม สามารถทำได้มากกว่านี้ไหม พยายามทำให้เยอะกว่านี้ ความเข้าใจธรรมนี้ เป็นปัญญา เป็นด้านนามธรรม
สภาวะที่ทำให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ บากบั่นไปข้างหน้า ไม่หยุดอยู่กับที่ ไม่ท้อถอย ไม่ทอดธุระ สิ่งควรทำก็รีบทำ นี้เรียกว่าวิริยะ ความเพียร ผู้ที่มีคุณสมบัติอย่างนี้จะได้ตรัสรู้ ส่วนผู้ที่ทำอะไรได้นิดหน่อย ก็พอแล้ว พวกนี้จะไม่เจริญก้าวหน้า เหมือนพวกเราโดยทั่วไป จะเป็นในทำนองนี้กัน ทำบุญ ได้บุญใหญ่แล้ว ได้บริจาค สบายใจ แล้วหยุดอยู่ ไม่พยายามก้าวต่อไปสู่การพัฒนาจิต บุญมีเยอะ แต่ถ้าพูดถึงการมีปัญญาตรัสรู้ หากขาดความเพียร ก็ไม่สามารถจะมีได้ สันโดษไปแล้ว ประมาทไปแล้ว
ทำบุญเพื่อเป็นฐานของจิต ทำบุญก็ดี ทำให้จิตใจนั้นสะอาดปลอดโปร่ง ชำระจิต จะฝึกอบรมได้ง่ายขึ้น มาเรียนธรรมะ มาฝึกสติสัมปชัญญะ มันง่าย คนไหนมีบุญเยอะ นี่ดีมาก ความดีเกิดในจิตมาก มาเรียนธรรมะมันง่าย ใจมันปลอดโปร่ง มีความเสียสละ อ่อนน้อมถ่อมตน มีเมตตา เป็นคนมีศีล สำรวมระวัง นี่ดี ทำให้ปฏิบัติธรรมขึ้นสูงได้ง่าย ถ้าทำบุญแล้วก็เอาเท่านั้น มีศีลแล้ว สมาทานแล้วก็รักษา ก็เอาเท่านั้น อันนี้ก็ได้บุญ ได้เกิดสวรรค์เหมือนกัน แต่ไม่มีปัญญาเห็นความจริง
ให้มีความบากบั่นอยู่เสมอ เหมือนปฏิบัติธรรม จะอยากปฏิบัติหรือไม่อยากปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ ต้องบากบั่น ก้าวไปข้างหน้า มีความเพียรประคับประคองการปฏิบัติให้มีความต่อเนื่อง ทำไม่หยุด จะเกิดอะไรขึ้น ก็ทำต่อไป มีสติและวิจัยธรรมอยู่อย่างนั้นเสมอๆ บางคนบอกว่า อ้าว..เดินจงกรมแล้ว กลับไปกลับมาหลายเที่ยว ได้เป็นร้อยเที่ยวแล้ว มีความเพียรแล้วมั้ง ต้องดูตัวความเพียร เดินจงกรม ตั้งใจฝึกสติ จะสงบหรือไม่สงบ เราก็เดินไปเรื่อย ง่วงนอน อยากไปนอน ก็เดินฝึกสติไปเรื่อย ง่วงนอนก็เดินได้ ขี้เกียจก็เดินได้ ไม่ถือสากับความขี้เกียจ มีความกล้าหาญ บากบั่น ไปข้างหน้าอยู่เรื่อย จะเกิดอะไรขึ้น ก็ไปข้างหน้าเสมอ ขี้เกียจก็ทำ ขยันก็ทำ ขยันทำได้ ขี้เกียจก็ทำได้ เบื่อก็ทำได้ ง่วงนอนก็ต้องทำได้
ส่วนพวกเรานั้น ปกติไม่ได้เป็นอย่างนั้น ถ้าขยันก็มาทำ ทำกันหามรุ่งหามค่ำ พยายามจะเอาบรรลุทีเดียว ขี้เกียจก็หาเพื่อนคุย ให้หายขี้เกียจก่อน แล้วค่อยมาทำต่อ กลับไปกลับมา ไม่มีความก้าวหน้า ไม่สามารถข้ามตรงนี้ไป ใช้ชีวิตแบบเดิม คือเข้าๆ ออกๆ ยึกๆ ยักๆ ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ไม่ทำ ไม่ได้มีความเพียรมาประคับประคองการปฏิบัติให้ต่อเนื่อง พอมาถึงจุดหนึ่ง มันไม่ไปต่อแล้ว วกกลับไปเหมือนเดิม ถ้ามีความเพียรถึง ก็ข้ามไปได้ ขี้เกียจหรือขยัน ง่วงนอนหรือไม่ง่วง เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ไม่มีผล สามารถก้าวข้ามไปได้ ทำความเพียรต่อได้ ตัวที่ทำหน้าที่ก้าวข้ามไปได้ ภาษาไทยเราก็เอามาใช้ เป็นวีระบุรุษ คนกล้าหาญ เข้าไปสงครามจะตายก็ไม่ว่า
การปฏิบัติธรรมก็ทำนองเดียวกัน พอปฏิบัติไปถึงช่วงหนึ่ง ถ้าหยุด จะเข้าๆ ออกๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น ใจไม่เด็ดพอ บางคนก็กลัวหมดกิเลส กลัวจะไม่สนุก กิเลสเพียบ แต่กลัวหมด บางคนกลัวว่าจะกินอาหารไม่อร่อย ก็กลับมาอีก กลับไปกลับมาอยู่ ทั้งๆ ที่รู้วิธี แต่ความเพียรไม่พอ
