สติปัฏฐาน ๔ ตอนที่ ๕

สติปัฏฐาน ๔ ตอนที่ ๕

บรรยายวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๔
ขอนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย
สวัสดีครับท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน
วันนี้ บรรยายหัวข้อ โพธิปักขิยธรรม ตอนที่ ๕ ต่อจากคราวที่แล้ว พูดเรื่องสติปัฏฐาน ในคราวที่แล้ว พูดมาถึงหมวดสุดท้าย คือ หมวดอริยสัจ ซึ่งเป็นความรู้สูงที่สุดในเรื่องของการฝึกปฏิบัติสติปัฏฐาน ถ้าทำได้ถึงขนาดรู้อริยสัจ ก็เรียกว่าใกล้ต่อการตรัสรู้แล้ว
ผู้ได้เห็นอริยสัจ ตรัสรู้อริยสัจ ก็เป็นผู้ที่ได้ตรัสรู้ธรรม ส่วนผู้ยังไม่ตรัสรู้ก็เห็นบางส่วน บางแง่ บางมุม ยังไม่ครบถ้วน ยังไม่แจ่มแจ้งในอริยสัจ ผู้ที่บรรลุธรรมนั้นแหละ จึงจะแจ่มแจ้งในอริยสัจ แม้ยังรู้อริยสัจไม่แจ่มแจ้ง ก็เอาธรรมะหมวดนี้มาฝึกสติปัฏฐาน ฝึกให้เกิดสติสัมปชัญญะมากขึ้น ทำให้เกิดปัญญาเพิ่มขึ้นได้ วิธีปฏิบัติก็ให้รู้ในแง่อริยสัจ ๔ ข้อใดข้อหนึ่ง รู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกขสมุทัย รู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกขนิโรธ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
คำว่า รู้ นี้ เป็นการรู้แบบมีสติก็ได้ รู้แบบมีปัญญาก็ได้ ในสติปัฏฐานท่านให้รู้ทั้งสองอย่างรวมกัน มีสติและปัญญาประกอบกัน รู้ทุกข์ ทุกข์มีอะไรบ้าง มีพระพุทธพจน์ขยายความในข้อ ๓๘๗ ว่า
ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
นี้คือทุกข์ในแบบอริยสัจ เป็นสิ่งที่เป็นของว่างเปล่าจากตัวตน เป็นของไร้แก่นสาร เป็นตัวภาระที่ต้องบริหารไป ความเกิดก็เป็นทุกข์ ทุกข์เกิด ความแก่ก็เป็นทุกข์ ทุกข์แก่ ความตายก็เป็นทุกข์ ทุกข์มันตาย และอื่นๆ อีกมากมายก็เป็นเรื่องตัวทุกข์ทั้งหมด เป็นรูปนาม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่สัตว์เกิด ไม่ใช่คนเกิด ไม่ใช่ผู้หญิงเกิด ไม่ใช่ผู้ชายเกิด แต่เป็นทุกข์มันเกิด เป็นรูปนามที่มาประชุมกัน ปรากฏขึ้นมา เกิด แก่ ตาย นี้เป็นทุกข์ที่มีอยู่ในทุกๆ ภพชาติ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เราก็ดี สัตว์อบายก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เกิดแล้วก็แก่เหมือนกัน สักหน่อยก็ตายเหมือนกัน ไม่ได้ต่างกันในแง่เกิด แก่ ตาย ส่วนอายุมาก อายุน้อย ทุกข์มาก ทุกข์น้อย นี้ก็แล้วแต่ภพภูมิ ทุกภพชาติต้องมีด้วยกันทั้งนั้น
ส่วนทุกข์บางอย่าง เช่น ทุกข์ทางกาย เกิดจากกรรมเก่าของสัตว์ต่างๆ ถ้าภพภูมิที่เกิดจากกรรมไม่ดีแรงๆ เช่น นรก อย่างนี้ ทุกข์ทางกายก็เยอะมาก โดนทิ่มแทง โดนทรมาน โดนไฟเผา ลงโทษอะไรต่างๆ ทุกข์แทบไม่มีเวลาหยุดเลย สัตว์อบายอื่นๆ ก็น้อยลงมาหน่อย มนุษย์เราก็มีบ้างเหมือนกัน ทุกข์กาย มีความเจ็บปวดตามที่ต่างๆ บางคนเป็นโรคเนื่องจากเศษกรรม ทุกข์จากวิบากต่างๆ เทวดาก็น้อยหน่อย ส่วนพรหมก็ไม่มีทุกข์ทางกาย
ทุกข์ที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นและกิเลส เช่น โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส แต่ละคนก็มีมากน้อยต่างกัน ถ้าใครยึดมากก็ทุกข์มาก อย่างโสกะ ความเศร้าโศก ทุกท่านคงเห็น คนร้องไห้ก็มีให้เห็นเต็มโลก บางคนร้องไห้มาก บางคนร้องไห้น้อย แล้วแต่ความยึดถือของเขา เกิดมาในโลกก็ต้องพบเจอกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่ไม่น่าพอใจ ต้องพลัดพรากจากสิ่งของหรือบุคคลที่รักที่พอใจ มีความปรารถนาแล้วไม่ได้ดังต้องการ ถ้ายึดถือมากก็ต้องโสกะ ร้องไห้มาก ถ้ายืดถือน้อยก็โสกะน้อย ทำนองนี้ นี้เป็นทุกข์ที่เกิดจากการยึดมั่นถือมั่น
และทุกข์ที่เกิดจากตัณหา ก็ยังมีอีกมาก คนโดยทั่วไปไม่มีความรู้ ดังนั้น เวลาอยากได้ เขาก็ปรารถนาแบบโง่ๆ สังขารต่างๆ ล้วนไม่เที่ยง ไม่อยู่นาน เขาอยากให้อยู่นานๆ เขาก็ทุกข์เพราะไม่ได้สมปรารถนา ชาวโลกก็เป็นอย่างนี้กัน คนที่อยากมากๆ ก็ทุกข์มาก คนที่ไม่ค่อยอยากมากนัก รู้จักพอดี ก็ทุกข์น้อยหน่อย ส่วนคนที่ไม่เป็นทุกข์เลยนี้ไม่มี ทุกคนต้องเป็นทุกข์ไปตามส่วนของตน ทุกข์ที่ต้องมีแน่นอนทุกภพภูมิ คือ เกิด แก่ ตาย ธรรมชาติของรูปนามเป็นอย่างนั้น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส มีมากน้อยแล้วแต่เหตุ บางส่วนเกิดจากกรรมเก่า เป็นผลวิบาก ยิ่งเกิดในภพภูมิไม่ดีก็ยิ่งหนัก อย่างพวกเรานี้เกิดในสุคติภูมิ คงมีบ้างแต่น้อยหน่อย บางส่วนก็เป็นผลพวงจากความยึดมั่นถือมั่นในปัจจุบันเพิ่มเข้าไปอีก ยิ่งเสริม โสกะ ปริเทวะ ให้มันมากขึ้น และยังมีทุกข์ที่มาจากตัณหาอีก อยากได้ ต้องการ คาดหวัง บางคนอยากจะเจอแต่ของที่ดีๆ ไปเจอของไม่ดีเข้า ก็เป็นทุกข์เข้าไปอีก บางคนอยากอยู่กับคนนี้นานๆ สักหน่อยเขาทิ้งไปก็ทุกข์ไปอีก ทุกข์อย่างนี้เกิดจากความอยาก เกิดมากน้อย แล้วแต่เหตุ อยากมากก็ทุกข์มาก ยึดมากก็ทุกข์มาก ปรารถนาหลายๆ เรื่องก็ยิ่งทุกข์
อยากได้ก็ทุกข์ไปชั้นหนึ่งแล้ว ตอนแสวงหาก็ทุกข์อีกชั้นหนึ่ง ไปต่อสู้กับคนอื่นเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาก็ทุกข์อีกอย่างหนึ่งแล้ว ได้มาก็ต้องดูแลให้มันอยู่กับเราได้นานๆ ก็ทุกข์อีกอย่างหนึ่ง และพอถึงเวลามันจะจากเราไปหรือเราจะจากมันไปก็ทุกข์อีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม ถ้ามองดูอย่างนี้ก็จะเห็นว่าทุกข์นี้ท่วมโลกไปหมด เหยียบลงที่ไหนมันก็ทุกข์ไปหมด จนกระทั่งมานั่งลงอยู่ที่นี้ก็ทุกข์เหมือนกัน อุตส่าห์มีแอร์ ทุกข์เพราะแอร์เย็นเกินไปอย่างนี้ก็มี ที่ไม่ทุกข์เลยนี่มันไม่มี แอร์เย็นเกินไปก็ต้องหาเสื้อมาใส่เพิ่ม ใส่ไปใส่มามันก็ร้อน ก็ถอดเสื้ออีกแล้ว กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ สักหน่อยก็หิว กระหาย อะไรต่างๆ นี้ นั่งอยู่ดีๆ ไม่ได้ทำอะไร แค่นั่งเฉยๆ มันก็แก่ นั่งไปนั่งมาก็แก่แล้ว บางคนก็ผมขาวขึ้นทุกวัน นั่งผ่านไปชั่วโมงหนึ่ง ผมก็ขาวเพิ่มขึ้นอีกแล้ว แก่เพิ่มขึ้น นั่งเฉยๆ ยังไม่ได้คิดทำอะไร ก็ใกล้ตายแล้ว
ลองคิดดูว่า เกิดมาตรงไหนแล้วมันไม่ทุกข์บ้าง ไม่มี ไปนั่งอยู่ตรงไหน ไปยืนอยู่ตรงไหน แล้วมันไม่ทุกข์ ไม่มี ไปยืนอยู่ตรงไหนแล้วทำให้ไม่แก่ มีไหม ไม่มีหรอก มันเป็นอย่างนี้ เป็นทุกข์ขนาดนี้ ถ้าใครมีสติสัมปชัญญะ ไม่เลยเถิดไป ก็จะมองเห็นความจริงเหล่านี้ได้
พวกเราส่วนใหญ่ขาดสติ รูปนามก็รวมกันเป็นตัวเป็นตน เราเป็นสุข เป็นของดี ถ้ามีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มองดู ก็จะเห็นว่า โอ.. นี่มันทุกข์จริงๆ เป็นปัญหา เป็นภาระหนักจริงๆ ต้องหาข้าวมากินอีกแล้วหรือนี่ ต้องหาเสื้อมาห่มอีกแล้วหรือนี่ ต้องเข้าห้องน้ำ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะอีกแล้วหรือ ไม่มีสิ้นสุดกันล่ะ ต้องทำไปอย่างนี้ ทุกวันๆ เป็นข้าทาสรับใช้ไป บ่นไปก็เท่านั้น บ่นไปก็ทำไป เบื่อไปก็ทำไป ทุกข์เหลือเกิน ต้องจัดการอีกแล้วหรือ มีสติปัญญา มองดูมันเห็นภาระ เห็นทุกข์ ถ้าขาดสติ ก็มองเห็นทุกข์เป็นตัวเรา เป็นของเรา จนเลยเถิดออกไปข้างนอก ไปเอาเสื้อมา แหม..เสื้อสวยเหลือเกิน ตราจระเข้ห่มแล้วดูดี อย่างนี้มันเป็นบ้าไป มันโง่
สิ่งที่เป็นทุกข์ต่างๆ เหล่านี้ เอามาเจริญสติปัฏฐานได้ เป็นอารมณ์ทำให้สติปัญญาเจริญขึ้น แต่ต้องมีสติสัมปชัญญะดี ถ้าสติสัมปชัญญะยังน้อยอยู่ ไปทำหมวดอื่นๆ มาก่อน หมวดนี้ค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่พวกเราก็เลยเถิดไปหมด กินอาหารก็อร่อยอย่างเดียว แทนที่จะเห็นทุกข์ เห็นภาระที่ต้องมาทนกิน ทำให้หายปวดท้อง ก็เห็นแต่อร่อย เห็นเนื้อเป็ด เติมโน้นเติมนี่ เพื่อให้มันอร่อยขึ้น จะได้กินได้เยอะๆ จะได้ถูกปาก ว่าไปโน่นอีก ไม่รู้จักตัวเองว่ามันทุกข์ ต้องมาเติมให้มันอร่อย นี่มันเหนื่อย มันทรมาน จะกินข้าวแต่ละทีก็ลำบาก กินแล้วก็แก่ ไม่ได้กินให้มันดูดี เป็นหนุ่มเป็นสาวอะไร กินให้มันแก่ ถ้าไม่กิน มันไม่ได้แก่ มันตายเลย ท่านทั้งหลายมองเห็นกันบ้างไหม ถ้ามองไม่เห็นก็ต้องย้อนกลับไปฝึกข้ออื่นๆ มาก่อน ที่มองไม่เห็น ไม่ใช่มันไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นแหละ รูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ จะรู้หรือจะไม่รู้ จะเห็นหรือจะไม่เห็น มันก็เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น ไม่มีทางเปลี่ยนเป็นสุข ที่เรามองไม่เห็น ก็เพราะตาบอดอยู่ เราโง่อยู่
ทุกข์นั้นเป็นธรรมะ เป็นธรรมะฝ่ายสังขาร ไม่ได้มีอยู่ก่อน มีเมื่อเกิดขึ้น เกิดเพราะเหตุ เมื่อเหตุหมดไป ตัวมันก็ดับไป เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทุกขสมุทัยคือตัณหา พระพุทธองค์ตรัสในข้อ ๔๐๐ ว่า
ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหานี้ เป็นเหตุเกิดขึ้นในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เป็นเหตุเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
ก็ตัณหานี้แหละเมื่อเกิดขึ้น เกิดที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ปิยรูปสาตรูปนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ปิยรูปสาตรูปนี้

ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา ความอยากได้ ความต้องการ ความเพลิดเพลินยินดี พวกเราโดยทั่วไปรักตัวเอง พากันหาความสุข เพลิดเพลินยินดี จะเอานั่นจะเอานี่ นึกว่าเป็นเหตุให้เกิดสุข แต่ความจริง ความเพลิดเพลินเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อยากกินอันนี้ ได้กินสมอยาก อร่อยจริงๆ เป็นเหตุให้เกิดสุขใช่ไหม อย่างนี้ขาดสติไป เพลิดเพลินยินดีกับความอร่อยนั้น เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทำให้เกิดอีก ต้องกลับมากินอีกอยู่เรื่อยๆ เพลิดเพลินกับทุกข์ ก็ไม่พ้นทุกข์ ก็ได้ทุกข์มาอีก เหมือนคนเพลิดเพลินในการเกิด ก็ได้เกิดอีก ได้เกิดครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดแล้วก็ตายทุกที เกิดแล้วก็ทุกข์ทุกที แต่ไม่ยอมเข็ด ไม่เห็นโทษ ก็เกิดอยู่อย่างนั้น
อย่างมาทำงานที่บริษัทนี้ เพลิดเพลินสนุกอยู่กับที่นี้ สนุกอยู่กับการหาเงิน ได้เงินมันสนุก ก็ต้องมาเป็นประจำ ตอนเช้าตื่นเช้าก็มา เช้าอีกก็มาอีก เช้าอีกก็มาอีก จนตาย บางทีรักบริษัทมาก ห่วงมาก ตายแล้วก็มาเป็นแมลงอยู่แถวนี้ ลำบากอีกแล้ว กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ เพลิดเพลินในทุกข์มันก็ได้ทุกข์มาแบบเดิมนั่นแหละ คนที่ขาดสติก็เลยเถิดไปว่า ความเพลิดเพลินยินดีเป็นเหตุให้เกิดสุข ถ้าไม่เลยเถิด มีสติปัญญาก็บอกว่า ความเพลิดเพลินยินดีเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ฟังเพลงเพราะๆ สนุกกับมัน โอ..เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทำให้ได้ฟังอีก ต้องมาฟังอยู่อย่างนั้น ตอนเด็กๆ ก็ฟังเพลงเพราะๆ มาแล้วใช่ไหม ตอนโตขึ้นก็ฟังเพลงเพราะๆ ตอนนี้แก่แล้วก็ยังฟังเพลงเพราะๆ ทำไมยังได้ฟังเพลงเพราะๆ อยู่อย่างนั้น เพราะเพลิดเพลิน เพลิดเพลินเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ได้ทุกข์อย่างนั้นมาเรื่อยๆ ชาติต่อไปก็ได้อีก ได้ฟังไปเรื่อยๆ ต้องเห็น ได้ยิน ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และรับรู้เรื่องต่างๆ ไม่ยอมเบื่อหน่าย อย่างนี้เป็นตัณหา เป็นความอยาก ความติดข้อง ความเพลิดเพลินยินดี ไม่เบื่อ ไม่เห็นโทษ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คนขาดสติมองไม่เห็น เขามองว่าเป็นเหตุให้เกิดสุข ความจริงมันกลับข้าง
อริยสัจนี้จึงเห็นได้ยาก ทั้งๆ ที่เป็นความจริงของตัวเอง เป็นความจริงของกายและใจนี้แหละ บอกให้รู้ว่ารูปและนาม อุปาทานขันธ์ ๕ ที่นั่งๆ อยู่นี้ ที่ได้เกิด แก่ ตาย ได้ประสบนั่น ประสบนี่ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นตัวทุกข์ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น และบอกให้รู้ว่า เหตุใดจึงได้กายได้ใจมา ได้ตา หู จมูก ล้ิน กาย ใจ เอามารับรู้อารมณ์ต่างๆ เพราะเพลิดเพลินในทุกข์ เพลิดเพลินในกายในใจ เพลิดเพลินในการเห็น เพลิดเพลินในการได้ยิน เพลิดเพลินในการรับรู้อารมณ์ จึงต้องวนเวียน ได้รูปได้นาม ได้ตาเอาไว้เห็น ได้หูเอาไว้ฟัง ซ้ำๆ ซากๆ อยู่เหมือนเดิม
ความเพลิดเพลินทำให้ไม่เบื่อทุกข์ ยินดีแบกทุกข์ รักทุกข์ ทั้งๆ ที่ทุกข์ ก็สนุกทุกข์ แต่งหน้า ก็เพลินว่าแต่งให้มันสวย วันต่อมา ก็ได้แต่งอีก แต่งให้มันสวย วันต่อมา ก็แต่งอีก แต่งให้มันสวย เพลินกับการแต่งหน้า แต่งให้มันเป็นอย่างนี้ๆ ตื่นเช้ามาก็แต่งตัวให้ดูดี เช้าวันใหม่ก็แต่งตัวให้ดูดี ทุกวันก็เป็นอย่างนี้ ตกลงดูดีหรือยัง ใครดูไม่ดีไม่รู้ เราดูตัวเองดีไว้ก่อน ก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่เบื่อ ไม่ทิ้ง
ให้มีสติปัญญา มองดู เมื่อใดเพลิดเพลิน สนุกสนาน รู้สึกลืมแก่ ลืมเจ็บ ลืมตาย ให้รู้ว่า นั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เวลาเพลิดเพลิน จะเอานั่นจะเอานี่ มันทำให้ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง เราดูหนังเพลินๆ หมายความว่า ดูหนังแล้วลืมแก่ ลืมเจ็บ ลืมตาย ลืมทุกเรื่อง ลืมชีวิต ลืมหลักความจริงไปหมด นี้คือเหตุให้เกิดทุกข์ คุยกับคนนี้แล้วเพลิดเพลิน อยู่ด้วยแล้วดีเหลือเกิน ไม่อยากให้เป็นอย่างอื่น อยากให้คงอยู่อย่างนี้ตลอดไป ปลอดภัยดี นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มาฟังธรรมแล้วเพลินเหลือเกินเป็นไง เป็นเหตุให้เกิดทุกข์อีกเหมือนกัน ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจความจริง ให้รู้ทุกข์ ให้รู้จักเบื่อหน่าย ไม่ใช่ฟังให้เพลิน ตาลอย น้ำลายยืดอยู่อย่างนั้น ฟังให้รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์
ตัณหานั้นแจกแจงออกมาเป็น ๓ อย่าง ได้แก่ กามตัณหา ความติดใจในกาม ติดใจ อยากได้ ต้องการ เพลิดเพลิน ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในสิ่งต่างๆ ทางโลก มองไม่เห็นโทษ แสวงหาอันที่ยังไม่ได้ ได้มาแล้วก็ขวนขวายหาวิธีรักษา ให้มันอยู่กับเรา ทำความสุขให้แก่เรา ภวตัณหา ความติดใจในความมีอย่างนั้น ความเป็นอย่างนี้ เป็นคนดี เป็นคนถูก อยากให้คงอยู่อย่างนั้นตลอดไป ติดใจในความสุข ติดใจในความสงบ ติดใจในสมาธิระดับต่างๆ อยากให้มันเป็นอย่างนั้นตลอดไป มีอย่างนั้นแล้วเพลิน เป็นอย่างนั้นแล้วเพลิน วิภวตัณหา ความติดใจในความไม่มี เพลินในความไม่มี ไม่มีหน้าคนนั้นโผล่มา ไม่มีเรื่อง ไม่มีอะไรให้รำคาญ ก็เพลิน ไม่ป่วยเป็นโรค ร่างกายแข็งแรงดี เพลินที่มันไม่ป่วย หลงลืมความจริงว่า ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย หาวิธีที่จะไม่ให้มีอย่างนั้นตามที่อยาก
ตัณหานี้ก็ไม่ได้มาลอยๆ มีเหตุปัจจัย มีอารมณ์ มีที่ตั้งของมัน มันเกิดอยู่เรื่อยๆ ในที่ไหนบ้าง พระพุทธองค์ทรงขยายความว่า
ก็ตัณหานี้แหละเมื่อเกิดขึ้น เกิดที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ปิยรูปสาตรูปนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ปิยรูปสาตรูปนี้

อะไรเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก พระองค์ทรงแสดงธรรมะ ๑๐ หมวดๆ ละ ๖ รวมเป็นปิยรูป สาตรูป ๖๐ อย่าง คือ
(๑) จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน
(๒) รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์
(๓) จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ
(๔) จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส
(๕) เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัส เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัส
(๖) รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา
(๗) รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา
(๘) รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
(๙) รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก
(๑๐) รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร

ตัณหานี้ก็เกิดอยู่แถวๆ นี้แหละ หากินอยู่แถวๆ นี้ เพลินอยู่ในรูป เพลินอยู่ในนามนี้แหละ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ท่านทั้งหลายไปสังเกตดู ฝึกให้มีสติปัญญาเพื่อให้รู้จัก ให้รู้จักตัวมันก่อน
ต่อไป ทุกขนิโรธ ข้อ ๔๐๑ พระพุทธองค์ตรัสว่า
ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ความดับกิเลสไม่เหลือด้วยวิราคะ ความปล่อยวาง ความสละคืน ความพ้น ความไม่ติด
ก็ตัณหานี้เมื่อละ ละที่ไหน เมื่อดับ ดับที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ปิยรูปสาตรูปนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ปิยรูปสาตรูปนี้

นี้เป็นทุกขนิโรธะ เป็นความดับสนิทของทุกข์ ความไม่มีทุกข์ ความดับโดยการสำรอกให้หมดไม่เหลือซึ่งตัณหานั้นนั่นแหละ ทำตัณหาให้หมดไป ความอยากได้ มันหมดไปในที่ไหน ก็หมดไปในของที่เคยรักนั่นแหละ เบื่อหน่ายของที่เคยรัก เดิมกินอาหาอร่อยแล้ว มันเพลิน ต่อมากินแล้ว ไม่เพลิน เบื่อหน่าย ต้องกินอีกแล้วหรือนี่ เป็นทุกข์ ต้องอร่อยอีกแล้วหรือนี่ ทุกข์เหลือเกิน ไม่เพลิน ไม่รักทุกข์ การกินเป็นเรื่องหน้าที่ที่ต้องดูแลรักษาร่างกาย ทำหน้าที่นี่มันเหนื่อย อะไรที่เป็นหน้าที่ ทำแล้วนี้รู้สึกเหนื่อย อย่างเรามีหน้าที่ ต้องมาทำอย่างโน้นอย่างนี้ สมมติเป็นภรรยา มีหน้าที่ดูแลสามี ตื่นก่อนนอนที่หลัง อย่างนี้เหนื่อยไหม เหนื่อยมาก เป็นลูกน้อง มีหน้าที่ต้องมาคอยแหงนมองเจ้านายว่า เขาจะมาอีท่าไหน ทำเป็นหน้าที่มันเหนื่อย ไม่เพลิดเพลิน ก็ทำหน้าที่ไป รอเวลาหมดหน้าที่ ส่งคืนตัณหาไปแล้ว ทำเรื่องต่างๆ เป็นหน้าที่ แต่งหน้าก็เป็นหน้าที่ต้องแต่ง มันไม่สวยก็ต้องมาแต่ง ทรมานมาก เหนื่อยมาก ไม่เพลิดเพลินยินดี ไม่ได้มาแต่งให้มันสวย แต่ก็มีหน้าที่มาแบกมัน หนีมันไม่ออก เป็นภาระ ไม่ได้ทำด้วยความเพลิดเพลิน ปล่อยทิ้งสังขาร ก็เห็นนิพพาน
ทุกขนิโรธ โดยสภาวะ คือ พระนิพพาน เป็นสภาวะที่สงบเย็น เป็นความดับสนิทของนามรูป ตัณหามันหมด ตัณหามันสิ้น สิ้นความอยาก เราทั้งหลายที่ติดอยู่ทางโลกสังขารนี้ มีแต่เรื่องเพลิดเพลินสนุกสนาน คิดว่า ถ้าไม่มีอะไรให้เพลินแล้วจะอยู่อย่างไร จะกินข้าวได้หรือ ถ้าไม่กินเพื่ออร่อย จะกินได้อย่างร ก็คิดไม่ออก ตัณหามันหลอกอยู่อย่างนั้น เมื่อใดที่หมดตัณหา สำรอกตัณหาโดยไม่เหลือด้วยอริยมรรคที่เกิดขึ้น ไม่อาลัย ไม่เพลิดเพลิน ก็ทำสิ่งนั้นต่างๆ ได้เหมือนกัน แต่ทำไปด้วยสติปัญญา ทำไปตามหน้าที่ตามความเหมาะสม ต้องบริหารไป จะเห็นว่ารูปนาม ขันธ์นี้ เป็นภาระหนัก ต้องดูแลไปด้วยความยากลำบาก ดูแลไม่ให้มันเจ็บป่วย ไม่ให้มันเหยียบหนาม ไม่ให้มันตกท่อ ไม่ให้หมามากัดมัน ขาเรานี่ แค่ดูแลไม่ให้ยุงมากัด ไม่ให้มดมากัดก็เหนื่อยมาก เคยเหนื่อยบ้างไหมนี่ บางคนไม่เคยเหนื่อยเลยอาจารย์ ยังสนุกอยู่ อย่างนี้แสดงว่าโง่มาก ไม่รู้เรื่อง มันยึดถือมาก
เมื่อใดมีสติสัมปชัญญะดีก็มองเห็น แม้ยังไม่ถึงนิพพานอย่างแท้จริง ก็ให้รู้จักปล่อยวางสิ่งต่างๆ พอปล่อยได้ ไม่อาลัยกับมัน ก็จะรู้สึกปลอดโปร่ง เบาสบาย เอามาฝึกสติได้ ฝึกได้แค่ไหนก็ไม่ว่ากัน ให้ทำแบบไม่มีตัณหา ทำตามหน้าที่ ทำตามความเหมาะสม อย่าไปทำรักษาหน้า ทำเพื่อให้ได้หน้า ให้เราหน้าใหญ่ อย่าไปทำอย่างนั้น ทำแบบไม่อาลัยไม่เพลิดเพลิน ทำสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา เมื่อทำแบบนี้ ก็จะเห็นว่า ชีวิตนี้เป็นภาระมาก การงาน ชื่อเสียง อะไรต่างๆ เป็นภาระมาก เมื่อมองเห็น ก็จะค่อยๆ สิ้นตัณหา ฝึกให้มีสติทำให้เกิดปัญญายิ่งๆ ขึ้น จนกระทั่งแจ่มแจ้งในอริยสัจ เห็นนิพพานได้
ทุกขนิโรธอริยสัจ ความสิ้นตัณหา ไม่มีตัณหา ความดับโดยการสำรอกตัณหา ตัณหาถูกละได้ในที่ไหน ถูกละได้ในสิ่งที่เคยรักนั่นแหละ เคยนุ่งห่มเสื้อผ้าเพราะมันดูดี ใส่ให้ตัวเราดูดี อย่างนี้ตัณหา ทำด้วยเพลิดเพลินยินดี ใส่แล้ว เราดูหล่อดูสวย เมื่อมีความรู้ ไม่มีตัณหา มันเป็นภาระหนัก เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ ถ้าไม่หุ่งห่มมันจะตาย มันเป็นปัจจัย เครื่องกันตาย ทำให้ร่างกายอยู่ได้ ไม่ให้มันตาย เป็นปัจจัย ๔ ถ้ามันขาดปัจจัยสี่แล้วมันตาย ร่างกายอยู่ไม่ไหว
ต่อไป ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นปฏิปทาที่ทำให้ถึงทุกขนิโรธ เป็นทางทำให้ถึงนิพพาน ถึงความสิ้นตัณหา ข้อ ๔๐๒
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ

สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ

สัมมาวาจา เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูด ส่อเสียด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาวาจา

สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ

สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ

สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
๒. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ

สัมมาสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสติ

สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติ และสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
๓. เพราะปีติจางคลายไป มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญว่า “ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข”
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

นี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติ เป็นปฏิปทาที่ควรทำให้มีขึ้นในจิต เพียรฝึกให้มีขึ้นมาในจิต ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสังขาร เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดตามเหตุปัจจัย เกิดแล้วดับไป เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ควรทำให้เยอะขึ้น ทำเหตุปัจจัยให้เกิด ส่วนตัณหาเกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วดับไปเหมือนกัน ต้องเพียรเพื่อละมัน ขั้นแรกต้องรู้จักก่อน มีความรู้เกี่ยวกับอริยสัจ รู้อริยสัจ
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ตรวจดู สำหรับคนมีอินทรีย์แก่กล้า ก็ทรงประกาศอริยสัจไปเลย ผู้ฟังมีจิตตั้งมั่นดี พิจารณาตามที่พระองค์ทรงแสดง ก็ได้รู้แจ้งเห็นจริงตามนั้น ได้บรรลุธรรมในขณะที่ฟังนั่นแหละ
อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นทางทำให้ถึงนิพพาน เป็นเหตุเหมือนกัน แต่เป็นเหตุให้ถึง ไม่ใช่เหตุให้เกิด ไม่เหมือนกับทุกขสมุทัย อันนั้นเป็นเหตุให้เกิด สิ่งที่เกิดจากเหตุคือทุกข์ อะไรที่ทำให้เกิดได้ล้วนเป็นทุกข์ ความสุขที่ทำให้เกิดขึ้นก็เป็นทุกข์ ความสงบที่ทำให้เกิดขึ้นก็เป็นทุกข์ สมุทัยเป็นเหตุให้เกิด ส่วนนิพพานนั้นไม่เกิดไม่ดับ ดำรงคงที่อยู่อย่างนั้น ไม่ต้องมีอะไรปรุงแต่ง ไม่เป็นไปตามอำนาจของเหตุปัจจัย อริยมรรคเป็นทางทำให้ถึงสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นเหตุให้ถึง ไม่ใช่เหตุสร้างนิพพาน เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน
เหตุและผลในอริยสัจจึงมีอยู่ ๒ คู่ เป็นคนละแบบกัน ทุกข์เป็นผล สมุทยเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล นิโรธคามินีปฏิปทาเป็นเหตุ แต่เป็นเหตุผลในลักษณะที่ต่างกัน
ทุกข์เป็นผลที่เกิดมาจากเหตุ ถูกเหตุปัจจัยแต่งมา จะไม่เป็นอย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะปัจจัยบีบบังคับให้เป็นอย่างนั้น จึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เนื่องจากเหตุปัจจัยมีมากและมีความแตกต่างกัน ผลที่เกิดจากเหตุก็เลยแตกต่างกัน ทุกข์ก็มีหน้าตาแตกต่างกันมากมายในโลก เพราะเหตุต่างกัน คนก็มีสูง ต่ำ ดำ ขาว ร่ำรวย ยากจน แตกต่างกัน ไม่ต้องพูดถึงสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปมากมาย เพราะเกิดจากกรรมที่แตกต่างกัน โลกนี้จึงเป็นที่ดูบุญบาปและผลแห่งบุญบาป ผลแตกต่างกัน เพราะมีเหตุที่แตกต่างกัน ทุกข์จึงไม่ได้มีอยู่ก่อน มีเมื่อเกิดขึ้น เหตุปัจจัยบีบให้เป็นอย่างนั้น เมื่อหมดเหตุก็ดับไป มีจึงเหมือนกับไม่มี แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะมีอยู่ มีแบบมีเงื่อนไข มีไม่นาน
ส่วนนิพพานนั้นเป็นผลที่มีอยู่แล้ว ดำรงคงที่อยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นความสงบระงับของสังขารทั้งปวง เป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่ใช่ผลที่เกิดจากเหตุ อริยมรรคเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้ถึงนิพพาน ไม่ได้ไปสร้างนิพพาน ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดนิพพาน แต่ทำให้ถึง เหมือนเราจะเดินทางไปเมืองๆ หนึ่ง เมืองนั้นมีอยู่แล้ว ทางไปเมืองนั้น ไม่ใช่เหตุให้เกิดเมือง เป็นเหตุให้ถึงเมือง
อริยมรรคนั้นมีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า สมฺมาทิฏฺฐิ ปุพฺพงฺคมา สัมมาทิฏฐิมาถึงก่อน นับก่อนเสมอ หมายความว่า องค์อื่นๆ จะนับรวมเข้าเป็นอริยมรรคได้ ก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิก่อน มีสัมมาทิฏฐิเข้ามากำกับก่อน เหมือนเราจะสร้างถนน ดิน หิน ทราย เหล็ก ใช้สร้างถนนได้ แต่จะทำให้เป็นถนน ต้องเอามาเทในบริเวณเขตที่จะทำถนน เราจะทำทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ก็ต้องวางเส้นทางไว้ว่า จะตัดถนนตรงนี้ๆ ขนาดกว้าง ๘ เมตรหรือกี่เมตรก็ว่าไป มีกรอบของถนนไว้ แล้วจึงเอาดิน เอาหิน เอาทรายมาเทลงในกรอบที่จะทำถนน ถ้าเอารถสิบแปดล้อขนหินมา แต่โน่น ไปเทที่หนองน้ำ หินนั้นก็ไม่ได้เอามาทำถนน
องค์อื่นๆ เช่น สัมมาสังกัปปะจะเป็นองค์มรรคได้ ต้องมีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า สัมมาทิฏฐิเข้ามากำกับ คนคิดดีๆ ก็มีเยอะ คิดออกจากโลก คิดเมตตา คิดกรุณา คนคิดอย่างนี้ก็มีมาก แต่เขาไม่ได้บรรลุธรรม ยังเป็นคนมีทุกข์มาก มีกิเลสมากอยู่อย่างเดิม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่รู้จักสัมมาสังกัปปะตามความเป็นจริง พอคิดดี ก็เป็นเขาดี เป็นความดีของเขา เอามาเป็นตนและของตน คนที่มีศีลดีๆ ก็มีเยอะ แต่เพี้ยนไปก็มาก เพราะไปยึดศีลว่าเป็นเราเป็นของเรา เราเป็นคนดี เป็นคนมีศีล พาลไปดูหม่ินหรือติเตียนผู้อื่นที่ไม่มีศีล อย่างนี้เป็นต้น นี้ก็เพราะไม่มีสัมมาทิฏฐิเข้ามานำหน้า คนมีสมาธิก็มีเยอะเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้บรรลุธรรม พากันยึดถือ เราสงบ ความสงบของเรา อยู่อย่างนั้น
อริยมรรคมีองค์ ๘ ถ้าย่อลงมา จะย่อมาเป็น ๓ คือ ปัญญา ศีล สมาธิ สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะ เป็นปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิ หรือย่อเป็น ๒ คือ วิปัสสนา สมถะ สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะ เป็นวิปัสสนา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นสมถะ หรือหากต้องการพูดให้เยอะๆ ครอบคลุมหมวดธรรมที่ทำให้เกิดปัญญา ตั้งแต่ฝึกหัด จนกระทั่งรวมกัน เกิดประกอบเข้าในจิต ก็เป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันนี้ก็เป็นสติปัฏฐานหมวดสุดท้าย
ตอนสรุปลงท้ายก็เหมือนเดิม คือ ที่มีสติตั้งมั่นขึ้นมาว่า ธรรมมีอยู่ ทุกข์มีอยู่ ทุกขสมุทัยมีอยู่ ทุกขนิโรธมีอยู่ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทามีอยู่ ก็เพื่อให้เกิดญาณปัญญา มีความรู้เพิ่มขึ้น เห็นชัดความจริงเพิ่มขึ้น และมีสติมั่นคงขึ้น จะได้ไม่อยู่ด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆ ในโลก สังขารสักอย่างหนึ่ง ที่จะเที่ยง ไม่เที่ยงทั้งหมด ไม่มี จึงไม่ควรยึดถือ สังขารสักอย่างที่จะเป็นสุขนั้น ไม่มี มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น จึงไม่ควรยึดถือ ธรรมะสักอย่างที่จะเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีเลย จึงไม่ควรยึดถือ ดังพระพุทธพจน์ว่า
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า “ธรรมมีอยู่” ก็เพียงเพื่ออาศัย เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิอยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ ในโลก
การสรุปลงท้ายอย่างนี้ ในมหาสติปัฏฐานสูตรมี ๒๑ ครั้ง จึงเป็นประเด็นสำคัญในการฝึกสติปัฏฐานทุกๆ หมวด ผลที่ต้องการจริงๆ คือตอนท้ายนี้ หากทำถูกต้อง ฝึกหมวดไหนก็ได้ผลเหมือนกัน ถึงนิพพานเหมือนกัน
ตอนท้ายพระสูตร พระพุทธองค์ทรงรับรองผลการปฏิบัติเอาไว้ หากปฏิบัติถูกต้องตรงตามที่ทรงแสดงไว้ ก็หวังผลได้ คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือหากยังมีกิเลสเหลืออยู่ ก็จะเป็นพระอนาคามี ในช่วงเวลาที่ต่างๆ กัน จาก ๗ ปีลดเวลาลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึง ๗ วัน ในข้อ ๔๐๔
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ ปี พึงหวัง ได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทาน เหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๗ ปีจงยกไว้บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ ปี พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๖ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ ปี พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๕ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๔ ปี พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๔ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ ปี พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๓ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ ปี พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๒ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ ปี พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ เดือน พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๗ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ เดือน พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๖ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ เดือน พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๕ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๔ เดือน พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๔ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ เดือน พึงหวังไดัผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๓ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ เดือน พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๒ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ เดือน พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอดครึ่งเดือน พึงหวังได้ผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
ภิกษุทั้งหลาย ครึ่งเดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ วัน พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมี อุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
ทั้งหมดที่ขยายความมา ก็เพื่อแสดงให้เห็นชัดถึงทางสายเอก ที่พระองค์ตั้งไว้เป็นหัวข้อในตอนต้นของพระสูตรที่ว่า ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ

๔. ปกิณณกสติปัฏฐาน
สติปัฏฐานมีอย่างเดียว คือการมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ฝึกหัดเพื่อละอภิชฌาและโทมนัสในโลก ให้จิตตั้งมั่น เป็นสมาธิ ทีนี้ พอแยกออกมาตามอารมณ์ ตัวเหตุที่จะทำให้สติปัญญาเจริญเติบโต แยกออกเป็น ๔ อย่าง รายละเอียดวิธีการปฏิบัติก็มีมากมาย ตกลงจะให้ทำอันไหน บางคนก็บีบคออาจารย์ อาจารย์บอกมาเลย จะให้ดิฉันทำอันไหน ดิฉันเชื่ออาจารย์ อันนี้มันบอกกันไม่ได้ ท่านฟังแล้ว ต้องลองหัดทำดู หัดฝึกหลายๆ วัน เพียรให้เต็มที่ แล้วสังเกตจิตของตนเอง ได้ผลจากการฝึกสติปัฏฐานไหม สติปัฏฐานฝึกเพื่อละความยินดียินร้ายในโลก ละนิวรณ์ได้ ถ้าฝึกแล้ว ทำถูกต้อง เหมาะสมกับเรา จะละนิวรณ์ได้ จิตจะปลอดโปร่ง ตั้งมั่น เป็นสมาธิ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ง่วงนอน ไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ ไม่ลังเลสงสัย ตอนฝึกแรกๆ ทุกคนก็ง่วงนอนหัวทิ่มทุกคนแหละ เป็นเรื่องปกติ ต้องทำความเพียรให้ต่อเนื่องกัน

๔.๑ วิธีเลือกกรรมฐาน
วิธีการเลือกกรมฐานนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้เหมือนกัน ท่านลองฟังดูในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สูทสูตร ข้อ ๓๗๔
ภิกษุทั้งหลาย พ่อครัวผู้เขลา ไม่ฉลาด ไม่เฉียบแหลม บำรุงพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยแกงชนิดต่างๆ คือ เปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง เผ็ดจัดบ้าง หวานจัดบ้าง เฝื่อนบ้าง ไม่เฝื่อนบ้าง เค็มบ้าง จืดบ้าง พ่อครัว ผู้เขลา ไม่ฉลาด ไม่เฉียบแหลมนั้นไม่สังเกตชนิดแห่งอาหารของตนว่า วันนี้ ท่านชอบข้าวและแกงชนิดนี้ของเรา หรือรับแกงชนิดนี้ ตักแกงชนิดนี้มาก หรือชมแกงชนิดนี้ วันนี้ ท่านชอบข้าวและแกงที่มีรสเปรี้ยวจัดของเรา หรือรับแกงที่มีรสเปรี้ยวจัด ตักแกงที่มีรสเปรี้ยวจัดมาก หรือชมแกงที่มีรสเปรี้ยวจัด วันนี้ แกงของเรามีรสขมจัด … มีรสเผ็ดจัด … มีรสหวานจัด … มีรสเฝื่อน … มีรสไม่เฝื่อน … มีรสเค็ม … วันนี้ ท่านชอบข้าวและแกงที่มีรสจืดของเรา หรือรับแกงที่มีรสจืด ตักแกงที่มีรสจืดมาก หรือชมแกงที่มีรสจืด พ่อครัวผู้เขลา ไม่ฉลาด ไม่เฉียบแหลมนั้น ย่อมไม่ได้เครื่องนุ่งห่ม ไม่ได้ค่าจ้าง ไม่ได้รางวัล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพ่อครัวนั้นเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่เฉียบแหลม ไม่สังเกตชนิดแห่งอาหารของตน แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เขลา ไม่ฉลาด ไม่เฉียบแหลม พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตไม่ตั้งมั่น ละความเศร้าหมองไม่ได้ เธอไม่กำหนดนิมิตนั้น พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย … พิจารณาเห็นจิตในจิต … พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ จิตไม่ตั้งมั่น ละความเศร้าหมองไม่ได้ เธอไม่กำหนดนิมิตนั้น ภิกษุนั้น ย่อมไม่ได้ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และไม่ได้สติสัมปชัญญะ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ไม่เฉียบแหลม ไม่กำหนดนิมิตแห่งจิตของตน
ภิกษุทั้งหลาย พ่อครัวผู้เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม บำรุงพระราชา หรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยแกงชนิดต่าง ๆ คือ เปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง เผ็ดจัดบ้าง หวานจัดบ้าง เฝื่อนบ้าง ไม่เฝื่อนบ้าง เค็มบ้าง จืดบ้าง พ่อครัวผู้เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมนั้นสังเกตชนิดแห่งอาหารของตนว่า วันนี้ ท่านชอบข้าวและแกงชนิดนี้ของเรา หรือรับแกงชนิดนี้ ตักแกงชนิดนี้มาก หรือชมแกงชนิดนี้ วันนี้ ท่านชอบข้าวและแกงที่มีรสเปรี้ยวจัดของเรา หรือรับแกงที่มีรสเปรี้ยวจัด ตักแกงที่มีรสเปรี้ยวจัดมาก หรือชมแกงที่มีรสเปรี้ยวจัด วันนี้ แกงของเรามีรสขมจัด … มีรสเผ็ดจัด … มีรสหวานจัด … มีรสเฝื่อน … มีรสไม่เฝื่อน … มีรสเค็ม … วันนี้ ท่านชอบข้าวและแกงที่มีรสจืดของเรา หรือรับแกงที่มีรสจืด ตักแกงที่มีรสจืดมาก หรือชมแกงที่มีรสจืด พ่อครัวผู้เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมนั้นย่อมได้เครื่องนุ่งห่ม ได้ค่าจ้าง ได้รางวัล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพ่อครัวนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม สังเกตชนิดแห่งอาหารของตน แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น ละความเศร้าหมองได้ เธอย่อมกำหนดนิมิตนั้นได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย … พิจารณาเห็นจิตในจิต … พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น ละความเศร้าหมองได้ เธอย่อมกำหนดนิมิตนั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม ย่อมได้ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และได้สติสัมปชัญญะ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม กำหนดนิมิตแห่งจิตของตน
สูทสูตรที่ ๘ จบ

พระสูตรนี้อุปมาพ่อครัว พ่อครัวทำอาหารถวายพระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชา ทำอาหารให้ผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อครัวนี้ เป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่สังเกตดูว่า พระราชาทรงโปรดอาหารชนิดไหน อำมาตย์หรือเจ้านายชอบอาหารชนิดไหน ตักอาหารไหนมาก ไม่คอยสังเกตดู ถ้าเป็นพ่อครัวที่ฉลาด ก็ต้องสังเกตว่า ท่านหยิบอันนี้มาก ท่านชมอันนี้มาก คนนี้ไม่สังเกต ทำแล้วก็แล้วไป ก็ไม่ได้เป็นคนโปรดปราน ไม่ได้รับเงินทอง ไม่ได้รับตำแหน่งเพิ่มเติม เหมือนกับภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่ฉลาด ตามดูกายในกาย นั่งดูลมหายใจเข้า ดูลมหายใจออก เดินจงกรมกลับไปกลับมา ทำอย่างคนอื่นเขาเหมือนกัน บางทีฝึกดูสิ่งไม่สวยงามในร่างกายนี้ ประกอบด้วย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดูเวทนา ดูจิต แต่ไม่ได้สังเกตจิตตนเอง ไม่ได้พิจารณาดูจิตว่า มีความตั้งมั่นหรือไม่ ละความยินดียินร้าย ละความเศร้าหมองได้หรือไม่ จิตสะอาด ปลอดโปร่ง เบา สบายหรือไม่ ไม่ได้สังเกตดู ไม่กำหนดอาการนั้นให้ดี ไม่ได้แก้ไข กรรมฐานหรือวิธีการในการปฏิบัติ ทำให้ไม่ได้ความสุขในปัจจุบันและไม่ได้สติสัมปชัญญะ
เวลาปฏิบัติสติปัฏฐาน เช่น ดูกายในกาย ต้องสังเกตว่า จิตตั้งมั่นดีไหม อุปกิเลส และนิวรณ์ต่างๆ ลดไหม ความยินดียินร้ายลดไหม ความง่วงนอน ความหดหู่เซื่องซึมลดลงไหม ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัยหมดไปไหม อย่างนี้ต้องสังเกต ถ้าไม่สังเกตให้ดี ไม่ใส่ใจ สักแต่ว่าทำไปเรื่อย ง่วงนอน งััวเงีย ฟุ้งซ่าน อยู่อย่างนั้น วันต่อมา หลับอีก วันต่อมาอีก ก็เหมือนเดิม เดินจงกรม ก็สักแต่ว่าเดิน เดินไป หลับๆ ง่วงๆ ฟุ้งซ่านอย่างโน้นอย่างนี้เหมือนเดิม ถึงเวลาเดิน ก็เดิน แต่ก็เป็นอย่างเดิมตลอด คนอย่างนี้ ตามดูกายในกาย ตามดูเวทนาในเวทนา ตามดูจิตในจิต ตามดูธรรมในธรรม ก็ไม่ได้ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน จิตก็ไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ และไม่ได้สติสัมปชัญญะ
ผู้ปฏิบัติต้องคอยสังเกต ทำกรรมฐานไหน ทำวิธีไหน ทำให้จิตตั้งมั่นดี ละอุปกิเลสได้ ละนิวรณ์ได้ ให้ทำอย่างนั้นมากๆ พวกเราต้องทำแบบฉลาด วิธีการมีหลายอย่าง บางคนบอกว่าอาจารย์บอกมาเลย จะให้ผมทำอะไร บอกมาเลย บอกได้ แต่ไม่รู้จะได้ผลหรือเปล่า แต่ละคนไม่เหมือนกัน บอกให้ไปนั่งดูลมหายใจเข้าลมหายใจออก เป็นกรรมฐานชั้นยอด ท่านไปปฏิบัติ นั่งดูทีไร ง่วงนอนหลับทุกที ฟุ้งซ่านทุกที อย่างนี้ทำไปตั้งนาน ก็ไม่เกิดผล จิตไม่ตั้งมั่น ละอุปกิเลสไม่ได้ อาจเป็นเพราะกรรมฐานไม่เหมาะ หรือเราไปทำแบบโง่ๆ ทำแบบไม่ฉลาด ต้องเปลี่ยนกรรมฐาน หรือเปลี่ยนเทคนิควิธี
เปรียบเหมือนพ่อครัว ผู้มีปัญญา ฉลาด เฉียบแหลม เขาทำอาหารชนิดต่างๆ รสเค็ม รสเปรี้ยว รสเผ็ด อะไรก็ว่าไป ถวายแล้ว ก็สังเกตพระราชา ท่านชมอาหารชนิดไหน ท่านชมอันนี้ สังเกตดู โอ.. ท่านหยิบอันนี้เยอะ ต่อไปก็ทำอาหารอย่างนี้ให้มาก คนที่ฉลาดคอยสังเกต คอยสำรวจอาการ ต่อไปก็จะเป็นพ่อครัวคนโปรดของพระราชา ได้รับบำเหน็จรางวัลต่างๆ ต้องสังเกต อยากให้เจ้านายพอใจต้องสังเกตดู เจ้านายชอบอะไร แล้วก็ทำให้เหมาะสม ไม่ทำแบบเหนื่อยฟรี เสียกำลังทิ้งเปล่าๆ เราทำไปตามใจตัวเอง แต่ท่านไม่ชอบ ไม่ดู ไม่สังเกต อย่างนี้ก็เหนื่อยเปล่า
ผู้ปฏิบัติก็ต้องสังเกตจิตของตนดีๆ สังเกตอาการในตอนปฏิบัติ ถ้าทำความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ตามดูกายในกาย จิตตั้งมั่นดี ละอุปกิเลสได้ ให้สังเกต ใส่ใจอาการตรงนี้ให้ดีๆ ไม่ทำแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ฝึกจิต ก็ต้องดูแลจิต สังเกตจิต อันไหนมันเป็นไปเพื่อความเจริญก้าวหน้า งอกงาม ทำแล้วมีความสุข ได้สติสัมปชัญญะ ดูเวทนาในเวทนา ดูจิตในจิต ดูธรรมในธรรม ก็ต้องสังเกตจิต เวลาใดควรทำเรื่องใดมาก ทำอย่างไร เพื่อให้มีความสุข ความสงบเกิดขึ้น ทำอย่างไร สติสัมปชัญญะเกิดดี เกิดได้ต่อเนื่อง ทำอย่างไรเกิดสมาธิ ทำอย่างไรเกิดปัญญา อันนี้ต้องใช้วิธีการสังเกตจิต ศึกษาจิต
ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ต้องเป็นผู้ฉลาดในจิต มองดูจิตของตนอยู่เสมอ สังเกตว่าจิตเป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้นมาไหม ละความยินดี ละความยินร้าย ละความหดหู่ท้อแท้ ละความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้บ้างไหม จิตมันตั้งมั่นดีไหม รับรู้แล้วเคยหวั่นไหว หวั่นไหวน้อยลงไหม เรื่องที่เคยยินดีก็ไม่ยินดี เคยยินร้ายก็ไม่ยินร้าย ฟังเรื่องต่างๆ จิตก็ฟุ้งไปตามเรื่อง เขาพูดเมืองจีนก็ไปเมืองจีนกับเขา เขาพูดเรื่องอเมริกาก็ไปอเมริกากับเขา เขาพูดเรื่องไหนก็ไปกับเขาหมด ฟุ้งตามไป จิตแตกซ่านกระจายไปหมด อย่างนี้แสดงว่ากรรมฐานที่เราทำมา ยังไม่ได้เรื่อง จิตยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่พร้อมสำหรับเกิดปัญญา
บางคนทำไป ไม่สังเกตจิต ทำแต่อันที่สบาย ทำแต่อันที่ชอบ ทำแต่อันที่มันสบาย อาจารย์ ดิฉันเป็นพวกสุขาปฏิปทา ปฏิบัติสบายๆ ดูๆ ไป ทำๆ ไป สบายๆ แต่กิเลสเพียบ มีแต่หลงลืม ขาดสติ ง่วงเหงา ท้อแท้ มีเรื่องอะไรมา จิตฟุ้งซ่านตลอด อย่างนี้ก็ไม่ได้เรื่อง เราต้องดูตัวเอง ไม่มีอันไหนดีกว่าอันไหนหรอก อันไหนที่ทำแล้ว ทำให้จิตตั้งมั่น มีสมาธิ ละอุปกิเลส ละนิวรณ์ได้ จิตสะอาด ปลอดโปร่ง ได้สุขในปัจจุบัน และได้สติสัมปชัญญะ อันนี้แหละดีสำหรับเรา ให้เลือกทำตามความเหมาะสม แล้วก็อาศัยฝึกสมถะวิปัสสนาต่อไป