ตัวความเพียรที่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ นี้เรียกว่าวิริยสัมโพชฌงค์ ขั้นแรกฝึกให้มีสติ มีความรู้ตัวอยู่เสมอ แล้วมองดู ค้นคว้าดู เรียกธรรมวิจัย อะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นกุศล เกิดเพราะเหตุอะไร อันไหนควรละ อันไหนควรเจริญ มีธรรมวิจัยแล้ว ต้องมีความเพียร ความกล้าหาญ บากบั่น ก้าวไปข้างหน้าไม่หยุด ต้องไม่พอใจ ให้ทำต่อไปอีก พระพุทธเจ้าสอนเรื่องสันโดษมั้ย สอนให้สันโดษก็มี ไม่ให้สันโดษก็มี สอนให้สันโดษในปัจจัยสี่ แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ธรรมะฝ่ายดีอย่าไปสันโดษ อย่าพอใจ ด้านวัตถุ ด้านกายภาพให้รู้จักพอใจ ส่วนด้านคุณธรรม อย่าไปพอใจ มีศีลแล้ว พอใจมั้ย ไม่พอ ต้องเพิ่มอีก มีสติเท่านี้พอมั้ย ไม่พอ ให้ทำเพิ่มอีก ปัญญามีเท่านี้พอมั้ย ไม่พอ ต้องเพิ่มอีก สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ ความพอใจเป็นทรัพย์อันอันยอดเยี่ยม นี้หมายถึง พอใจ ยินดีในปัจจัย ๔ ด้านวัตถุ ส่วนด้านคุณธรรมแล้ว อสนฺตุฏฺฐิตา กุสเลสุ ธมฺมเสุ ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ต้องแยกดีๆ
พวกเรานี้โดยทั่วไปขี้เกียจอยู่แล้ว ก็เอามาใช้ไปเรื่อย ก็ฟังธรรมเสร็จแล้ว ผมเข้าใจได้เท่านี้แหละอาจารย์ ผมพอใจแล้ว รู้เรื่องนิดหน่อยก็เอาเท่านี้แหละ ผมมักน้อย สันโดษ ว่าไปนั่นอีก อย่างนี้มันโง่จนไม่รู้เรื่อง เข้าใจได้เท่านี้แล้ว ก็ต้องมาพิจารณาว่า สามารถเข้าใจได้เพิ่มอีกหรือเปล่า ต้องขวนขวายเพิ่มเติม แล้วฝึกหัดปฏิบัติ อย่างนี้จึงถูกในด้านธรรมะ
ข้อที่ ๔ ปีติสัมโพชฌงค์ คุณสมบัติของผู้ที่จะได้ตรัสรู้คือปีติ เมื่อมีความเพียร มีสติ และวิจัยธรรมอยู่เสมออย่างนั้น ปีติย่อมเกิดขึ้น เมื่อมีปีติ ใจก็เอิบอิ่ม รู้สึกเต็ม ได้รู้จักธรรมะ ได้ดื่มธรรมะ มีปีติในธรรม มันอิ่ม มันเต็ม โลกนี้ไม่รู้จักอิ่ม ตกเป็นทาสตัณหา เข้าใจธรรมะ ทำให้เอิบอิ่ม ไม่ต้องมีเหยื่อมาล่อ
ข้อที่ ๕ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิ แปลว่า สงบระงับ กายก็สงบระงับ จิตก็สงบระงับ ความเดือดร้อน อยากได้นั่นอยากได้นี่ที่เคยมี ก็สงบระงับลง
ข้อที่ ๖ สมาธิสัมโพชฌงค์ เมื่อกายและจิตระงับ ก็รู้สึกสบาย มีความสุข ผ่อนคลาย จิตของผู้มีที่มีความสุข ก็มีความตั้งมั่นดี เป็นจิตที่ไม่ซัดส่าย
ข้อที่ ๗ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ จิตตั้งมั่นด้วยดี จิตเป็นกลาง วางเฉย สามารถมองดูอยู่ใกล้ๆ พร้อมที่จะจัดการเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
คุณสมบัติในจิตของผู้ที่จะตรัสรู้มี ๗ ประการนี้แหละ ในการปฏิบัติก็เจริญและทำให้มาก และให้มีสติตามรู้โพชฌงค์ มีโพชฌงค์เกิดขึ้นก็รู้ ไม่เกิดก็รู้ เกิดเพราะเหตุปัจจัยอะไร ก็รู้เหตุปัจจัยเหล่านั้น และโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วจะเจริญจนเต็มบริบูรณ์เพราะเหตุอะไร ก็รู้เหตุปัจจัยเหล่านั้น เห็นโพชฌงค์เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุ ฟังดูแล้วอาจจะยาก หากยังทำไม่ได้ก็ฟังไว้ก่อน
คุณสมบัติของผู้จะตรัสรู้ตามหลักของโพชฌงค์นี้ ข้อแรกคือสติสัมโพชฌงค์ เราจึงต้องให้มีสติ จิตที่มีสติ มีความรู้ตัวดี ก็รู้วนเวียนอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ที่พูดไปแล้ว จิตมาอยู่ที่ตัวเอง แต่เดิมนั้นจิตของเราชอบโคจรไปข้างนอก ไปสนใจรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จิตเที่ยวโคจรไปข้างนอก ซึ่งเป็นโคจรของมาร โคจรที่ถูกต้อง คือ กาย เวทนา จิต และธรรม เป็นอริยโคจร เป็นโคจรของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบิดา คำว่า โคจร แปลว่า อารมณ์ของจิต
จะอ่านพระสูตรให้ฟัง ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มักกฏสูตร ข้อ ๓๗๓
ภิกษุทั้งหลาย ถิ่นที่เป็นขุนเขาหิมพานต์ ซึ่งไปได้ยาก ขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิงทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่ ถิ่นที่เป็นขุนเขาหิมพานต์ ซึ่งไปได้ยาก ขรุขระ เป็นที่เที่ยวไปของฝูงลิง ไม่ใช่ที่เที่ยวไปของหมู่มนุษย์ มีอยู่ ภาคพื้นขุนเขาหิมพานต์ซึ่งราบเรียบ น่ารื่นรมย์ เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิงทั้งของ หมู่มนุษย์ ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น พวกนายพรานวางตังดักไว้ที่ทางเดินของฝูงลิงเพื่อดักลิง

ภิกษุทั้งหลาย บรรดาลิงเหล่านั้น ลิงเหล่าใดไม่โง่ ไม่ลอกแลก ลิงเหล่านั้นเห็นตังนั้นก็หลีกห่างไกล ส่วนลิงตัวใดโง่ ลอกแลก ลิงตัวนั้นเข้าไปใกล้ตังนั้นแล้ว เอามือจับดู มือจึงติดที่ตังนั้น มันคิดจะดึงมือออก จึงเอามือข้างที่ ๒ จับ มือข้างที่ ๒ ก็ติดที่ตังนั้น มันคิดจะดึงมือทั้ง ๒ ข้างออกจึงเอาเท้ายัน เท้าก็ติดที่ตังนั้น มันคิดจะดึงมือทั้ง ๒ และเท้าออก จึงเอาเท้าข้างที่ ๒ ยัน เท้าข้างที่ ๒ ก็ติดที่ตังนั้น มันคิดจะดึงมือทั้ง ๒ และเท้าทั้ง ๒ ออกจึงเอาปากกัด ปากก็ติดที่ตังนั้นอีก ลิงตัวนั้นติดตัง ๕ แห่งอย่างนี้ นอนถอนใจ ถึงความพินาศ ย่อยยับแล้ว ถูกนายพรานทำได้ตามใจปรารถนา นายพรานแยกลิงตัวนั้นออกแล้ว ยกแขวนไว้ในที่นั้นเอง ไม่ให้หลุดไปแล้วหลีกไปตามต้องการ เรื่องลิงเที่ยวไปในแดนอื่นซึ่งไม่ใช่ที่หากิน ก็เป็นเช่นนี้แล

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในแดนอื่นที่เป็นอโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนอื่นที่เป็นอโคจร มารก็จักได้ช่อง ได้อารมณ์
แดนอื่นที่เป็นอโคจรของภิกษุ เป็นอย่างไร
คือ กามคุณ ๕ ประการ
กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู …
๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก …
๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น …
๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
ภิกษุทั้งหลาย นี้คือแดนอื่นที่เป็นอโคจร

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในแดนที่เป็นของบิดาของตนอันเป็นโคจรเถิด เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนที่เป็นของบิดาของตนอันเป็นโคจร มารก็จักไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์
แดนที่เป็นของบิดาของตนอันเป็นโคจร อะไรบ้าง
คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ ประการ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย …
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิต …
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้คือแดนที่เป็นของบิดาของตนอันเป็นโคจรของภิกษุ
มักกฏสูตรที่ ๗ จบ

พระสูตรนี้ว่าด้วยเรื่องลิง ลิงมีอยู่สองกลุ่ม คือลิงไม่โง่ ไม่ลอกแลก มีใจไม่โลเล พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่ง เป็นลิงโง่ ลอกแลก ซุกซน ใจโลเล ฟุ้งซ่าน นายพรานเอาตังมาดักไว้ ตังคือของเหนียวๆ ติดหนึบ แกะไม่ออก เอาไว้สำหรับดักสัตว์ แบบกาวสมัยใหม่นี่แหละ นายพรานเอาไปวางไว้ ที่ทางเดินของลิง ลิงตัวไหนไม่โง่ ไม่ลอกแลก ใจไม่โลเล ไม่อยากลองของ เป็นผู้ไม่สอดรู้สอดเห็น มันก็หลีกห่าง อันนี้มันเหนียว กลัวจะติด เดี๋ยวลำบาก ทำให้ตัวเองเดือดร้อน มันก็ไม่ไปจับ หลีกห่างๆ ไว้
ส่วนลิงอีกพวกหนึ่ง เป็นลิงโง่ ลอกแลก โลเล อยากลอง อยากรู้ มันก็เอามือจับ พอจับมือก็ติด คิดจะดึงออก แต่ไม่รู้วิธีที่ถูกต้อง เอามืออีกข้างช่วยดึง มือก็ติดทั้งสองข้าง คิดจะเอาเท้าไปยันออก เท้าก็ติดอีกทั้งสองข้าง เอาปากกัด ปากก็ติดอีก เป็นไง ติดทั้งห้าแห่งเลย มือสองข้าง เท้าสองข้าง ปากหนึ่ง พอเป็นอย่างนี้ ก็หมดหวัง นอนถอนใจ นายพรานเอาไปทำอะไรได้ตามต้องการ นี้เป็นลิงมันโง่ ลอกแลก เที่ยวไปในสถานที่อันไม่ควรเที่ยวไป เล่นในสถานที่ๆ ไม่ควรเล่น