๔.๒ สู้แบบฉลาด
การฝึกให้มีสติปัฏฐาน ฝึกให้จิตมาอยู่กับตัวเองนี้ เป็นวิธีการหรือเทคนิคหลบเลี่ยงอันตรายที่น่าสนใจมาก เทคนิคการต่อสู้กับผู้มีกำลัง กิเลสนี่ถ้าโตเต็มที่แล้วมันมีกำลังมาก เราสู้มันตรงๆ ไม่ได้ ต้องใช้วิธีสู้แบบละมุนละม่อม สู้แบบฉลาดๆ แบบหลบเลี่ยงเอา จะบอกว่าสู้แบบต่อหน้าต่อตา ฟันต่อฟัน อย่างนี้ บางทีกิเลสมันฟันเราข้างเดียว ต้องใช้วิธีเทคนิคแบบคนฉลาด รู้จักสมรภูมิที่ได้เปรียบและรู้จักวิธีในการหลบ จะอ่านพระสูตรให้ฟัง เรื่องเกี่ยวกับนกมูลไถ ข้อ ๓๗๒
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เหยี่ยวโฉบลงจับนกมูลไถอย่างรวดเร็ว ขณะนั้น นกมูลไถกำลังถูกเหยี่ยวพาไป ได้ร้องคร่ำครวญอย่างนี้ว่า เราอับโชคมีบุญน้อย เที่ยวไปในแดนอื่นซึ่งไม่ใช่ที่หากิน ถ้าในวันนี้เราเที่ยวหากินในแดนหากินที่เป็นของบิดาของตนไซร้ เราก็อาจสู้เหยี่ยวตัวนี้ได้
เหยี่ยวจึงถามว่า เจ้านกมูลไถ แดนหากินที่เป็นของบิดาของเจ้าคืออะไร
นกมูลไถตอบว่า คือถิ่นที่เป็นดินก้อนมูลไถที่เขาไถไว้
ขณะนั้นเหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน เมื่อจะอวดอ้างกำลังของตน จึงปล่อยนกมูลไถไปด้วยพูดว่า ไปเถิด เจ้านกมูลไถ ถึงเจ้าจะไปในที่นั้นก็ไม่พ้นเรา
ทีนั้น นกมูลไถจึงไปยังถิ่นที่เป็นดินก้อนมูลไถที่เขาไถไว้ จับที่ก้อนใหญ่ ยืนร้องท้าเหยี่ยวว่า เจ้าเหยี่ยว เจ้าจงมาจับเราเดี๋ยวนี้ เจ้าเหยี่ยว เจ้าจงมาจับเราเดี๋ยวนี้ ขณะนั้น เหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน เมื่อจะอวดอ้างกำลังของตน จึงหุบปีกทั้ง ๒ ลงโฉบนกมูลไถอย่างรวดเร็ว เมื่อนกมูลไถรู้ว่า เหยี่ยวตัวนี้โฉบมาอย่างรวดเร็วหมายจะจับเรา จึงหลบเข้าซอกก้อนดินนั้นเอง เหยี่ยวทำให้อกกระแทกมูลไถ (ตาย) ในที่นั้นเอง เรื่องนกมูลไถเที่ยวไปในแดนอื่นซึ่งไม่ใช่ที่หากินก็เป็นเช่นนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในแดนอื่นที่เป็นอโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนอื่นที่เป็นอโคจร มารก็จักได้ช่อง ได้อารมณ์
แดนอื่นที่เป็นอโคจรของภิกษุ เป็นอย่างไร
คือ กามคุณ ๕ ประการ
กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู …
๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก …
๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น …
๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
ภิกษุทั้งหลาย นี้คือแดนอื่นที่เป็นอโคจรของภิกษุ
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในแดนที่เป็นของบิดาของตนอันเป็นโคจรเถิด เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนที่เป็นของบิดาของตนอันเป็นโคจร มารก็จักไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์
แดนที่เป็นของบิดาของตนอันเป็นโคจรของภิกษุ เป็นอย่างไร
คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย …
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิต …
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้คือแดนที่เป็นของบิดาของตนอันเป็นโคจรของภิกษุ
สกุณัคฆิสูตรที่ ๖ จบ

นี้ก็เป็นการต่อสู้ สู้แบบชาญฉลาด รู้จักสมรภูมิ และรู้จักวิธีหลบเลี่ยง ทำให้ตัวเองไม่เป็นอันตราย ปลอดภัยจากข้าศึก อุปมาว่า เหยี่ยวจับนกมูลไถ นกขี้ไถตัวเล็ก นกขี้ไถก็คร่ำครวญว่าเรานี้อับโชค เป็นคนมีบุญน้อย หลงเที่ยวไปในถิ่นของคนอื่น ถ้าวันนี้เราเที่ยวไปในถิ่นของตนเอง เรานี้สามารถสู้เหยี่ยวได้ ถ้าอยู่ในถิ่นบิดาตนเอง สามารถสู้เหยี่ยวได้ ต้องสู้แบบมีเทคนิค ไม่ได้สู้แบบตรงๆ สู้ตรงๆ ไม่ได้ เหยี่ยวเก่งกว่า ตัวใหญ่กว่า กำลังมากกว่า กิเลสก็เหมือนกัน ถ้าเราไปสู้มันตรงๆ เราตายอย่างเดียว อย่าไปสู้กับมันตรงๆ ไม่ไหวหรอก จะไปฆ่ากัน จับดาบมาฟันกันตรงๆ นี่ไม่ได้ ต้องหาสมรภูมิ แล้วสู้แบบฉลาดๆ ก้อนขี้ไถ เป็นบ้านของนกมูลไถ นกวิ่งอยู่แถวๆ นั้น สบายอยู่แล้ว เป็นถ่ินของมัน มันชำนาญทาง เหยี่ยวเข้าไปไม่ได้อยู่แล้ว เหยี่ยวตัวใหญ่ เข้ารูก้อนขี้ไถไม่ได้ ทำนองนี้
อารมณ์ต่างๆ ภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าพอใจ ถ้าส่งจิตไปสนใจอารมณ์ภายนอก ปล่อยจิตไปอย่างนั้น ไม่ตามรักษาจิตให้ดีๆ จะไปสู้กิเลสไม่ได้ มีแต่จะถูกกิเลสครอบงำ ทำตามกิเลสไป ตายอย่างเดียว ต้องกลับมาที่บ้านของตนเอง บ้านบิดาตน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม สู้กับกิเลสโดยการอยู่ข้างใน ไม่ต้องสนใจ รูป เสียง กลิ่น รสสัมผัส มองเห็นแล้ว มันสวยงาม รู้สึกพอใจ ให้กลับมาอยู่ที่ตัวเอง อยู่กับตัวเองไว้ ฟังเสียงเพราะๆ ก็ให้รู้สึกตัว กลับมาที่ตัว อย่าไปสนใจว่า คนร้องชื่อโน้นชื่อนี้ ให้กลับมาพิจารณาที่ตัวเอง มาที่ดินแดนของตน กาย เวทนา จิต ธรรม มีเรื่องราวอะไรข้างนอก กลับมาที่ตัวเองก่อน เหมือนกับนกมูลไถสู้กับเหยี่ยว โดยกลับมาที่ก้อนขี้ไถ พออยู่ในสมรภูมิเหมาะสม เหยี่ยวตัวใหญ่มากแต่สู้ได้ มันท้าเหยี่ยวด้วย ไปยืนบนก้อนหินแล้วบอกว่าเหยี่ยวมาเลย
เราจะสู้กับความโกรธ ความโลภ ความริษยาอะไรต่างๆ พวกนี้ สู้ตรงๆ ไม่ได้ พอมีความโลภ โกรธ หลง มีกิเลสต่างๆ เกิดขึ้น ให้รู้ตัว ต้องกลับมาที่ตัว ให้จิตกลับมาที่ตัว อย่าปล่อยตามกิเลสไป ถ้าสู้แบบตรงๆ เราตายตลอด สู้ไม่ได้
เราต้องหัดก่อน ฝึกเอาไว้ ซ้อมไว้อยู่เสมอ กลับมาอยู่ที่ตัวเอง อยู่บ้านตัวเอง มีเรื่องอะไร พอสู้ได้ ไม่ได้ไปสู้ตรงๆ สู้โดยมีเทคนิค มีความฉลาด สำหรับการเจริญวิปัสสนา ก็ต้องฉลาดเช่นเดียวกัน มีปัญญาบ้างแล้ว จะไปตัดกิเลสกิเลสให้ขาด บางทีก็ทำไม่ได้ กิเลสยังมีกำลังเยอะอยู่ ราคะ โทสะ โมหะ เต็มที่ ความเห็นผิดเต็มที่ มันตัดไม่ขาด ต้องค่อยๆ ขัดมัน ให้เหลือน้อยๆ แล้วค่อยตัด ค่อยๆ ถากให้เหลือบางๆ แล้วตัด ก็พอจะขาดได้
หากมันยึดมาก ต้องทำให้มันยึดน้อยลงก่อน แล้วค่อยโยนทิ้ง ท่านอุปมาเราจับได้งูพิษ ไปหาปลา นึกว่าเป็นปลา จับขึ้นมา ที่ไหนได้เป็นงูพิษ จับคอมัน มันรัดแขนเรา จะโยนทิ้ง มันก็รัดแน่นอยู่ ต้องทำลายกำลังมันก่อน หมุนๆ ให้งูตาลาย พอมันคลาย มันรัดไม่แน่น ค่อยโยนมันทิ้งไป นี่จะทำอะไรต้องฉลาดๆ ฝึกสติ ทำสมถะ ทำวิปัสสนา จะละกิเลส ต้องฉลาด ต้องเข้าใจวิธีดีๆ