การเที่ยวโคจรไปของภิกษุก็มีอยู่สองข้างเหมือนกัน ข้างที่หนึ่ง อารมณ์อันเป็นโคจรของฝ่ายมาร ไม่ใช่อารมณ์ของพระอริยะ ถ้าเที่ยวไปทางนั้น มารก็ได้ช่อง กิเลสเกิดเพียบ มีความยินดียินร้าย และติดข้องมากมาย อารมณ์อันเป็นฝ่ายมาร อันไม่ใช่โคจร คือ อะไร คือกามคุณทั้ง ๕ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เหล่านี้เป็นเหมือนกาวที่เหนียว เข้าไปเกี่ยวข้องนี่ต้องระวัง อย่าไปจับสุ่มสี่สุ่มห้า ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยสติปัญญา ถ้าภิกษุที่ไม่ฉลาด เที่ยวไปในอารมณ์ที่ไม่ใช่โคจร รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้กำหนัด กิเลสต่างๆ จะเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ทำกรรม และต้องเวียนว่ายตายเกิด ติดอยู่ในสังสารวัฏอีกยาวนาน
พระพุทธองค์เตือนให้ภิกษุทั้งหลายเที่ยวไปในโคจร อันเป็นโคจรของบิดาตัวเอง โคจรของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอริยะ พวกเราเกิดมานานมาก สังสารยาวนานมาก หาพ่อตัวจริงเจอหรือยัง ให้อยู่ในถ่ินหรือเขตแดนของบิดาตน บางคนว่า พ่อตามทะเบียนบ้านนี่แหละ พูดชาติเดียว พูดเฉพาะชาติปัจจุบัน เป็นพ่อลูกกันในชาตินี้ถูกแล้ว ทีนี้ ทั้งสังสารวัฏ บิดาตนเองอยู่ตรงไหน บ้านของเรา ที่อยู่ของเรา บ้านพ่อบ้านแม่ของเราอยู่ตรงไหน พ่อของภิกษุคือพระพุทธเจ้า ดินแดน โคจร หรืออารมณ์ของพระพุทธเจ้าคือสติปัฏฐาน ๔ ตามรู้กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม กาย เวทนา จิต ธรรม นี้เป็นบ้าน เป็นอารมณ์ เป็นดินแดน ถิ่นที่อยู่ของบิดาตัวเอง เราเกิดมานานมากแล้ว หลงลืมบ้านตัวเองไป ลืมบ้านพ่อ บ้านแม่ ก็เลยตกไปถิ่นโน้นบ้าง ถิ่นนี้บ้าง ตกระกำลำบากมานานนักหนา ต้องเที่ยวตะลอนๆ ทำตามความอยากและความเห็นที่ผิดๆ
ตอนนี้ตกมาที่นี่ มาเป็นมนุษย์ ชาติต่อไปจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ บางคนดีหน่อยตกเป็นเทวดา บางเขาบอกได้ขึ้น ขึ้นสวรรค์ บางคนก็ตกอบาย โดยทั่วไปแล้ว ส่วนมากจะไปข้างล่างมากกว่า อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ อบายนั้นเป็นสถานที่อันคุ้นเคยของคนประมาท คนที่ประมาทไม่ได้ฝึกจิตนี่ คุ้นเคยกับอบาย ไปอบายบ่อย อยู่นานติดต่อกันหลายชาติ มามนุษย์และเทวดา เหมือนมาเที่ยว ไม่กี่ชาติก็ตกไปอีกแล้ว นิสัยส่วนใหญ่คุ้นเคยกันการที่ไม่มีกฏระเบียบ เราทั้งหลายลองสังเกตตัวเองดูก็ได้ เราคุ้นเคยอย่างไหน ถ้าเป็นคนที่ได้ฝึกตนเองแล้ว จะคุ้นเคยกับความมีระเบียบวินัย เป็นพวกสัตว์นี่มีระเบียบไหม หมามีกฏจราจรไหม ไม่มี ไม่มีกฏระเบียบ คนประมาทก็จะเป็นทำนองนั้น พวกประมาทไม่ได้ฝึกตนเอง จะรู้สึกว่า แหม..การทำตามกฏระเบียบนี่มันยุ่งยาก มันเหนื่อย มันเครียด กฏมันเยอะเหลือเกิน เขาว่าอย่างนี้ นิสัยมันใกล้อบาย คนประมาทนี่อบายเป็นสถานที่คุ้นเคยสำหรับเขา ส่วนผู้ที่ได้ฝึกแล้ว กฏระเบียบเป็นเรื่องสบายสำหรับเขา เป็นตัวช่วยทำให้ง่าย ทำให้ชีวิตสะดวก สบาย ปลอดโปร่ง บริหารอะไรได้ง่ายขึ้น
พระสูตรนี้แสดงให้เห็นถึงโคจรอันเป็นของบิดาตน อารมณ์ที่เป็นของบิดา เป็นถิ่นฐาน ดินแดน เป็นบ้านที่แท้จริง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าใครถึงก่อนก็จบก่อน ถึงบ้านก็พักผ่อนได้ เราออกจากบ้านมานานแล้ว แล้วหลงทาง กลับบ้านไม่ได้ ไม่รู้ทางกลับ ติดอยู่ข้างนอก ติดอยู่ทางฝ่ายมาร จิตออกไปข้างนอกไปตามรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หลงอยู่กับโลก ติดอยู่กับโลก ถูกพญามารฆ่าทิ้ง คือการให้ไปเกิดนั่นแหละ เกิดแล้วตาย เกิดแล้วตาย อยู่อย่างนี้ ไม่ตายจริง เมื่อใดกลับถึงบ้านก็สบายแล้ว ได้พักผ่อน ดับสนิทอย่างแท้จริง
การเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ มันไม่ได้พักผ่อน กายก็ไม่ได้พัก ต้องขยับไปขยับมา แก้ทุกข์ ก็เคล็ดขัดยอก ต้องมาทำงาน หาเลี้ยงชีพ เริ่มตั้งแต่เด็กแล้ว เรียนหนังสือ เรียนชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม เรียนมหาวิทยาลัย ต้องไปเรียนด้วยความยากลำบาก บางคนตอนนี้แก่แล้ว ใกล้จะเรียนหนังสือใหม่อีกแล้ว เกิดใหม่ก็ต้องเรียนใหม่ เรียนหนังสือเหนื่อยไหม เหนื่อยนะ บางคนแก่ใกล้จะตายแล้ว ตายก็เกิดใหม่ เกิดใหม่ก็เรียนหนังสือใหม่อีกรอบหนึ่ง เรียนโรงเรียนคนก็ยังดีหน่อย บางคนตกไปลำบากกว่านั้น เรียนโรงเรียนควาย ก็ต้องไปเรียนกินหญ้าใหม่ เรียนไถนา ถูกเขาตีเอา ไถนาไม่ได้ เขาก็ฆ่าทิ้ง เป็นอาหารไป มีเท่านั้นแหละวนเวียนไปเรื่อย
อย่างนี้คือออกไปจากบ้าน เลยได้รับความลำบาก ออกไปตามรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งเป็นอารมณ์ของฝ่ายมาร มารคือผู้ฆ่า ฆ่าทิ้งจากคุณความดี ฆ่าจากสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์ตน คือ มรรค ผล นิพพาน ได้รูป ได้นาม ได้เกิดมาเรื่อยๆ ฝ่ายมารฆ่าทิ้งโดยทำให้เกิด เกิดแล้วให้ตาย สิ่งที่เป็นเหยื่อล่อของมากคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารัก น่าพอใจ ไปเพลิดเพลินยินดีเป็นไง ถูกฆ่าตายตลอด หากไม่อยู่กับตัวเองให้ดีๆ ขาดสติปัญญา มองไม่ออก
เหมือนเราไปเจอเด็กคนหนึ่ง เด็กน่ารัก น่าอุ้มมั้ย เด็กน่ารัก เขาว่าอย่างนี้ แบบนี้โง่หรือยัง โง่แล้ว เห็นว่าเป็นทุกข์ จึงถูกต้อง เป็นเด็กนี่ทุกข์มาก มีทุกข์อีกเยอะ กว่าจะโตได้ กว่าจะกินข้าวได้ กว่าจะเข้าห้องน้ำได้เป็น มีเรื่องลำบากอีกมาก อายุ ๕ – ๖ ขวบต้องไปเรียนอนุบาล เหนื่อยไหม ๗ ขวบก็ต้องไปเรียนประถม มัธยม มหาวิทยาลัย เรียนหนังสือกว่าจะจบ ไปทำงาน หามรุ่งหามค่ำ มีครอบครัว มีลูก แก่ แล้วตาย มองแล้วเห็นทุกข์์มากมาย ส่วนพวกหลงๆ เป็นไง เจออารมณ์พญามารเข้าไป แหม..น่าอุ้มเหลือเกิน กอดหน่อย บางคนเห็นหมาเดินมา ตัวเล็กๆ น่ารัก บางคนว่าน่ารักเหลือเกิน นี้ก็โง่หลายชั้นแล้ว ขนาดเป็นหมายังน่ารัก ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว อารมณ์พญามาร ท่านเคยเจอกันไหม เจออยู่ทุกวันกันทีเดียว แต่มองไม่ออกเพราะไม่ได้มาอยู่กับตัวเอง ไม่ได้อยู่บ้าน อารมณ์ฝ่ายพญามารทำให้หลงรัก รูปที่น่ารัก น่าพอใจ ชวนให้กำหนัด ทำให้ติดข้อง ติดอกติดใจ ติดเบ็ดที่มารล่อไว้ ขนาดสัตว์อบาย ทุกข์มากขนาดนั้นยังน่ารักเลย มารหลอกได้ขนาดนี้ อย่างนี้ตายเลย คำสอนของพระพุทธเจ้า เทวดาและพรหมเป็นทุกข์ พวกเรานี่หมายังน่ารักเลย คิดดู ลำบากขนาดนี้

๓.๔.๕ หมวดอริยสัจ
ต่อไป ธัมมานุปัสสนาหมวดสุดท้าย หมวดอริยสัจ ธัมมานุปัสสนามี ๕ หมวด ได้แก่ หมวดนิวรณ์ หมวดขันธ์ หมวยอายตนะ หมวดโพชฌงค์ และหมวดอริยสัจ หมวดอริยสัจนี้อยู่สุดท้าย ถ้าคนมีปัญญามาก พระพุทธเจ้าก็ทรงประกาศหมวดนี้เลย คนมีปัญญาเยอะ มีบุญบารมีมาก มีอินทรีย์แก่กล้า เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญู ทรงมองดู ทรงประกาศอริยสัจ คนนั้นก็ได้บรรลุธรรมในที่นั่งนั้นนั่นแหละ บางคนอาจคิดว่า แค่ฟังแล้วบรรลุเลยเหรอ มองทะลุเลยเหรอ อาจจะสงสัย ถ้ารู้จักอริยสัจโดยถูกต้อง อริยสัจนี่เป็นความจริงที่อยู่ตรงหน้า มีอยู่แล้ว เป็นความจริงที่เกี่ยวกับตัวเอง ถ้ามีดวงตา มองดูรู้จักแล้ว ก็ไม่สงสัยอะไรอีกต่อไป
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เกิดเพราะความรัก เราแบกความจริงนี้มานานนักหนาแล้ว เป็นความจริงตั้งแต่เด็กจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ นั่งอยู่ตอนนี้ก็เป็นความจริงอย่างนี้ไม่เปลี่ยน เป็นทุกข์นั่นแหละ ไม่ได้มีตัวตนอะไร ถ้าจิตพร้อม มีปัญญา มองก็ทะลุ เข้าใจเลย พระพุทธองค์ตรัสบอก โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับโลกก็ดี หนทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลกก็ดี อยู่ในกายยาววาหนาคืบ ที่มีใจครองและมีสัญญา มีความกำหนดเครื่องหมายได้นี้แหละ ถ้าร่างกายไม่ไหวแล้ว สัญญาไปแล้ว ไม่รู้อะไรดีอะไรชั่วแล้ว อย่างนี้ช่วยไม่ได้ มองไม่ได้ พวกเราพอรู้จักไหม อะไรดี อะไรชั่ว คงพอรู้จัก ยังมีสัญญาดีอยู่ ถ้าจิตมีความพร้อม มีปัญญา ก็เห็นอริยสัจได้
ในข้อ ๓๘๖ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์”
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกขสมุทัย”
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกขนิโรธ”
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

นี้เป็นหัวข้อ การพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อริยสัจ ๔ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ตัวนี้นะ ตัวที่นั่งอยู่นี้ ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่ใช่ตัวดี ไม่ใช่ตัวสุขอะไร กายกับใจที่ได้มาเพราะความยึดมั่นถือมั่นเก่าๆ มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ยึดว่ามีตัว รักตัว ทำกรรมเพื่อตัว ก็ได้ขันธ์ ๕ มาเป็นผล เป็นสิ่งที่ประชุมกันเกิดขึ้นจากเหตุ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ รู้ชัดตามความเป็นจริง ความจริงมันเป็นทุกข์ ก็ให้รู้ว่ามันทุกข์เท่านี้แหละ อริยสัจนี้เป็นความจริงของตัวเราเอง เราเห็นว่าเป็นตัวตน เป็นตัวเรา เป็นของเรา เห็นว่ามันเป็นแท่งเป็นก้อน ความจริงคือไม่มีตัว เป็นเพียงรูปธรรมและนามธรรมมาประชุมรวมกัน
ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ เหตุให้เกิดนามกับรูป เหตุให้เกิดตัวเราที่มานั่งอยู่นี่ อะไรเป็นเหตุให้เกิดตัวเราที่มานั่งๆ อยู่นี่ ความเพลิดเพลินยินดีในตัวเอง รักตัวกลัวตาย เนื่องมีอวิชชา ไม่รู้ตามที่เป็นจริง รู้ผิด แเห็นผิด ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าตัวเอง ไม่รู้จักตัวเองดี นึกว่ามีตัวเอง ก็เลยรักตัวเอง รักสิ่งที่ไม่มีจริง แต่ความรักนั่นมีจริง เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เหมือนกับเงาไม่มีจริง แต่ความรักเงานั้นมีจริง และเป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยากลำบากมากมาย นี่ก็มีต้นเหตุมาจากความไม่รู้ เหตุให้เกิดทุกข์ หลักใหญ่ก็มี ๒ ตัว คือ อวิชชา กับ ตัณหา อวิชชา คือ ความไม่รู้อริยสัจ อีกอย่างหนึ่งเป็นตัวที่อยู่หน้าฉาก วิ่งทำนั่นทำนี่ตามความไม่รู้ คือ ตัณหา ความเพลิดเพลิน พวกเรารักตัวเองไหม รักตัวเองก็ได้ตัวเองอีก รักตัวกลัวตายก็ได้เกิดใหม่ไปเรื่อย ความรักทำให้เกิด ตัวความอยากได้ ความต้องการ ความเพลิดเพลินยินดี นี้เป็นทุกขสมุทัย เป็นเหตุให้รูปนามเกิดขึ้น ที่สมมติเรียกว่าสัตว์เกิด คนเกิด แท้ที่จริงเป็นทุกข์
เหตุให้เกิด ได้มาเป็นคน ไม่ใช่เก่งจึงได้มา ไม่ใช่รู้จึงได้มา เพราะไม่รู้จึงได้มา เหมือนกับเราได้ตำแหน่ง ได้นั่นได้นี่ ได้หน้าได้ตา ไม่ใช่เราเก่งจึงได้มา เราไม่เก่งจึงได้มา ความจริง เราน่าจะเก่ง จึงได้มา ไม่ใช่อย่างนั้น เราได้สามีมาคนหนึ่ง ถ้ารู้จักเขาดีพอ จะไม่ได้เขามา ไม่รู้จักเขาดีพอ อยากได้ เลยหามา กายกับใจนี้ก็ทำนองเดียวกัน ถ้ารู้จักมันดีพอ ก็จะไม่ได้มันมา ไม่เอามันแล้ว ทิ้งไปแล้ว เราเกิดมาในโลก ทำไมได้มาเกิดในโลกนี้ ไม่ใช่เก่ง ถ้าเก่งจริงไม่ได้มาเกิดแล้ว ถ้ารู้จักโลกดีพอ รู้แจ้งโลกแล้ว เป็นโลกวิทู ก็ไม่มาเกิดแล้ว นี้พูดแบบอริยสัจ ท่านก็อย่าไปคิดมาก เดี๋ยวจะเพี้ยนเอา ต้องฝึกให้มีดวงตา แล้วมองทะลุ บางคนฟังแล้วอาจจะเข้าใจอยู่ แต่ยังทำไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ฟังที่ถูกต้องไว้ก่อน ธรรมะเป็นอย่างไร เวลาเรียนนี่เราเรียนเกินพระอรหันต์แล้ว ส่วนตัวเองนี่ หันรีหันขวางอยู่เลย กิเลสยังเพียบอยู่ ธรรมะเป็นอย่างนั้นก็ต้องพูดให้ถูกต้องตามหลักธรรมไว้ จะได้เอาไว้เตือนตัวเอง ถ้าให้ดียิ่งกว่านั้น ต้องฝึกให้มีปัญญาเห็น