๔.๓ กองกุศล
อีกพระสูตรหนึ่ง กล่าวถึงสติปัฏฐานนั้นเป็นกองของกุศล กุศลมีหลายอย่าง ศีล สมาธิ ปัญญา สมถะ วิปัสสนา ถ้าเข้าใจสติปัฏฐาน ทำสติปัฏฐานเป็นแล้ว จะทำให้ได้ทุกอย่าง ได้ศีลที่ดีก็เพราะมีสติสัมปชัญญะ ได้สมาธิ ได้ปัญญา เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับกองอกุศล คือ นิวรณ์ ในอกุศลราสิสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๓๗๑ มีว่า
เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรื่องนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงกองอกุศล จะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ ประการ เพราะกองอกุศลทั้งสิ้นนี้ ก็คือนิวรณ์ ๕ ประการ
นิวรณ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามฉันทนิวรณ์
๒. พยาบาทนิวรณ์
๓. ถีนมิทธนิวรณ์
๔. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์
๕. วิจิกิจฉานิวรณ์
บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงกองอกุศล จะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ ประการนี้ เพราะกองอกุศลทั้งสิ้นนี้ก็คือนิวรณ์ ๕ ประการ
บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงกองกุศล จะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้ เพราะกองกุศลทั้งสิ้นนี้ก็คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย …
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิต …
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงกองกุศล จะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้ เพราะกองกุศลทั้งสิ้นนี้ก็คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ
อกุสลราสิสูตรที่ ๕ จบ
กองกุศล คือ กุศลหลายประการรวมกันอยู่ ประชุมกันอยู่ เป็นกลุ่มๆ ถ้าเป็นผู้ใช้ชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้ตัวอยู่เสมอ จะทำให้กุศลต่างๆ รวมลง เป็นกองกุศลมีขึ้น เกิดขึ้นในจิตนี้ มีสติ คอยรักษาจิต สำรวมระวังกายวาจา เห็นโทษของทุจริต งดเว้นสิ่งที่ไม่ดี ศีลก็จะดีขึ้น มีสติรู้เท่าทันจิตใจ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ยึดติดในนิมิตและอนุพยัญชนะ ละความยินดี ยินร้ายได้ จิตมีความตั้งมั่น เป็นสมาธิ ได้สมาธิก็เป็นสุขในปัจจุบัน ทำให้แนบแน่นเพิ่มขึ้นก็ได้ เป็นการทำสมถะ เอามาใช้เจริญวิปัสสนา มองให้เห็นความจริง ได้คุณวิเศษต่างๆ จนกระทั่งถึงการบรรลุธรรมไป จึงว่า สติปัฏฐาน นี้เป็นกองของกุศล

๔.๔ สิ่งที่ควรแนะนำกัน
ถ้าพูดถึงเรื่องที่ควรชักชวนกัน ก็ควรชักชวนให้มาเจริญสติปัฏฐาน ๔ ในข้อ ๔๑๔ พระพุทธองค์ตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนเหล่าใด และคนเหล่าใดจะเป็นมิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิตก็ตามให้ความสำคัญคำที่ควรรับฟัง เธอทั้งหลายพึงชักชวนคนเหล่านั้นให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย …
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิต …
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนเหล่าใด และคนเหล่าใดจะเป็นมิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิตก็ตามให้ความสำคัญคำที่ควรรับฟัง เธอทั้งหลายพึงชักชวนคนเหล่านั้นให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้
มิตตสูตรที่ ๘ จบ

คนที่แนะนำได้ ชักชวนได้ บอกกันให้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เป็นคนงาน เป็นญาติพี่น้อง ก็ให้แนะนำมาเจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้ตั้งมั่นในการมีสติอยู่กับตัวเอง แนะนำให้เขาดูตัวเอง มองตัวเอง อย่าไปมองชาวบ้าน ได้เท่าไหนไม่ว่ากัน ชักชวนกันในเรื่องนี้ ให้มาตั้งมั่นอยู่ในเรื่องนี้ คำว่า ตั้งมั่น คือ ให้เลือกทำเรื่องนี้เป็นหลัก อย่าไปทำเรื่องอื่นเป็นหลัก เรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องรอง เป็นเรื่องหาปัจจัยมาเลี้ยงชีพ ส่วนการมีสติ ฝึกตนเองเป็นเรื่องหลัก เรื่องสติปัฏฐานนั้น ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้ว ปฏิบัติเป็นก็ไม่ได้เสียเวลา หรือไปกีดกันทางโลก มันไม่เกี่ยว ถ้าทำเป็นแล้ว ก็ปฏิบัติอยู่กับชีวิตธรรมดา นี้กรณีทำเป็นแล้ว
ถ้ายังทำไม่เป็น ยังไม่เข้าใจก็ต้องมีเวลามาฟัง แค่มาฟังให้เข้าใจก็ต้องอาศัยเวลา ทำไม่เป็นต้องมีเวลา ให้เวลากับการฟัง ฟังบ่อยๆ ให้เข้าใจ พอเข้าใจแล้วก็ต้องหัดปฏิบัติ ตอนหัดก็ต้องมีเวลาอีกเหมือนกัน ต้องมีเวลามาหัด อาจจะวันละชั่วโมง ครึ่งชั่วโมง อะไรก็ตาม ต้องมีเวลา คนทำไม่เป็น ต้องมีเวลามาหัด พอทำเป็นแล้ว มีความรู้ตัว มีสติ ตามดูกายและใจได้ ก็ไม่มีเรื่องเบียดบังเวลา มีแต่จะช่วยทำให้ทำงานได้ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น

๔.๕ ความรู้ ๓ ประเด็นเกี่ยวกับสติปัฏฐาน
อีกพระสูตรหนึ่ง แสดงรายละเอียดสามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสติปัฏฐานว่าเป็นอย่างไร (๑) สติปัฏฐาน (๒) การเจริญสติปัฏฐาน (๓) ปฏิปทาอันให้ถึงการเจริญสติปัฏฐาน ในวิภังคสูตร ข้อ ๔๐๖
ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสติปัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐานและปฏิปทาที่ให้ถึงการเจริญสติปัฏฐานแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
สติปัฏฐาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย …
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิต …
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
นี้เรียกว่า สติปัฏฐาน

การเจริญสติปัฏฐาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ พิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม เป็นเหตุดับในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในเวทนาทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่ …
๓. พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในจิต …
๔. พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
นี้เรียกว่า การเจริญสติปัฏฐาน

ปฏิปทาที่ให้ถึงการเจริญสติปัฏฐาน เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่ให้ถึงการเจริญสติปัฏฐาน
วิภังคสูตรที่ ๑๐ จบ

ตัวสติปัฏฐานเป็นอย่างหนึ่ง คือ การมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ตามดูกาย ตามดูเวทนา ตามดูจิต ตามดูธรรม นี้เป็นตัวสติปัฏฐาน เราฝึกให้มีสติปัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะ มีความตั้งมั่น จิตมีความตั้งมั่น ละนิวรณ์ได้ ต่อมาก็เจริญสติปัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐานทำอย่างไร ให้เห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดและดับ เห็นธรรมในแง่ปฏิจจสมุปบาท แต่เดิมไม่มี มีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ก็ให้เห็นเหตุที่ทำให้เกิด จะได้รู้จักสังขารที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากเหตุปัจจัย และมันจะดับไปก็เพราะเหตุปัจจัยมันดับไป ขั้นต้นเป็นเรื่องฝึกสติสัมปชัญญะ ต่อมาก็เอามาใช้ต่อ ให้มีปัญญาเห็นธรรมะ ปฏิปทาที่ทำให้ถึงการเจริญสติปัฏฐาน สิ่งที่ทำให้สติปัฏฐานสมบูรณ์เต็มที่ ต้องมีองค์ประกอบให้ครบถ้วน ไม่ใช่เอาแต่เรื่องสติอย่างเดียว ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ จึงทำให้สติปัฏฐานสมบูรณ์ได้ คืออะไรบ้าง คืออริยมรรคมีองค์ ๘
วันนี้ บรรยายจบเรื่องสติปัฏฐาน ๔ อย่างย่อๆ พอเป็นแนวทางในการนำไปศึกษาต่อไป สมควรแก่เวลาแล้วนะครับ อนุโมทนาทุกท่าน
________________________