กายกับใจนี้เป็นทุกข์ โลกนี้เป็นทุกข์ ถูกไฟเผา พวกเราทุกคนก็ถูกเผา เป็นทุกข์ แต่อาจมองไม่เห็นก็ได้ ไม่เห็นทุกข์ก็ไม่ใช่ว่าไม่ทุกข์ มันก็ทุกข์เหมือนเดิม เพียงแต่เราไม่มีตาดู ไฟ ๑๑ กองเผาอยู่ ไฟ คือ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส และกิเลสราะ โทสะ โมหะ ไฟนี้เผาอยู่เสมอ นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรก็แก่นะ มันถูกเผา เพียงแต่เราไม่รู้สึกตัวเท่านั้น ถ้ารู้สึกตัว ก็เห็น โห.. เผากันซึ่งๆ หน้าอย่างนี้เลยเหรอ ถ้าไม่มีกายไม่มีใจ ก็ไม่ต้องแก่ ความแก่ไม่มีที่ลงแล้ว ต้องเห็น ได้ยินอยู่นี่ เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ทำไมวิบากมันมีที่ลง เราได้กายได้ใจมา ก็มีที่ให้วิบากเกิดขึ้น ต้องรับผลแห่งกรรมที่ทำมา ต้องมาดูของสวยๆ นี่ทรมานตาเหมือนกัน เหนื่อยนะ ไม่ได้พักผ่อนเลย มันลำบาก มีแต่เรื่องทุกข์
เหตุให้เกิดทุกข์ เหตุที่ทำให้ได้รูปและนาม กายและใจ รวมทั้งสิ่งต่างๆ มา คืออะไร ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ แบบย่อๆ ก็มี อวิชชา กับ ตัณหา ปกติจะแสดงตัณหา เพราะเป็นตัวหน้าฉาก ทำให้มองเห็นภาพชัดว่า ความรัก ความอยาก ความเพลิดเพลินยินดี รักตัวกลัวตาย รักตัวเอง รักสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพลิดเพลินสนุกสนาน อยากได้นั่นได้นี่ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ อยากไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราคิดว่าเพลิดเพลินสนุกสนานเป็นเหตุให้เกิดสุข แท้ที่จริงมันกลับข้างอยู่ ความเพลิดเพลินเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะไม่รู้จักจึงเพลิดเพลินได้ ถ้ารู้จักก็เพลิดเพลินไม่ได้ โลกนี้ เราสนุกกับมันได้เพราะไม่รู้จักมัน ถ้ารู้จักมันแล้วก็สนุกไม่ได้ สนุกไม่ลงแล้ว
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยง คงอยู่ไม่นานมันก็ให้ความพอใจไม่ได้จริง ความสุข ความสบายใจ อยู่กับเราไม่นาน ความสบายใจ เที่ยงไหม มันไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็หาความสุขจากมันไม่ได้จริง เรามีลูก ลูกเที่ยงไหม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นสุข เป็นทุกข์
หลักที่พระพุทธเจ้าให้พิจารณา สิ่งนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข เป็นทุกข์ อันนี้เราคงท่องได้ ไปท่องบ่อยๆ ไว้นะ สิ่งที่ไม่เที่ยงนี่ไม่อาจทำความพอใจแก่เราได้ตลอดไป เรามีตำแหน่ง ให้ความเบิกบานใจแก่เราได้จริงไหม ลองพิจารณาดู ถามกลับไปว่า ตำแหน่งเที่ยงหรือไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงก็ไม่น่าจะให้ความพอใจได้ เราเพลิดเพลินกับความมีชีวิต สนุกสนานอยู่ พอใจการมีชีวิต ลองถามกลับไปว่า ชีวิตนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง ชีวิตอยู่ไม่นาน แป๊ปเดียวเอง ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงแล้วมันจะให้ความพอใจ ให้ความสุขกับเราได้จริงๆ หรือเปล่า ไม่ได้ อย่างนี้คือรู้จักว่านี้ทุกข์ รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์
ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ความดับสนิทของรูปนาม คือนิพพาน หากดับยังไม่สิ้นเชิง ก็ดับเป็นชั้นๆ ไป สำรอกอวิชชา สำรอกตัณหา ชีวิตของเรานี้ มีเหตุปัจจัยมันก็เกิดตายไปเรื่อยๆ ถ้าจะให้ดับ ก็ต้องเอาเหตุปัจจัยออกไป อุปมาเหมือนตะเกียงมันลุกพรึบๆ อยู่ ไฟติดต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เพราะมีไส้กับน้ำมัน ไฟตะเกียงลุกได้เพราะไส้กับน้ำมัน เวลาเรามองไฟตะเกียง ก็เหมือนไฟอันเดิม แต่ไม่ใช่อันเดิม พวกเราที่นั่งๆ อยู่นี่ คนเดิมไหม หรือเป็นคนใหม่ เหมือนไฟตะเกียง เหมือนเป็นอันเดิมแต่ไม่ใช่อันเดิม แต่ก็เป็นอันเดิม เอ..หรือว่าเป็นอันใหม่ ใหม่ก็มาจากเก่านั่นแหละ อย่าไปสงสัยมาก ไฟตะเกียงมันลุกพรึบๆ ไปตามเรื่องของมัน ไม่หยุด เพราะมีเชื้อคือไส้กับน้ำมัน มันก็ไม่มีวันดับ
เมื่อใดที่ไส้หมด น้ำมันหมด ไม่มีการเติมแล้ว ไฟตะเกียงก็ดับลง ไฟไปไหน ไฟก็ไม่ได้ไปไหน เพราะไม่เกิด จึงไม่ไป ไม่มีมาไม่มีไป ถ้ามามันก็ไป ถ้าเกิดมันก็ดับ แต่นี่ไม่เกิดมันก็เลยไม่ดับ ไส้ตะเกียงก็คืออวิชชา น้ำมันที่เติมตะเกียงคือตัณหา เป็นแบบนี้จึงได้ขันธ์ นั่งอยู่นี่เป็นไฟลุกพรึบๆ ตลอดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถอนเอาอวิชชาตัณหาออกไปหมด ผู้ที่เอาออกหมดก็เป็นพระอรหันต์ ยังเหลือขันธ์อยู่บ้างนิดหน่อย เป็นวิบากขันธ์ที่มาจากของเดิม คล้ายกับแรงเฉื่อยยังอยู่ ไส้ก็หมดแล้ว น้ำมันมันหมดแล้ว แต่ตะเกียงยังมีอยู่หน่อย เป็นวิบากขันธ์ หมดก็ดับขันธปรินิพพานไป เป็นอันจบเรื่อง จบลงที่อนุปาทาปรินิพพาน
ต่อไป ข้อปฏิบัติ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ นี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นตัวข้อปฏิบัติ เมื่อทำให้มีขึ้นแล้ว จะเกิดวิชชา ทำให้อวิชชาหมดไปได้ เอาไส้ตะเกียงออกได้ เอาตัณหาออกไปได้ ไม่เติมน้ำมัน ผู้ปฏิบัติต้องรู้จักให้ดีๆ และต้องรู้หน้าที่ที่ควรทำต่ออริยสัจแต่ละอย่าง ทำให้ดีๆ ทำให้ถูกต้อง ต้องทำอริยมรรคให้มีขึ้น ทำให้เกิดขึ้น เกิดมีขึ้นแล้ว ทำให้อวิชชาหมด ทำให้ตัณหาหมด พวกเราอยากสิ้นอวิชชา อยากสิ้นตัณหาแต่ไม่ยอมทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้เกิด จะได้ผลไหม ไม่ได้ผล
เหมือนพวกเราบอกว่า แหม..มันทุกข์ ทุกข์เพราะมีกิเสส ไม่อยากจะทุกข์ ต้องไม่มีกิเลส ถูกไหม เหมือนจะถูก แต่ไม่ถูก เป็นทุกข์เพราะกิเลสถูกไหม ถูก จะไม่เป็นทุกข์ จะถึงความไม่มีทุกข์ ต้องไม่มีกิเลส ถูกไหม ไม่ถูก ต้องทำให้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น พออริยมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น นี้เป็นทางให้ให้ถึงความหมดกิเลส
อย่างเราบอกว่า ไปโกรธเขามันไม่ดี เธอเป็นทุกข์ ฉะนั้น เธออย่าไปโกรธเขา จะได้ไม่เป็นทุกข์ ถูกไหม เหมือนจะถูกแต่ไม่ถูก เป็นทุกข์เพราะโกรธเขา ต้องฝึกให้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น จะได้เข้าถึงความสิ้นโกรธ ต้องเข้าใจดีๆ เหมือนพวกเราชอบพูดว่า อย่าไปโลภ โลภแล้วมันทุกข์ ดังนั้น อย่าไปโลภ ก็พูดได้ แต่ก็ยังโลภอยู่ตลอดปีตลอดชาติ นี้เพราะไม่รู้จักอริยสัจ ไม่รู้หลักการอย่างครบถ้วน และไม่รู้จักหน้าที่ต่ออริยสัจแต่ละอย่างๆ
ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ความอยากได้ ความต้องการ เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ความสิ้นความอยาก ความสิ้นทุกข์ อันนี้ไม่มีทุกข์ใดๆ เป็นนิพพาน ต้องฝึกให้มีอริยมรรคเกิดขึ้น อริยมรรคนี้ทำให้ถึงความสิ้นตัณหา ถึงความสิ้นทุกข์ เป็นแต่เรื่องสัจจะ เป็นแต่เรื่องธรรมะล้วนๆ มีทุกข์ ไม่มีเราในทุกข์ มีเหตุเกิดทุกข์ ไม่มีเราในเหตุเกิดทุกข์ มีความดับทุกข์ ไม่มีเราในความดับทุกข์ มีปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ แต่ไม่มีเราผู้เดินทาง ฉะนั้น ถ้าไม่อยากมีทุกข์ ต้องการให้ถึงความสิ้นกิเลส ให้พบกับความสุข ปลอดโปร่ง สบายอย่างแท้จริง บอกง่ายๆ คือ ฝึกให้มีศีล สมาธิ ปัญญา ฝึกให้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เกิด นี้เป็นทางให้ถึงสภาวะที่ต้องการ
วันนี้ พอสมควรแก่เวลาแล้วนะครับ อนุโมทนาทุกท่าน
————————————